22 มิถุนายน 2564

ปริศนาแห่งเบโธเฟน ตอนที่สอง renal papillary necrosis

 ปริศนาแห่งเบโธเฟน ตอนที่สอง

กลับมาที่เบโธเฟนต่อ ...

คุณหมอเฟร-ดรายช์ ได้รวบรวมการผ่าศพและให้คำอธิบายการพบ 'เมล็ดถั่ว' ว่าเกิดจากเนื้อตายจากการขาดเลือด (coagulative necrosis) และตรงบริเวณปลายสุดของหน่วยไตก่อนที่จะมารวมกันเป็นท่อไต ตามกายวิภาคแล้วตำแหน่งนี่ เป็นจุดสิ้นสุดของหลอดเลือด หลอดเลือดตรงนั้นมีแขนงไม่มาก มีการเชื่อมต่อระบบสำรองไม่มาก ทำให้เวลาขาดเลือดตรงนี้จึงตายก่อน

หลอดเลือดตรงนี้ชื่อว่า vasa recta ของไต และไม่ว่าเหตุใดที่ทำให้ไตขาดเลือด ก็เกิดเนื้อตายตรงนี้ได้ ตรงนี้มีชื่อเรียกทางกายวิภาคว่า renal papilla เราจึงเรียกลักษณะการตายจากการขาดเลือดตรงนี้ว่า renal papillary necrosis (RPN)

ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่คุณหมอเฟร-ดรายช์นำมาศึกษาจนค้นพบ RPN ในเวลานั้นคือผู้ป่วยที่มีท่อไตโตและไตโตบวม จากการอุดตันของระบบปัสสาวะ เกือบทั้งหมดมาจากต่อมลูกหมากโต ตอนนั้นเราก็เข้าใจว่า การอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ (obstructive uropathy) นี่แหละที่เป็นเหตุของการตายของเนื้อไต

เหตุอันเนื่องมาจากความดันย้อนกลับของท่อไตที่อุดกั้น ทำให้ไตขาดเลือดได้ง่าย แต่การชันสูตรศพเบโธเฟน ไม่พบลักษณะของการโป่งขยายของไตและท่อทางเดินปัสสาวะ มันเป็นเหตุให้เกิดจริงหรือ การค้นพบในปี 1877 ของคุณหมอเฟร-ดรายช์ อาจจะยังไม่เพียงพอกับการอธิบาย เมล็ดถั่วของเบโธเฟน

การศึกษาเรื่อง renal papillary necrosis ยังดำเนินต่อไป ...

ปี 1937 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเพียงสองปี แม้โลกจะถดถอยจากภาวะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ต้องบอกว่ายุคนั้นคือยุคแห่งการค้นพบวิชาแพทย์ ความรู้ใหม่ ๆ มากมาย ทั้งเครื่องช่วยหายใจ ทั้งอนามัยบุคคล และยาปฏิชีวนะ

ในปีนั้น Froboese และ Gunther (มีจุดสองตัวบนตัวยู) ได้ศึกษาเรื่อง RPN เหมือนกับเฟร-ดรายช์ และพบว่านอกเหนือจากการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะแล้ว

การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคเบาหวาน ก็พบมี RPN มากกว่าคนปกติหลายเท่า โดยอาจจะเกิดร่วมกัน เพราะสองโรคนี้มักจะมาพร้อมกัน หรือต่างฝ่ายต่างเกิดก็ได้ แน่นอนหมายความว่าไม่ใช่มีแต่ผู้ชายอีกแล้วที่จะมีภาวะ RPN..... ขอบเขตของโรคเริ่มกว้างขึ้น

กลับมาที่เบโธเฟนอีกครั้ง

และโปรดติดตามตอนต่อไป

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และข้อความพูดว่า "No 2 ปริศนาของเบโธเฟน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม