21 พฤษภาคม 2559

transient ischemic attack

transient ischemic attack

อย่าละเลยอาการอ่อนแรงเด็ดขาด.. เรื่องราวนี้ได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยให้มาเผยแพร่ครับ มีสุภาพสตรี อายุ 57 ปีท่านหนึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมาระยะหนึ่ง ยังควบคุมโรคได้ไม่ดีและมีภาวะไขมันในเลือดสูงด้วย เมื่อสามสัปดาห์ก่อนเธอตื่นมาเข้าห้องน้ำ หลังจากเข้าห้องน้ำตอนเดินออกมาก็มีอาการขาซ้ายอ่อนแรงทันที ต้องลากขาออกมาจากห้องน้ำ พอมาถึงเตียงนอน แขนซ้ายก็เริ่มอ่อนแรง ยังพูดจารู้เรื่อง สติดี ไม่มีปากเบี้ยว เธอกับสามีก็นั่งบีบนวดกันอยู่ 2 ชั่วโมงอาการก็ดีขึ้นและหายไป เธอก็ไม่ได้ไปพบแพทย์ กลับไปใช้ชีวิตตามเดิม สามสัปดาห์ต่อมา หนังฉายซ้ำครับ เธอมีอาการแบบเดิมอีก คราวนี้เป็นสี่ชั่วโมงไม่หายเหมือนครั้งก่อน ก็เลยตกใจมากพากันมาโรงพยาบาล ขณะนั่งรถมาอาการก็เริ่มดีขึ้นและหายไป

เรื่องราวนี้หมายถึงอะไรครับ เธอโชคดีหรือเปล่า หรือเธอไม่ได้เป็นอัมพาต เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์พบรอยโรคจากการขาดเลือดที่สมองฝั่งขวาด้านใน เป็นจุดเล็กๆ ตรวจคลื่นไฟฟ้าห้วใจปกติดี ตรวจพบไขมันสูง น้ำตาลสูงมาก และความดันโลหิตสูง ครับท่านทั้งหลายนี่คือ อัมพาตชนิดหนึ่งที่อาการดีขึ้นได้ใน 24 ชั่วโมงที่เรียกว่า transient ischemic attack ปัจจุบันได้มีคำแนะนำให้ใช้ช่วงเวลาที่สั้นลง ที่จะบอกว่าเป็น TIA ไม่งั้นเราจะรักษาคนไข้ช้าลงโดยเฉพาะการให้ยาละลายลิ่มเลือด ตอนนี้ทาง AHA อเมริกาใช้คำนิยามว่า มีอาการเหมือนอัมพาตมามากกว่า 1 ชั่วโมงและถ่ายภาพแล้วไม่พบหลักฐานของการขาดเลือดถาวรจากภาพถ่าย (แต่จากเมืองนอกมันใช้ MRI ที่มี DWI หรือ CT ที่มีการฉีดสีดูร่องรอยการขาดเลือด) ซึ่งก็ยังมีข้อถกเถียงถึงคำนิยามใหม่นี้อีกมาก ผมพูดง่ายๆว่า มีอาการเหมือนอัมพาตแต่ยังไม่ถาวร มักจะหายเองได้ใน 24 ชั่วโมง โดยที่ถ่ายภาพสมองแล้วยังไม่พบร่องรอยการขาดเลือดชัดๆ
ส่วนมากเกิดจากหลอดเลือดขนาดเล็กที่ตีบอยู่แล้วมีการตีบหรือตันชั่วคราว ก้อนที่อุดหลุดไปได้ หรือเกิดจากการขาดเลือดชั่วคราว อ่านแล้วก็รู้สึกว่าโชคดีนะที่หายเอง ผู้ป่วยรายนี้ก็คิดอย่างนั้นจึงละเลยครับ เพราะอะไร ความสำคัญอยู่ที่อาการนี้คือ อาการเตือนของอัมพาตถาวรครับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดอัมพาตซ้ำ ซึ่งเกิดซ้ำอาจเป็นแบบเดิมหรือเป็นแบบยิ่งใหญ่ก็ได้ครับ โอกาสเกิดซ้ำในช่วงสามเดือนแรกนั้นประมาณ 4-8% โดยเกิดซ้ำมากที่สุดในช่วงสามวันแรก เคยมีการศึกษาในจีนที่บอกว่าโอกาสการเกิดซ้ำสูงถึง 10% ในสามเดือนแรก

ไม่ใช่แค่เกิดอัมพาตซ้ำนะครับ โอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็เกิดสูงขึ้นด้วย จากการศึกษาล่าสุดใน NEJM ตีพิมพ์สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนนี้ มีการติดตามการเกิดโรคหลอดเลือดหลังจากเกิด TIA พบว่า อัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 6.2% ซึ่งสูงกว่าคนปกติมาก
การรู้โรคนี้มีความสำคัญ เพราะปัจจุบันการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดสองชนิดพร้อมกันไปอย่างน้อยสามเดือนหลังจากเกิดเหตุจะช่วยลดอัตราการเกิดซ้ำได้มาก ทั้งอัตราการเกิด TIA และการเกิดอัมพาตมากๆซ้ำใหม่ ลองเลื่อนลงไปดูสัก 5 หัวข้อครับ เรื่องการศึกษาที่เพิ่งประกาศในงาน stroke ของยุโรป ผมเอามาเขียนไว้แล้วทั้ง CHANCE และ SOCRATES

การเกิดซ้ำนั้นไม่ได้เกิดเท่าๆกันทุกคนครับ ใครเสี่ยงมากก็เกิดซ้ำมาก ทางสากลเขาใช้สิ่งที่เรียกว่า คะแนน ABCD2 ครับ คะแนนสูงโอกาสเกิดซ้ำมาก A คือ อายุมากกว่า 60 ปี, B คือ blood pressure คือความดันโลหิตสูง, C คือ Character ลักษณะของการเกิด ถ้าเกิดกับหลอดเลือดขนาดใหญ่โอกาสเกิดซ้ำจะมากขึ้น และ D อีกสองอันคือ d- diabetes เบาหวาน และ d-duration ระยะเวลาเป็นที่มากกว่า 60 นาทีจะเพิ่มโอกาสการเกิดซ้ำมากขึ้น รายละเอียดต้องไปค้นเพิ่มนะครับ ผมเอามาพูดคร่าวๆเท่านั้น การศึกษาใหม่บอกว่าถ้าคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 4 ถือว่าเสี่ยงสูง ควรป้องกันดีๆ

ดังนั้นเมื่อเกิดแขนขาอ่อนแรง ไม่ว่าหายเองหรือไม่หายเอง จะมากน้อยแค่ไหน มีค่าเสมอครับ เพราะปัจจุบันมีการถ่ายภาพซีทีที่รวดเร็ว มีการจัดการความเสี่ยงและการจัดกลุ่มผู้ป่วยที่ดี และ มีการรักษาที่ทรงประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง ดังนั้น อย่าละเลยอัมพาต นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม