04 มิถุนายน 2559

ความดันในกระโหลกสูง

ความดันในกระโหลกสูง

ความดันในกระโหลกศีรษะ..ในกระโหลกศีรษะก็มีแรงดันครับ ถ้าแรงดันในกระโหลกมากเกินไป เลือดก็จะไหลขึ้นมาไม่ได้ เกิดสมองขาดเลือดอีก การเฝ้าระวังความดันในกระโหลกสูงจึงสำคัญมาก ถ้าช่วยทันจะมีโอกาสรอดชีวิตสูงมาก

กะโหลกมนุษย์เป็นพื้นที่ปิดมีทางเข้าออกอยู่ที่ฐานกระโหลก สำหรับเลือดเข้า เลือดออก ทางออกไขสันหลังและน้ำไขมันหลังเท่านั้น พื้นที่ที่มีอยู่มีความสมดุลกันอย่างดี ประกอบด้วยเนื้อสมอง เลือดและน้ำไขสันหลัง ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากขึ้นหรือแปลกปลอมเข้ามา อย่างเช่น สมองบวมขยายขนาด หรือ มีก้อนเนื้องอกเกิดขึ้น ความดันจะสูงขึ้น ร่างกายต้องชดเชยโดยลดสิ่งอื่นลง ไม่งั้นคงระเบิดเช่น ลดเลือดที่เข้ามา หรือลดน้ำไขสันหลังลง อันนี้เป็นหลักการแห่งสมดุล เรียกว่า Monro - Kellie Hypothesis
แต่จะไปลดของที่มีอยู่คือเลือดนั้น ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ สมองจะตายและบวมขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ร่างกายจะสร้างกลไกหลายอย่างมาปรับตัว แต่ถ้าปรับไม่ไหว ก็ต้องผ่าตัดช่วยเหลือ จึงจะพอรักษาชีวิตและป้องกันความพิการได้ครับ
แล้วอะไรที่จะทำให้ความดันในกระโหลกสูงบ้าง ก็มีได้ 4 อย่างครับ

1. น้ำไขสันหลัง เช่นทางเดินน้ำไขสันหลังตัน จากมะเร็ง จากเลือดออก เช่นการสร้างน้ำไขสันหลังมากเกินไป เช่นการอักเสบติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อรา cryptococcus หรือสร้างผิดปกติเองจนต้องระบายออก

2. เลือด เช่น เลือดออกในสมอง ในเยื่อหุ้มสมอง อันนี้ตรงๆครับ เลือดออกเร็วก็เพิ่มแรงดันเร็ว อาการจะรุนแรงเฉียบพลัน เลือดออกช้าๆค่อยซึมก็จะมีเวลาปรับตัว อาการช้าๆ ไม่มาก หรือเกิดจากลิ่มเลือดดำอุดตัน เลือดแดงเข้าแต่เลือดดำออกไม่ได้แรงดันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรคของเลือดนี้มักจะเฉียบพลันครับ

3. เนื้อสมอง เช่นมีการขาดเลือดในอัมพาต แล้วสมองบวม ซึ่งมักจะเป็นกับโรคที่รุนแรง บริเวณกว้างๆเส้นเลือดใหญ่ๆ เช่นชักต่อเนื่อง เซลบาดเจ็บมากตายมาก ..บวมมาก

4. ก้อน อันนี้ไม่ใช่โครงสร้างปกติ แต่มาโดยไม่ได้รับเชิญ เช่นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือปอด แพร่มาสมอง หรือมะเร็งของเยื่อหุ้มสมองเอง

อาการที่บอกว่า ความดันในกระโหลกเริ่มสูงมีอะไรบ้าง

1. ปวดหัว อันนี้เกิดแน่ๆครับ สมองเป็นห้องปิด มีอะไรเพิ่มจะดันออกจึงปวดมากต่อเนื่อง มักจะปวดท่านอน มากกว่านั่ง เวลาไอ จาม เบ่งก็จะปวดมากขึ้น และอาการปวดอาจลุกลามไปถึงกลางกระหม่อมเลย แต่ปวดมากหรือปวดน้อย บอกไม่ได้นะครับ แต่ละคนไม่เท่ากัน

2. เห็นภาพไม่ชัด เกิดจากแรงดันสูงๆไปถึงเส้นประสาทตา (เส้นประสาทสมองคู่ที่สอง optic nerve) ที่รับผิดชอบการมองเห็น ทำให้เส้นประสาทตาบวมไปด้วย ภาพที่เห็นจึงไม่ชัด

3. เห็นภาพซ้อน เกิดได้หลายอย่าง ที่พบมากคือความดันไปกดเส้นประสาทสมองคู่ที่หก (abducens nerve) เกิดภาพซ้อนเวลามองสองตา และซ้อนมากเวลามองไปด้านใดด้านหนึ่ง การกดจะกดทั้งสองข้างครับแต่ไม่ได้สมมาตรกันเป๊ะๆ หรือถ้าแรงดันสูงมากๆ จนสมองส่วนบนไหลลงมากดทับก้านสมอง ก็จะไปกดเส้นประสาทสมองคู่ที่สามและสี่ได้ ก็จะมีภาพซ้อนเช่นกัน
เส้นประสาทคู่ที่ สาม สี่และหก รับผิดชอบการเคลื่อนที่ลูกตาทั้งสองข้างให้ไปด้วยกันได้ครับ

4. ซึม ไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งเร้า ทั้งการเรียก การเขย่า การทำให้เจ็บ อันนี้จะเริ่มรุนแรง แสดงว่าแรงดันสูงมาก สูงนาน ต้องแก้ไขด่วน คือแรงดันไปกดทุกทิศทุกทางเลย หรือ สมองส่วนบนไหลลงมากดทับก้านสมองส่วนรับผิดชอบการรับรู้สติครับ

5. อาเจียน จะเกิดการอาเจียนโดยไม่มีอาการคลื่นไส้นำก่อน เรียกว่า อาเจียนพุ่ง (projectile vomiting) ผมมักจะหลีกเลี่ยงคำนี้ครับ เพราะมันดูไขว้เขว และส่วนมากที่เป็น ก็จะไม่พุ่งครับ

6. เกิดอาการแสดงทางระบบประสาท ที่แสดงความเสียหายด้านใดด้านหนึ่ง เช่น แขนขาเริ่มมีแรงไม่เท่ากัน ม่านตาหดและขยายเมื่อส่องไฟไม่เท่ากัน อันนี้แสดงว่าอันตรายมากๆๆแล้ว ถ้าไม่ทำอะไร โอกาสเสียชีวิตหรือพิการจะสูงมากๆ

7. ชัก .. มักจะเป็นอาการที่เกิดเมื่อเป็นมาก หรือบอกว่าน่าจะมีโรคที่ผิวสมองแน่ๆ

การสังเกตอาการต้องทำอย่างใกล้ชิดครับ ไม่ว่าจะสังเกตอาการที่บ้านเช่น ศีรษะกระแทกแต่ไม่สลบไม่แตก อาจกลับมาสังเกตอาการที่บ้าน หรือการสังเกตในโรงพยาบาล บางทีไม่ได้อยู่ในไอซียู ญาติเองก็ต้องสังเกตอาการเป็นนะครับ เรื่องการรักษาผมไม่ได้กล่าวถึงนะครับ แต่จะเน้นว่า รีบ ด่วน เสี่ยง จะทำอะไรก็ต้องทำครับ
บางทีการรักษาอาจรุนแรงและมีความเสี่ยงแต่ก็ต้องทำครับ เช่น ใส่ท่อหายใจ ผ่าตัดกระโหลกระบายความดัน หรือ การใส่สายบันทึกความดัน เพราะถ้าความดันสูงมากโดยไม่แก้ไข
...ไม่ตาย ก็ เจ้าชายนิทรา ครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม