16 มิถุนายน 2559

คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเองและให้หมอดูแลเราเพื่อห่างไกลโรคหัวใจ ตอนที่ 2

คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเองและให้หมอดูแลเราเพื่อห่างไกลโรคหัวใจ ตอนที่ 2

จากตอนที่แล้วเรากล่าวถึงกิจกรรมในแต่ละวัน เรื่องอาหาร คราวนี้เรามาต่อเรื่องการปฏิบัติตัวกันต่อ ก่อนจะไปต้องบอกว่าคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่เขียนในช่วงสองวันนี้ เป็นคำแนะนำระดับ I คือต้องทำนะครับ ด้วยระดับหลักฐานทางการแพทย์ระดับ A หรือ B หมายถึงมีการศึกษามากมายแบบการทดลองและการรวบรวม เห็นไปในทางเดียวกัน บางอย่างผลยิ่งใหญ่กว่ายารักษาโรคอีกครับ
ลิงค์เรื่องการออกกำลังกายที่เขียนไปแล้ว

https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/1606323219683705

เรื่องน้ำหนักตัว ตามเกณฑ์นี้ได้กำหนดน้ำหนักตัวด้วยสองปัจจัย อย่างแรกคือดัชนีมวลกาย 20-25 อันนี้คืออ้างอิงของประเทศทางฝั้งตะวันตกมากกว่านะครับ ถึงแม้ว่าในช่วง 3-4 ปีให้หลังมานี้จะมีผู้อพยพมาพึ่งใบบุญ EU เป็นจำนวนมากจน แองเคลา แมร์เกิล ได้เป็นบุคคลแห่งปีเลย แต่ตัวเลขพวกนี้ก็ไม่ได้ถูกรบกวนแต่อย่างใด ในประเทศไทยจะกำหนด 19.5-23.5 ที่บอกว่าพอดีๆ --- เครียดเลยครับ --- ส่วนเรื่องของรอบเอวนั้น ผมเคยลงเรื่องอ้วนลงพุงที่ใช้เกณฑ์วัดรอบเอวไปแล้ว คือตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างขอบบนของกระดูกสะโพกและขอบล่างของซี่โครงซี่ล่างสุด ภาคพื้นยุโรปจัดนับว่าถ้าเกิน 94 ซม.สำหรับชาย และเกิน 80 ซม.สำหรับหญิงถือว่าเริ่มอ้วน ในเกณฑ์ของเอเชียบ้านเราจะใช้ค่าจากทางเอเชียตะวันออกที่ศึกษากันคือ ชาย 90 หญิง 80 เซนติเมตรนะครับ
แต่ก็จะมีประชากรบางกลุ่มที่เป็น healthy obesity คือ อ้วนแบบมีคุณภาพ ไม่มีโรคภัย กลุ่มนี้ยังคงทำการศึกษาอยู่ จะคล้ายๆการศึกษาที่พบว่าคนบางกลุ่มมีไขมัน HDL สูงแต่อัตราการเกิดโรคหัวใจก็ไม่ได้น้อยกว่าคนทั่วไป เพราะฉะนั้น เราต้องควบคุมไม่ไห้เกินจะดีกว่านะครับ

เรื่องต่อมา เรื่องบุหรี่ การเลิกบุหรี่ ต้องทำๆๆ ย้ำอีกที ต้องทำๆๆ เราแนะนำแบบนี้มานานแล้วแม้กระทั่งมีการศึกษาว่าการให้คำแนะนำช่วงสั้นๆ ร่วมกับการให้ยาอดบุหรี่มันมีประสิทธิภาพดีและลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดอย่างมากมาย แต่ว่า smoking cessation program กลับไม่ถูกใช้มากเท่าที่ควร ทำให้บุหรี่ยังเป็นผู้ร้ายตัวเอ้อยู่นะครับ ปัจจุบันพบว่าการจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่ ร่วมกับการให้ยา ช่วยเพิ่มโอกาสการเลิกบุหรี่อย่างมากมาย สามารถทำได้ทุกเวลาที่ผู้ป่วยหรือญาติเข้ามาในโรงพยาบาล แม้กระทั่งหลังจากหัวใจขาดเลือดใหม่ๆก็ยังเกิดประโยชน์เพิ่ม (EVITA trial)

การดำเนินนโยบาย การจัดเก็บภาษี หรือแม้แต่การกำหนดซองบุหรี่ให้เรียบง่ายไม่มีลวดลาย มีแต่คำเตือนที่ประเทศเรากำลัง ย้ำอีก กำลังจะทำ ไม่รู้ว่าอีกนานไหม การทำแบบนี้มีการทดลองยืนยันนะครับว่าได้ผลระดับคำแนะนำ Ia ด้วยซ้ำไป เพราะว่าควันบุหรี่นั้นมันก็อันตรายต่อผู้ไม่สูบด้วย การสูบบุหรี่จึงเป็นการเจตนาย่อมเล็งเห็นผลเสียหายได้แล้ว จึงต้องออกกฎมาควบคุม ผู้ที่สูดควันบุหรี่นั้นเพิ่มอัตราเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ 30%
บุหรี่ไฟฟ้า ยังไม่เป็นที่ยืนยันชัดเจนว่าจะช่วยลดบุหรี่จริงได้ครับ มีทั้งการศึกษาที่สนับสนุนและคัดค้าน แต่ที่น่ากังวลคือ พอติดบุหรี่ไฟฟ้า ต่อมาก็จะไปติดบุหรี่จริงนั่นเอง

สองเรื่องที่เขียนมานี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงปฏิบัติเพื่อห่างไกลโรคหัวใจ ตาม 2016 European Guidelines on cardiovascular disease prevention in clinical practice ไม่ว่าจะยังไม่มีโรคหรือเกิดโรคแล้วก็ตาม ส่วนเรื่องการประเมินความเสี่ยงและเป้าหมายของการควบคุมโรคต่างๆเพื่อไม่ให้เกิดโรคหัวใจ จะทยอยลงให้ต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม