24 มิถุนายน 2564

ปริศนาแห่งเบโธเฟน ตอนที่ 6 โลกปัจจุบัน

 ปริศนาแห่งเบโธเฟน ตอนที่ 6 โลกปัจจุบัน

คุณหมอ Bela Tallai ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ (ใช่แล้ว สาขาเดียวกับคุณหมอ saligahappymen ราชากล้วยไข่ผู้โด่งดังในโลกออนไลน์) ได้รายงานกรณีผู้ป่วยนี้ในวารสาร Case Reports in Urology ปี 2021 นี่เองครับ

คุณหมอได้รับการปรึกษากรณีผู้ป่วยชายอายุ 49 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน มาตรวจที่โรงพยาบาลเนื่องจากปัสสาวะไม่ออก ปวดท้องปวดเอวและปัสสาวะปนเลือด ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลอื่น ก่อนจะส่งตัวมาที่โรงพยาบาลกรุงโดฮา

แฟนเพจอายุรศาสตร์ง่ายนิดเดียวทุกคนคงฟันธง เป็น RPN แน่นอน หลังจากที่ลุงหมอหลอกให้อ่านประวัติศาสตร์สงครามและปริศนาแห่งเบโธเฟนมากว่า 5 ตอน มันจะมีอะไรผิดไปจากนี้ได้รึ เรามาอ่านกันต่อไป

ที่โรงพยาบาลต้นทาง ตรวจเบื้องต้นพบผู้ป่วยซีด น่าจะเป็นหลักฐานสนับสนุนเรื่องเลือดออกที่เยอะพอควร และพบการทำงานของไตที่เสื่อมถอยลงแบบเฉียบพลัน แต่ก็ไม่รุนแรงนัก คุณหมอส่งผู้ป่วยไปตรวจอัลตร้าซาวนด์และเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แบบไม่ฉีดสารทึบรังสี เพราะอะไร ?

เพราะการทำงานของไตที่แย่ลง เป็นอุปสรรคมากต่อการฉีดสารทึบรังสี แม้การตรวจโดยไม่ฉีดสารทึบรังสีและให้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ แต่เป็นตัวเลือกที่ทำได้ดีที่สุดในเวลานี้ สิ่งที่พบคือ ....

พบลิ่มเลือดอุดตันที่บริเวณ bladder trigone ขอขยายความสักหน่อยว่า bladder trigone อยู่ที่ใด trigone หรือดินดอนสามเหลี่ยม ในกระเพาะปัสสาวะคือ อาณาบริเวณสามเหลี่ยมเกิดจากการลากเส้นเชื่อมต่อจุดเปิดของท่อไตสองข้างมาเปิดเข้าที่กระเพาะปัสสาวะ และจุดออกของท่อปัสสาวะนำน้ำปัสสาวะออกไป นั่นคือบริเวณนี้จะมีการไหลวนของน้ำปัสสาวะตลอดเวลา หากมีตะกอนก็จะตกตะกอนแถวนี้ ตะกอนที่ว่านั้นคือ เลือด นั่นเอง แสดงว่าผู้ป่วยมีเลือดออกมาจากไต และมาตกตะกอนตรงนี้มากพอที่จะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะได้เลย

ส่วนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามหลักภูมิศาสตร์เราจะเรียกว่า river delta นะครับ

เมื่อเป็นแบบนี้ แผนการที่คุณหมอจะทำต่อคือการส่องกล้องระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อหาจุดเลือดออกที่อาจจะอุดตัน รวมทั้งทำหัตถการเพื่อระบายปัสสาวะ ลดแรงดันในระบบการทำงานของไต แต่ปรากฏว่า ผลการตรวจ RT-PCR สำหรับโรค COVID-19 ผลออกมาเป็นบวก !!

ทำให้คุณหมอตัดสินใจส่งไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโควิด แน่นอนว่าถึงแม้เป็นประเทศร่ำรวยอย่างกาตาร์ ก็ยังใช้เวลาในการส่งตัว และระหว่างการส่งตัวไปโรงพยาบาลที่ศักยภาพในการดูแลโควิดนั้น ผู้ป่วยเลือดออกมากขึ้นและซีดจางลง แสดงว่าอาจจะมีเลือดออกมากขึ้น

ที่โรงพยาบาลกรุงโดฮา ที่นี่สามารถจัดการควบคุมการติดเชื้อโควิดได้ดี คุณหมอ Bela Tallai จึงทำการส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ คุณหมอก็พบลิ่มเลือดอุดตันบริเวณ trigone ตามที่เห็นในภาพเอ็กซเรย์ เมื่อทำหัตถการนำลิ่มเลือดออก และตรวจดูรอบกระเพาะปัสสาวะ ปรากฏว่าไม่พบจุดเลือดออกในกระเพาะปัสสาวะแต่อย่างใด

แต่ปรากฏว่ามีเลือดไหลออกมาตรงจุดที่ท่อไตข้างซ้ายมาเปิดเข้ากระเพาะปัสสาวะ เลือดน่าจะออกมาจากไตด้านซ้าย คุณหมอจึงตัดสินใจทำ ureteroscope ส่องกล้องไปในท่อไตพร้อมฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจหาความผิดปกติต่อไป

สิ่งที่คุณหมอพบคือ

มีเนื้อตายและจุดเลือดออกที่บริเวณ calyx และ papilla จุดต่อระหว่างเนื้อไตและท่อไต ... จุดที่เกิด RPN ในเรื่องของเบโธเฟน

เนื้อตายตรงจุดนั้นมีลักษณะเป็นสีขาวนวล ...'เมล็ดถั่ว' ที่พบในไตของมหาคีตกวีชื่อดัง

.เมื่อตัดชิ้นเนื้อส่งพิสูจน์ ก็เป็นเนื้อไตที่ตาย เม็ดเลือด และเซลล์เม็ดเลือดขาว คุณหมอได้ใส่สายท่อไตเพื่อไม่ให้เกิดการอุดตัน และติดตามอาการ พบว่าเลือดออกลดลง ปัสสาวะใสดี การทำงานของไตดีขึ้นจนกระทั่งสามารถเข้ารับการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ฉีดสารทึบรังสีได้ การฉีดสารทึบรังสีนั้น จะสามารถดูการกระจายของสารที่ผ่านทางหลอดเลือดได้ หากจุดที่ควรจะเห็นสีแต่กลับไม่เห็น แสดงว่าเลือดไปบริเวณนั้นลดลง และแน่นอน ผลการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ฉีดสีนั้นเข้าได้กับ renal papillary necrosis

ไม่ต้องผ่าศพพิสูจน์ เราสามารถให้การดูแลรักษาได้ดีและวินิจฉัยได้แม่นยำ ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีเลือดออกทางปัสสาวะอีกและการทำงานของไตกลับเป็นปรกติ

แต่เดี๋ยว !!!

จำได้ไหมว่าผู้ป่วยตรวจพบเชื้อ SARS-CoV2 หรือ เป็นโรคโควิด-19 แบบไม่มีอาการ มันเกี่ยวกันหรือไม่

ข้อสรุปคือ ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะบอกว่า มันเกี่ยวข้องกัน มันพบร่วมกัน หรือมันทำให้เกิด อาจจะเป็นเพียงแต่ความบังเอิญที่พบในเวลาเดียวกันเท่านั้น (ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหนึ่งใน POSTCARDS คือ โรคเบาหวาน) เพราะเพิ่งมีการรายงานคนนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น คงต้องติดตามกันต่อไป

เฮ้อ.. เริ่มด้วยเบโธเฟน ไป เฟร-ดรายช์ ไป สงครามนโปเลียน มา POSTCARDS มา กาตาร์

คุณเก่งมากที่อยู่กับผมมาตลอด 6 ปี

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และข้อความพูดว่า "No 6 ปริศนาของเบโธเฟน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม