14 มกราคม 2564

โควิดกับไข้หวัดใหญ่ อะไรร้ายแรงกว่า

 โควิด19 มันกระจอกจริงไหม

เรามาดูข้อมูลจากการศึกษานี้กัน นักวิจัยจากเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาข้อมูลผู้ป่วยในระบบทหารผ่านศึกของอเมริกา ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 54281 รายในช่วงเวลา มค. 2560-ธค.2562 และผู้ป่วยโควิด 9125 รายในช่วง กพ. ถึง มิย. 63 มานับข้อมูลคนที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ว่ามีอัตราการเสียชีวิต การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ต่างกันหรือไม่ และมีเหตุปัจจัยใดทำให้รุนแรง

โดยนำข้อมูลมาจัดกลุ่มวิเคราะห์ พยายามจัดกลุ่มตัวแปรย่อยที่เหมือนกันมาเปรียบเทียบกัน เรียกว่าการทำ propensity score matching และมีการใช้การคำนวณซ้ำทางสถิติเพื่อปรับข้อมูลให้ตรงกันพอที่จะมาเทียบกันได้ สรุปว่าได้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมา 12676 รายและโควิด 3641 ราย ส่วนมากเป็นชาย อายุเฉลี่ยที่ 55 ปี

พบว่าอัตราการเสียชีวิต อัตราการเกิดโรคแทรกต่อหัวใจ ต่อไต ต่อการป่วยวิกฤต ผู้ป่วยโควิดมีโอกาสสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งภาพรวม และตัวแปรโรคร่วมย่อยใด ๆ

สรุปพาดหัวข่าวว่า "โควิดร้ายแรงกว่าไข้หวัดใหญ่" .... อ๊ะ...หยุดก่อน

ถ้าเราไปอ่านการศึกษาอย่างละเอียด ก็จะพบว่าการศึกษานี้

1. เก็บตัวอย่างในแต่ละเวลากัน เป็นคนละกลุ่มกัน แม้จะมีบางส่วนเป็นคนไข้ทั้งสองกลุ่ม

2. การศึกษานี้เป็นการเฝ้าติดตาม ผู้ทำวิจัยไม่สามารถควบคุมตัวแปรของผู้ป่วยได้ทั้งหมด และสองกลุ่มอาจไม่เหมือนกัน

3. การจะมาเทียบกันในข้อสอง จึงต้องใช้วิธีจัดกลุ่ม และ การคำนวณแบบ regression ทางสถิติซ้ำกันหลายครั้ง และการทำ matching เพื่อพยายามทำให้สองกลุ่มนั้นคล้ายกัน "เพียงพอ"ที่จะเปรียบเทียบกันได้ แต่การจัดการข้อมูลแบบนี้ จะทำให้ความแม่นยำลดลง ความแปรปรวนมากขึ้น เป็นเงาตามตัว

4. ไข้หวัดใหญ่ ณ เวลาที่ศึกษา เรามีการจัดการที่ดี การเฝ้าระวัง วัคซีนแพร่หลาย ยารักษาที่แสนถูก ส่วนโควิด ณ เวลานั้นเราแทบไม่รู้อะไร และไม่มีวิธีรับมือเลย

5. ตอนที่เก็บข้อมูลไข้หวัดใหญ่ ทรัพยากรทางสาธารณสุขช่างเหลือเฟือ แต่ตอนที่เก็บข้อมูลโควิด ทรัพยากรหลายอย่างหายไป ขาดแคลน สถานการณ์ที่ต่างกันย่อมส่งผลถึงผลการศึกษา

6. ปัจจัยที่ตรงกัน ที่บ่งชี้โรคที่แย่ ตามการศึกษาคือ อายุมากกว่า 75และเป็นโรคไตเสื่อม ผู้ป่วยผิวสีที่น้ำหนักตัวมาก (แต่คนกลุ่มนี้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้น้อยกว่าไงครับ)

ผมยกตัวอย่างคร่าว ๆ แล้วกัน หกข้อ ว่าหากเราอ่านแต่หัวข้อแล้วผ่านไปสรุปผล หรือกราฟสวย ๆ เราก็จะได้ข้อมูลไม่ครบ และยิ่งตัดตอนเอาไปพาดหัวข่าว หัวเพจ หัวทวิต ที่ต้องการให้คนเข้าชมมาก ก็อาจขาดรายละเอียดจนทำให้เข้าใจผิดได้นะครับ

ตกลงฉันจะเชื่อใครได้บ้างล่ะเนี่ย

ที่มา
Xie Yan, Bowe Benjamin, Maddukuri Geetha, Al-Aly Ziyad. Comparative evaluation of clinical manifestations and risk of death in patients admitted to hospital with covid-19 and seasonal influenza: cohort study BMJ 2020; 371 :m4677

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป และกลางคืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม