30 มิถุนายน 2559

การรักษาโรคถุงลมโป่งพอง GOLD 2015

ฤดูฝนมาแล้ว เทศกาลกำเริบของโรคถุงลมโป่งพองมาแล้ว การที่โรคกำเริบแต่ละครั้งนั้น ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย เสียเงิน เสียเวลา สมรรถภาพปอดแย่ลง โอกาสใส่ท่อช่วยหายใจมากขึ้น ปัจจุบันโรคถุงลมโป่งพองถือเป็นโรคอักเสบเรื้อรังอย่างหนึ่ง ต้องดูแลรักษาไปตลอดครับ มาตรฐานการดูแลรักษา COPD มาจากแนวทางที่ชื่อว่า GOLD guideline ฉบับปัจจุบันเป็นของปี 2015 ราวๆสิ้นปีนี้จะมีการปรับปรุงเป็นฉบับ 2016 ครับ น่าจะเป็นวันถุงลมโป่งพองโลกประมาณเดือนพฤศจิกายน

ใน GOLD guidelines มีรายละเอียดปลีกย่อยมากๆ แต่ผมจะสรุป 10 ข้อ ที่เป็นหัวใจและต้องทำในการรักษาโรคถุงลมโป่งพองครับ ตอนนี้ที่ไอซียูผมเริ่มมีปริมาณคนไข้โรคนี้สะสม รอการระบาย แล้วนะครับ

1. สาเหตุหลักของการก่อโรคคือ noxious gas ต้องหลีกเลี่ยงครับ สำคัญสุดคือ การเลิกบุหรี่ครับ ทั้งบุหรี่จริงและบุหรี่ไฟฟ้า การหยุดบุหรี่เป็นการรักษาที่ทำให้สมรรถภาพปอดดีขึ้นได้ และได้ประโยชน์ทันทีเมื่อหยุด อันนี้จะรวมถึงการหลีกเลี่ยงควันต่างๆด้วยนะครับ

2. การใช้ยาสูดนั้นเป็นการใช้ยาหลักที่สำคัญมาก ไม่ควรหยุดนะครับ ชนิดของยาสูดนั้น คุณหมอจะเป็นคนเลือกให้ท่านตามความเหมาะสมของโรคและแรงสูดที่มี ปัจจุบันนี้มีอุปกรณ์การสูดยามากมายที่ให้เลือกใช้ ท่านคุยกับหมอครับ เลือกที่ท่านใช้แล้วทรงประสิทธิภาพมากสุด และไม่ควรหยุดนะครับ ยาอื่นๆผมจะไม่กล่าวถึง มันเป็นแค่ "ตัวประกอบ"

3. ยาสูดที่ดีมากในปัจจุบัน คือยาสูดขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์นาน ที่อาจใช้เดี่ยวๆ หรือเป็นสูตรผสมกับยาสูดสเตียรอยด์ได้ การใช้ยาสูดแบบผสมจะมีประสิทธิภาพดีสุด การใช้ยาสูดสเตียรอยด์นั้นจากการศึกษาพบว่าเพิ่มโอกาสการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อจริง แต่ถ้าเทียบกับ ความดีงามในการลดการกำเริบ ลดอาการของมันแล้ว คุ้มมากๆครับ ไม่ใช้ยาสูดสเตียรอยด์เดี่ยวๆครับ

4. การรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี อันนี้บังคับ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบติดเชื้อ pneumococcus หนึ่งครั้ง อันนี้เลือกได้ เป็นสิ่งสำคัญเพราะว่าการกำเริบส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อของท่อหลอดลมส่วนล่างทั้งสิ้น ไม่มีการให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันนะครับ ใช้วัคซีนนี่แหละในการป้องกัน

5. การออกกำลังกาย ต้องทำสม่ำเสอครับเพื่อทำให้การทำงานของปอดและหัวใจดีขึ้น การใช้ออกซิเจนเป็นดาบสองคมมากๆครับ อย่าใช้เพราะว่าดูเหนื่อยเท่านั้น เรามีเกณฑ์การให้ออกซิเจนที่บ้านอย่างชัดเจนว่าต้องมีความเข้มข้นเลือดเท่าใด หรือความเข้มข้นของออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำเลือดเป็นเท่าใดจึงจะให้ และต้องให้อย่างน้อย 15 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าเราให้โดยไม่จำเป็นจะเกิดโทษทำให้การหายใจลดลง และโพรงจมูกอักเสบได้

6. ถ้ามีการกำเริบ รักษาเร็วจะดีกว่าดังนั้นต้องรู้ว่าเมื่อไรคือกำเริบ คำตอบคือ เมื่อมีรูปแบบการหายใจที่เริ่มแปรปรวนจนต้องเพิ่มหรือปรับยา อาการหลักสามอย่างที่ต้องจำเลยครับ คือ อาการหอบเป็นมากกว่าเดิม (ที่มันนิ่งๆอยู่แล้ว) เริ่มมีเสมหะปริมาณมากขึ้น และสุดท้ายคือเสมหะที่เปลี่ยนจากสีใสๆทุกๆวันเป็นสีเหลืองหรือเขียว บางรายแดงๆคล้ายสนิม ถ้าเรารู้ว่ากำเริบเราจะได้รักษาทัน

7. เมื่อมีอาการเหนื่อยหรือเริ่มหอบ หลายๆที่ทีมีเครื่องช่วยหายใจผ่านหน้ากาก (non-invasive ventilator with facemask) ให้รีบใส่ให้กับคนไข้เลยก่อนที่จะหอบและแย่ลง เพราะถ้าหอบมากมักจะใส่หน้ากากไม่สำเร็จจะต้องเลยไปถึงการใส่ท่อช่วยหายใจและอีกยาวนาน ยืนใส่ให้ผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินเลยได้ประโยชน์ที่สุด

8. ในแนวทางไม่ได้ชี้ชัดว่าต้องให้ยาปฏิชีวนะทุกราย แต่บอกว่าเกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อ ทั้งไวรัสและแบคทีเรีย ดังนั้นการให้ยาปฏิชีวนะแบบให้ก่อนแล้วค่อยปรับตามผลการเพาะเชื้อจึงมีความสมเหตุสมผล ส่วนจะเลือกยาอะไรขึ้นกับแต่ละท้องถิ่นนั้นๆมีเชื้ออะไรมาก ต้องเข้าไอซียูหรือไม่ ใส่เครื่องช่วยหายใจหรือเปล่า ยาที่รักษาก็คล้ายๆกับการรักษาปอดอักเสบติดเชื้อครับ

9. นอกจากช่วยหายใจและให้ยาปฏิชีวนะก็จะต้องให้ยาขยายหลอดลมมากขึ้นแบบออกฤทธิ์เร็ว หมดฤทธิ์เร็วแต่ให้บ่อยๆรัวๆ ให้ยาสเตียรอยด์ทางการกินหรือหลอดเลือดในช่วงสั้นๆจนอาการกำเริบดีขึ้น ส่วนยาพ่นเดิมนั้นสามารถพ่นต่อไปได้นะครับ

10. อย่าลืมรักษาโรคเรื้อรังโรคร่วมอื่นๆให้ดี และปรับปรุงภาวะโภชนาการด้วย การรักษาจึงจะประสบผลสำเร็จ และอย่าลืมประเมินการใช้ยาสูดยาพ่นบ่อยๆ เพื่อฝึกและสอบการใช้ให้ถูกต้องเสมอ

ที่มา GOLD 2015
RCPT vaccines 2012
CDC, ACCP

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม