14 มิถุนายน 2559

แสงแดดกับมะเร็งผิวหนัง

แสงแดดกับมะเร็งผิวหนัง

IARC คือ องค์กรที่ศึกษามะเร็งนานาชาติได้ประกาศตั้งแต่ปี 1992 ปีที่จัดฟุตบอลยูโร 1992 ที่สวีเดน ประกาศว่า "แสงแดด" เป็นสารก่อมะเร็งที่มีข้อมูลชัดเจน ทั้งมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Malignant melanoma) คือเซลเม็ดสี และเซลที่ไม่ได้เกิดจากเมลาโนมา (Basal cell and Squamous cell carcinoma) เพียงแต่ว่าไม่สามารถระบุขนาดและความชัดเจนได้จริงๆชัดๆว่าขนาดเท่าใดจึงก่อมะเร็ง เพราะในแต่ละบริเวณของโลกมีการสัมผัสแสงแดดไม่เท่ากัน สภาพสังคมและอาชีพก็ต่างกัน

ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรของโลกจะมีความเข้มแสงสูงกว่าจุดอื่นๆ บริเวณที่สูงๆจะสัมผัสแสงแดดมากกว่า หรือในที่โล่งเช่นทุ่งนา ชายหาดแสงจะสะท้อนเข้าหาเราได้มากกว่า เวลาเที่ยงที่แสงแดดตั้งฉากกับผิวโลกก็จะเสี่ยงมากขึ้น
ถามว่าสัมผัสแบบไหนเสี่ยง...คำตอบคือสัมผัสแสงจัดๆ มากกว่าสัมผัสแสงอ่อนๆนานๆ กลุ่มคนที่เสี่ยงมากจริงๆคือ เกษตรกร ช่างก่อสร้าง และเจ้าหน้าที่ทางการทหาร
อีกประการคือ ประชากรแต่ละพื้นที่ก็มีพันธุกรรม สีผิวที่ต่างกัน รวมไปถึงพัฒนาการการใช้สารกันแดด ก็มีผลต่อโอกาสการเกิดมะเร็งผิวหนัง

สำหรับประเทศไทย นั้นจากการสำรวจในช่วงปี 1998-2000 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าส่วนมากเป็นมะเร็งที่ไม่ได้เกิดจากเซลเม็ดสี ซึ่งก็มีผลจากแสงแดดเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้ชัดเจนเท่ามะเร็งเซลเม็ดสีก็ตาม อัตราการเกิดไม่มากนักนะครับ เราเป็นชาวผิวเหลืองผมดำ จะปลอดภัยกว่าชาวผิวขาวผมบลอนด์ ใครจะไปเปลี่ยนสีผมหรือไปทำขาวปิ๊ง คิดดีๆนะ
อัตราการเกิดมะเร็งคือ 3.3/100,000 ประชากร ผู้ชายเกิดมากกว่าหญิงเล็กน้อย และจะพบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะพบเพิ่มขึ้นมาก พบ Basal Cell Carcinoma และ Squamous Cell Carcinoma ในอัตราที่เท่าๆกัน

ดังนั้นการหลีกเลี่ยงแสงแดดแรงๆต่อเนื่องหรือการใช้อุปกรณ์ป้องกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งครับ แม้ว่าการศึกษาในปัจจุบันยังไม่ได้พิสูจน์ชัดเจนว่าการปกป้องผิวหนังจากแสงแดดจะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังได้อย่างชัดเจนนัก ส่วนมากทำได้แค่พิสูจน์ว่ามีแนวโน้มจะลดมะเร็ง อาจต้องทำในหลายๆภูมิภาคของโลก ใช้คนทดลองมากขึ้นและใช้เวลาการติดตามผลนานกว่านี้ (ส่วนมากที่ทำก็ประมาณ 4.5 ปี)
แต่คำแนะนำการป้องกันแสงแดดก็เป็นคำแนะนำที่ใช้ทั่วโลกอยู่ดีนะครับ เพราะมาตรการการป้องกันแสงแดดมันไม่ได้อันตรายอะไรเลย กันไว้ดีกว่าครับ มาตรการการป้องกัน จากสมาคมโรคมะเร็งอเมริกาแนะนำดังนี้

-- seek slip slop slap wrap--

seek shade -- หาที่ร่ม
slip on shirt -- ใส่เสื้อคลุม
slop on sunscreen -- ทาครีมกันแดด
slap on hat -- ใส่หมวก
wrap on sunglasses – สวมแว่นกันแดด

รายละเอียดเรื่อง ครีมกันแดด ผมรีวิวเอาไว้แล้ว ผมไม่ปรับปรุงนะครับ คิดว่าเนื้อหายังทันสมัยอยู่มาก ทำลิงค์มาให้แล้วกัน

https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/1490751591240869:0
"ราคาแห่งการรักษา แพงกว่า ราคาของการป้องกัน"

ที่มา * Krittika Suwanrungruang, M.Sc. Supot Kamsa-ard, M.P.H.
ใน Cancer in Thailand สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
*Charlotte Young ,Occupational Medicine 2009;59:82–88
*Lancet 1999 Sep 18;354(9183)
*Br J Dermatol. 2009 Nov;161
*Cancer Epidemiol Biomarkers Prev. 2006 Dec;15(12):2546-8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม