26 มิถุนายน 2564

วัคซีนโควิดชนิด mRNA กับการป้องกันการติดเชื้อโควิด

 มาเล่าให้ฟังเรื่อง วัคซีนโควิดชนิด mRNA กับการป้องกันการติดเชื้อโควิด

ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันโควิดทุกตัว มีเป้าหลักของการรักษาคือ 'ลดการติดเชื้อแบบมีอาการและการป่วยรุนแรง' ซึ่งทุกตัวผ่านเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก จะประสิทธิภาพมากน้อยก็ขึ้นกับรูปแบบงานวิจัย

ส่วนการลดการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ เป็นสิ่งที่วัดผลยากเพราะไม่มีอาการ ถ้าจะวัดผลต้องใช้การตรวจคัดกรองเป็นปริมาณมาก ข้อมูลการติดเชื้อแบบไม่มีอาการเราจึงยอมรับการศึกษาจากการเก็บข้อมูล ไม่ต้องทดลองควบคุม แต่ต้องเก็บในปริมาณมากพอ และต้องจัดการความแปรปรวนกับข้อมูลโน้มเอียง… ในวันนี้คือ การเก็บข้อมูลแบบชีวิตจริง (real world data)

หลายประเทศมีการเก็บข้อมูลหลังฉีดวัคซีนว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการได้มากน้อยเพียงใด ปัจจุบันพบว่า วัคซีนชนิด mRNA สามารถลดการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ด้วยประสิทธิภาพประมาณ 60-80% ยิ่งฉีดเป็นวงกว้างยิ่งลดการติดเชื้อได้ดี โดยประเทศที่วางแผนเก็บข้อมูลได้ดียังเป็นประเทศอิสราเอล เพราะวางแผนทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อนฉีดเข็มแรก เก็บข้อมูลครบเกือบทุกมิติ แต่ข้อมูลทั้งหมดจะมาจากวัคซีนเพียงตัวเดียวคือ BNT162b2 เท่านั้น

การเก็บข้อมูลเรื่องลดการติดเชื้อแบบไม่มีอาการในอิสราเอล พบว่าลดลงประมาณ 80-90% เทียบกับคนที่ยังไม่ได้ฉีด แต่การเก็บข้อมูลนี้ส่วนมากมาจากบุคคลทั่วไป และไม่นับบุคลากรทางการแพทย์เพราะบุคลากรกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าปรกติ

วันนี้เรามีการศึกษาเรื่องอัตราการติดเชื้อโควิดทั้งแบบมีอาการและแบบ 'ไม่มีอาการ' ในบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาล ทั้งที่เกี่ยวข้องกับคนไข้และไม่เกี่ยวข้องกับคนไข้ (เช่น การเงิน บัญชี บุคคล) เมื่อเทียบกันระหว่างฉีดวัคซีนกับยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ว่ามีความสัมพันธ์กันไหม จะลดหรือจะเพิ่มอย่างไร การศึกษานี้ทำที่เทลอาวีฟ อิสราเอล อีกเช่นเคย ลงตีพิมพ์ในวารสาร JAMA วันพุธที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา (ใครสนใจไปหาอ่านได้ฟรีนะครับ)

เป็นการศึกษาแบบเก็บข้อมูลย้อนหลัง โดยอาศัยเครือข่าย data ที่แข็งแกร่งของสาธารณสุขอิสราเอล แน่นอนว่าจะต้องฟังหูไว้หู เพราะเก็บข้อมูลย้อนหลัง อาจจะมีความโน้มเอียงไม่เป็นกลางเวลาแบ่งกลุ่ม หรือมีปัจจัยใดมาปนเปื้อนข้อมูลจนผิดเพื้ยนได้ แม้ผู้วิจัยจะบอกว่า ได้ใช้วิธีต่าง ๆ ทางสถิติมาช่วยเกลี่ย มาช่วยปิดจุดบอดตรงนี้ก็ตามที

ได้คนมาวิเคราะห์ 6710 คน แบ่งเป็นได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม 5053 คน และยังไม่ได้รับวัคซีน 757 คน โดยติดตามไปจนถึงวันที่ 28 หลังจากเริ่มเก็บข้อมูล (ก็มีคนที่ได้รับวัคซีนล่าช้า เลื่อน ได้สองเข็มปะปนกัน) โดยคนที่เข้าศึกษาจะมีการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแยงจมูก PCR ทุกคนตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีอาการก็ตาม เพื่อตรวจหาการติดเชื้อแบบไม่มีอาการด้วยนั่นเอง ผลออกมาว่า

ถ้าวัดผลการติดเชื้อแบบมีอาการ กลุ่มรับวัคซีนติดเชื้อ 19.4 ต่อแสนวันประชากร ส่วนกลุ่มยังไม่ได้วัคซีนติดเชื้อ 186.1 ต่อแสนวันประชากร (หน่วย person-year เป็นหน่วยใช้ติดตามอุบัติการณ์การเกิดโรค) ประสิทธิภาพลดการเจ็บป่วยแบบไม่มีอาการเมื่อรับวัคซีนครบสองเข็มที่ 97% ใกล้เคียงการศึกษาทดลอง ใกล้เคียงการเก็บข้อมูล prospective (เก็บไปข้างหน้า ไม่ใข่เก็บย้อนหลังแบบนี้)

ถ้าวัดผลกาติดเชื้อแบบ 'ไม่มีอาการ' (การติดเชื้อแบบไม่มีอาการพบ 38% ของการติดเชื้อทั้งหมด) กลุ่มรับวัคซีนติดเชื้อ 19.1 ต่อแสนวันประชากร กลุ่มยังไม่ได้วัคซีนติดเชื้อ 67.9 ต่อแสนวันประชากร ประสิทธิภาพลดการติดเชื้อแบบไม่มีอาการเมื่อฉีดครบสองเข็ม อยู่ที่ 84% ก็เท่า ๆ กับการเก็บข้อมูลไปข้างหน้า

อย่างที่บอกว่า การเก็บข้อมูลย้อนหลังจะมีตัวแปรปรวน ความโน้มเอียงสูง ทางผู้วิจัยได้พยายามเกลี่ยตัวแปรทั้งหลาย ไม่ว่าปรับเรื่องเพศ อายุ ความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน ออกมาให้เป็นตัวที่เทียบกันได้ ผลปรากฏว่า ทุกตัวแปรเมื่อนำมาปรับมาคิด ผลก็ไปทางเดียวกันกับผลวิจัยหลัก

สรุปว่าอะไร … สรุปว่าสำหรับวัคซีน mRNA ตัวที่ชื่อ BNT162b2 โดยบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเท็ค มีประสิทธิภาพจริงในการลดการติดเชื้อโควิดทั้งแบบมีอาการและไม่มีอาการ ไม่ว่าจะบุคคลทั่วไปหรือบุคลากรทางการแพทย์ โดยพิสูจน์จากการทดลอง การเก็บข้อมูลไปข้างหน้าและการเก็บข้อมูลย้อนหลัง

แต่จะนำข้อมูลไปเทียบกับวัคซีน mRNA ตัวอื่นหรือวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ หรือวัคซีนเชื้อตายใด ๆ มาเทียบกันตรง ๆ ไม่ได้นะครับ (อย่าลืมการศึกษาเทียบได้รับวัคซีนกับยังไม่ได้รับวัคซีน) หากอยากเทียบแบบนั้นต้องใช้ศิลปะและการสังเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ได้วัดผลกันตรง ๆ ตามกรรมวิธีการวิจัยครับ

เยอรมันชนะอังกฤษแน่นอน ฟันธง ขาดลอย 3-1 …. ผมรู้แฟนสิงโตคำรามในนี้เยอะมาก หึหึ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับแฟนบอลอังกฤษนะครับ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และข้อความพูดว่า "adidas 0"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม