30 มกราคม 2564

สรุปเนื้อหาจากงานวิชาการเรื่องการจัดการวัคซีนของ HITAP เมื่อ 29 มกราคม 2664

 สรุปเนื้อหาจากงานวิชาการเรื่องการจัดการวัคซีนของ HITAP เมื่อ 29 มกราคม 2664

1. วัคซีนโควิด ไม่ใช่มาตรการที่จะหยุดยั้งโรคได้ทั้งหมด ยังต้องใช้การรักษาสุขอนามัย กินร้อน ล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เพื่อจะช่วยการยับยั้งโรค

2. การศึกษาเรื่องโรคโควิดและวัคซีนโควิด มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีชุดความจริงอันใหม่ที่มีหลักฐานมากกว่ามาเปลี่ยนแปลงความรู้เดิมได้เสมอ และปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมากด้วย คงต้องติดตามข่าวที่เชื่อถือได้และเป็นปัจจุบันที่สุด

3. ณ เวลาปัจจุบัน ผลของวัคซีนโควิดคือ "ลดความรุนแรงของโรค" ส่วนเรื่องลดการแพร่กระจาย เรื่องลดการติดเชื้อ หรือผลการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะมาอ้างประสิทธิภาพเหล่านั้น ยังต้องรอผลการศึกษาที่ทำอยู่ในระยะยาว และการศึกษาใหม่ที่ออกมาโดยตรง

4. จากผลการศึกษาหลักคือ ความรุนแรงของโรค ดังนั้นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่ควรจะได้รับวัคซีนคือ คนที่เป็นโรคแล้วจะรุนแรง คือ ผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ผู้ที่น้ำหนักตัวมากเกินกำหนด และเมื่อกลุ่มคนที่กล่าวมาได้วัคซีนเพียงพอแล้ว จึงกระจายไปสู่บุคคลกลุ่มอื่นต่อไป

5. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นอีกกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนก่อน เพราะต้องดูแลคนกลุ่มเสี่ยงสูง และเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบสาธารณสุขล่มไป หากบุคลากรป่วยและติดต่อกันจำนวนมาก (ลองคิดดูว่า คนที่รักษาเราก็ป่วย มันคงไม่ค่อยดีเท่าไร)

6. ถามว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่แพร่ระบาด หรือลดการแพร่กระจายจากคนนั้น จริงหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่อง ลดการแพร่กระจายหรือลดการติดเชื้อ ดังนั้นการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดยังคงต้องติดตามต่อไป หรือแม้แต่ vaccine passport ก็อาจต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะมันไม่ได้ยืนยันว่าคนที่ฉีดจะไม่แพร่เชื้อหรือไม่ติดเชื้อ แต่ช่วยไม่ให้ติดเชื้อแล้วอาการหนัก

7. การฉีดวัคซีนโดยภาพรวมให้ถึงเป้าหมาย นอกเหนือจากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจด้านเศรษฐกิจและสังคม ว่าอย่างน้อย เราก็มีมาตรการป้องกันโรคที่ดีพอ ที่จะทำให้ประเทศกลับมาเหมือนเดิมได้ เราจะดำเนินการฟื้นฟูประเทศอย่างมั่นใจมากขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายให้ #วัคซีนฟรี# กับประชาชน ตามลำดับความจำเป็นและข้อมูลทางวิชาการ

8. ตอนนี้ให้ใช้วัคซีนตามข้อมูลที่ศึกษาและข้อบ่งชี้ ยังไม่มีข้อมูลว่า ฉีดวัคซีนรวมกันจากหลายบริษัท หรือฉีดปนกันต่างบริษัท หรือฉีดเร็วกว่า ฉีดช้ากว่า จะดีหรือไม่ดีกว่ากัน ทั้งหมดเป็นการประยุกต์แนวคิดที่น่าสนใจ แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลมาสนับสนุนการประยุกต์ต่าง ๆ จึงแนะนำให้ใช้ตามหลักฐานปัจจุบันก่อน และยังไม่แนะนำให้ใช้นอกเหนือข้อบ่งชี้เพราะตอนนี้วัคซีนยังไม่เพียงพอ

9. ในอนาคตจะมีวัคซีนเพียงพอ (หรืออาจล้นตลาดได้) ด้วยกำลังการผลิตวัคซีนของบริษัทที่ได้รับการอนุมัตินั้น ถือว่าภายในหนึ่งปีนี้น่าจะเพียงพอ และยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังจะผลิตเพิ่ม รวมทั้งต้องคิดต่อเนื่องเรื่องการกลายพันธุ์หรือการกระตุ้น เข็มสามเข็มสี่ต่อไปด้วย ดังนั้นกำลังการผลิตกำลังเดินหน้าเต็มพิกัด

10. ความปลอดภัยของวัคซีนและประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม เพราะโรคนี้เป็นโรคใหม่ วัคซีนก็ใหม่ เราคงไม่สามารถรอให้เกิดคำว่า ปลอดภัย "100%" ได้ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ และเราอาจแย่จากตัวโรคไปก่อน แค่เราพิสูจน์ว่าประโยชน์มากกว่าผลเสียอย่างชัดเจน และพอจัดการผลเสียนั้นได้ ก็เพียงพอในการนำวัคซีนมาจัดการในทางสาธารณสุข และช่วยสร้างความเชื่อมั่นฟื้นฟูเศรษฐกิจ

11. สำหรับเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน จะเริ่มมีข้อมูลมากขึ้นเพราะปริมาณการฉีดมากแล้ว ในปัจจุบันพบอันตรายถึงแก่ชีวิตในผู้ที่รับวัคซีน แต่ตอนนี้เท่าที่สืบสวนพบว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัววัคซีน อาจจะเคยติดเชื้อมาก่อน หรือมีโรคร่วมอื่น ที่ทำให้เสียชีวิต

** ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ไม่เท่ากับ เสียชีวิตจากวัคซีน** ต้องมาพิสูจน์เสมอว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แม้แต่วัคซีนที่เรากำลังจะฉีดในอีกไม่กี่เดือน ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ อย่าเพิ่งไปโทษวัคซีน ต้องพิสูจน์ก่อนเสมอ

12. สำหรับเรื่องประสิทธิภาพโดยรวม การลดการติดเชื้อในระดับชุมชนหรือประเทศ ต้องรอเก็บข้อมูลในไทยหลังรับวัคซีน ข้อมูลประเทศต่าง ๆ ที่มีนั่น เขามีบริบทที่ต่างจากเรา และหากเราไปดูข้อมูลประเทศที่ฉีดไปแล้ว ส่วนใหญ่บริบทก็ต่างจากเรามาก หรือประเทศบริบทใกล้เคียงเราก็ยังรับวัคซีนน้อยเกินไปกว่าที่จะคำนวณได้ ดังนั้นข้อมูลประเทศอื่น ๆ ใช้ได้เพียงเป็นแนวทางเท่านั้น

ผมสรุปมาในแง่ที่ประชาชนควรเข้าใจ และต่อไปทางภาครัฐน่าจะมาสื่อสารข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากขึ้นครับ ใครต้องการรับฟังซ้ำ ตอนนี้ทางเพจ hitap https://www.facebook.com/HITAPTHAILAND/
ได้ลงเทปบันทึกภาพและเสียงการสัมมนานี้ให้ฟังได้ฟรีครับ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "COVID-19 vaccine 士"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม