08 มกราคม 2564

ตรวจหาโควิด ความรู้ง่าย ๆ สำหรับประชาชน

 ตรวจหาโควิด ความรู้ง่าย ๆ สำหรับประชาชน (ยาวสักหน่อย เพราะพยายามทำให้เข้าใจง่าย)

ประโยคสุดฮิต กูติดหรือยังวะ หลายคนตระหนกตกใจ หลายคนชะล่าใจ หลายคนไม่เข้าใจ วันนี้เรามาเข้าใจง่าย ๆ กันครับ

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องเข้าใจคือ ความเข้าใจและงานศึกษาเรื่องการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการการติดเชื้อ SARS-CoV 2 มาจากสิ่งที่เรียกว่า symptom-based strategy คือใช้อาการและการสัมผัสโรคเป็นตัวตั้งในการแปลผลแล็บ ไม่ว่าจะส่งการทดสอบใด ส่งตอนไหน จะส่งซ้ำเมื่อไร และจะแปลผลสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งได้แม่นยำเพียงใด ขึ้นกับ ประวัติความเสี่ยงและอาการทั้งสิ้น ดังนั้น ข้อแรกก่อนคิดจะไปทดสอบใด ๆ คือ เรามีประวัติเสี่ยงมากหรือเปล่า และที่ว่าเสี่ยงนั้น เสี่ยงเมื่อใด และเรามีอาการที่เข้าได้กับโควิดไหม ...อาจจะงง แต่อ่านไปจะเข้าใจ

🚩🚩ขอเริ่มด้วยการทดสอบที่ถือเป็นมาตรฐานที่สุดก่อนคือการตรวจสิ่งส่งตรวจจากหลังจมูก คอ หรือน้ำล้างปอด แล้วส่งตรวจหากรดนิวคลิอิกที่มีรหัสพันธุกรรมตรงกับ SARS-CoV2 ที่เรียกว่า RT-PCR เนื่องจากรหัสพันธุกรรมมันมีความจำเพาะมาก จึงแทบจะชัดเจนว่า พบเชื้อ หากผลการตรวจเป็นบวก แต่จะเป็นเชื้อที่มีชีวิตหรือไม่ ต้องดูปัจจัยอื่น

แต่อาจเกิดการผลลบได้ หากตรวจก่อนเวลาที่เชื้อมากพอที่จะตรวจจับเช่น 3-5 วันแรกหลังรับเชื้อ หรือปริมาณเชื้อลดลงจนตรวจจับไม่ได้ เช่นหลังจากมีอาการวันแรกไปแล้วประมาณ 10วัน หรือจะจำง่าย ๆ หรือ หน้าเจ็ดหลังเจ็ด นับจากวันมีอาการวันแรก ยิ่งตรวจสองหรือสามครั้งต่อเนื่องกันจะบอกได้ชัดเจนถึงระยะของโรคเลย

แม้การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อจะเป็นวิธีมาตรฐาน แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเชื้อที่ไร้สมรรถภาพไปแล้ว การจะแยกเชื้อเป็นและเชื้อตายที่ชัดเจนที่สุดคือการเพาะเลื้ยงเซลล์ไวรัส ซึ่งใช้เวลาหลายสัปดาห์คงไม่ทัน แล้วเราใช้วิธีใด เราใช้การตรวจกึ่งปริมาณโดยดูที่ cycle threshold ของการทำ RT-PCR

ค่า Cycle Threshold (Ct) คือเราต้องคัดลอกกรดนิวคลีอิกกี่รอบ จึงจะตรวจเจอเชื้อ เราก็คิดง่าย ๆ ว่าถ้าเชื้อมันมาก เราก็ไม่ต้องก๊อปปี้สายพันธุกรรมมากก็เจอแล้ว แต่ถ้าจำนวนเชื้อมันน้อย ก็ต้องตรวจและทำซ้ำหลายรอบกว่าจะได้ปริมาณมากพอจนตรวจจับได้ โดยทั่วไปค่า Ct ที่ถือว่าเป็นบวกคือ ไม่เกิน 40

หากตัวเลข Ct น้อย ๆ แสดงว่าเชื้อมันเยอะ โอกาสเจอเชื้อที่มีชีวิต แบ่งตัวเร็ว ๆ มันก็สูง แต่ถ้าค่า Ct สูงมาก เรียกว่าต้องเค้นแทบตายกว่าจะเจอเชื้อ โอกาสเป็นเชื้อที่มีชีวิต แบ่งตัวปรู๊ดปร๊าดมันก็ต่ำมากนั่นเอง เราก็ใช้ค่า Ct พอบอกได้เช่นกัน ถ้าเราไม่เอาอาการหรือประวัติสัมผัสโรคมาอ้างอิงเป็นจุดเวลา หากพบค่า Ct สูง ก็ไม่มีทางรู้ว่าตอนนี้เพิ่งเริ่มติดเชื้อ หรือร่างกายกำจัดเชื้อจนจะหมดแล้ว **ประวัติอาการและการสัมผัสโรคจึงมีความสำคัญมากนั่นเอง**

การทำ RT-PCR ก็ใช้เงินและเสียเวลา รวมทั้งต้องใช้ทรัพยากรบุคล อุปกรณ์เครื่องมือ จึงเหมาะกับการตรวจหาเชื้อในกรณีสงสัย มีประวัติไทม์ไลน์การติดเชื้อและอาการ และมีข้อผิดพลาดจากการเก็บสิ่งส่งตรวจที่ไม่ถูกต้องได้ ชุดทดสอบของแต่ละบริษัทก็จะหยิบชิ้นส่วนรหัสพันธุกรรมที่ต่างกันมาใช้ ดังนั้นอาจมีความแปรปรวนในชุดตรวจแต่ละบริษัทบ้าง แต่โดยรวมก็ถือว่าเชื่อถือได้คุณภาพสูงไม่ต่างกัน

ข้อมูลล่าสุดก็ออกมาว่าประมาณ 72 ชั่วโมงหลังอาการไข้ลดลงแล้วอาการลดลงแล้ว โอกาสตรวจพบเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่มีน้อยมาก (ด้วยวิธี RT-PCR)

🚩🚩การตรวจหาแอนติบอดี แอนติบอดีคือโปรตีนภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ออกมาเฉพาะเจาะจงกับเชื้อโรคตัวใดตัวหนึ่ง หากว่าตรวจพบก็พอจะบอกได้ว่ามีเชื้อโรคนั้นเข้ามา แล้วร่างกายตอบสนองโดยการสร้างแอนติบอดีให้ตรวจเจอได้นั่นเอง ก่อนหน้าโควิด เราก็ใช้แอนติบอดีเพื่อวินิจฉัยโรคพอได้ (ย้ำว่าพอได้ เพราะปัจจุบันมันมีวิธีการตรวจทางพันธุกรรมที่เร็วกว่าและแม่นยำกว่ามาก) โดยการตรวจวัดการเพิ่มขึ้นของแอนติบอดีว่าควรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่า เมื่อเทียบกับของเดิม (ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์) เช่นการตรวจแอนติบอดีเพื่อยืนยันการติดเชื้อไข้เลือดออกเป็นต้น

ถ้าร่างกายเราปกติ ภูมิคุ้มกันขึ้นปกติ ร่างกายเราจะสร้างแอนติบอดีต่อ SARS-CoV2 ประมาณสามสัปดาห์หลังรับเชื้อ หรือประมาณสิบวันหลังเกิดอาการวันแรก (เห็นไหม ประวัติไทม์ไลน์การสัมผัสเชื้อและอาการจึงสำคัญมากเลย) โดยสร้างแอนติบอดีทั้งสองชนิดคือ IgG และ IgM พร้อมกัน แต่ IgG จะอยู่ได้นานกว่า เรียกว่าหลายเดือน แต่ IgM จะอยู่เพียงสองสัปดาห์แล้วเริ่มลดระดับลงจนไม่พบในเวลาประมาณหนึ่งเดือน

การพัฒนาชุดตรวจแอนติบอดี ทำได้ง่าย ชุดตรวจก็ราคาถูก ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรมากมาย แปลผลได้ง่าย ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็สามารถทราบผลแอนติบอดีแล้ว วิธีที่นิยมใช้กันคือ ELISA (อ่านว่า อีไลซ่านะครับ อย่าอ่าน อี-ลิ-ซ่า เดี๋ยวนักร้องวงแบล็กพิ้งค์จะสะดุ้ง) จึงนิยมนำมาใช้ตรวจแบบเร็ว rapid test

ถ้าผลออกมาเป็นลบ อาจจะเกิดขึ้นหากตรวจก่อนเวลาที่แอนติบอดีจะขึ้น หรือตรวจหลังจากเวลาที่แอนติบอดีลดลงแล้ว หรือร่างกายไม่สร้างแอนติบอดี

ถ้าผลออกมาเป็นบวก หมายถึงร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีขึ้น ซึ่งอาจจะหายจากโรค ไม่มีเชิ้อแล้วแล้ว หรือยังเป็นอยู่ หรืออาจมีการข้ามปฏิกิริยาได้กับไวรัสอื่น หากเลือกชิ้นส่วนไวรัสที่มาทำชุดตรวจที่อาจพบในเชื้ออื่นได้ (แต่ส่วนมากก็จะเลือกชิ้นส่วนไวรัสที่ค่อนข้างเฉพาะกับ SARS-CoV2) แล้วแต่ว่าแต่ละยี่ห้อเลือกชิ้นส่วนแอนติเจนใดมาทำชุดตรวจแอนติบอดี

การพบแอนติบอดีนี้ ไม่ได้หมายถึงคุณจะปลอดภัยจากโรค เพราะนี่ไม่ใช่วิธีการตรวจหา neutralized antibody ตามมาตรฐาน (ปกติใช้ PRNT-50, PRNT-90)

การจะยืนยันได้ผลที่น่าเชื่อถือก็ต้องตรวจต่อเนื่องสองครั้ง **ประกอบกับประวัติอาการและไทม์ไลน์การสัมผัสโรคเสมอ** และยืนยันด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมเพื่อยืนยันผลด้วยเสมอ

ที่มาจากวารสารนี้และลุยค้นต่อตามที่เขาอ้างอิงมาครับ
Sethuraman N, Jeremiah SS, Ryo A. Interpreting Diagnostic Tests for SARS-CoV-2. JAMA. 2020;323(22):2249–2251. doi:10.1001/jama.2020.8259

ในภาพอาจจะมี สถานที่กลางแจ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม