05 พฤษภาคม 2559

เราหลงทางอยู่หรือไม่กับ การคัดกรองมะเร็ง

เราหลงทางอยู่หรือไม่กับ การคัดกรองมะเร็ง

หนึ่งภาพที่บอกอะไรได้มากมายถึงความเป็นจริง ในเชิงวิทยาศาสตร์และความเชื่อที่เชื่อต่อๆกันมา
ภาพนี้มาจาก National Cancer Institute เพื่อให้เราพิจารณาความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสาขาวิชามะเร็งดังนี้ มาค่อยๆฟังและคิดตามนะครับ

แกนนอนเป็นเวลาเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มมีเซลผิดปกติ พัฒนาต่อไปเรื่อยๆจนกลายเป็นเซลมะเร็ง ส่วนแกนตั้งคือขนาดของมะเร็งตัวแต่เริ่มจนเกิดปัญหาจนทำให้เสียชีวิต ส่วนเส้นสีแดงที่เป็นเส้นประในแนวตัวนั้นคือจุดที่เราทำการคัดกรองมะเร็ง

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราเริมทำการคัดกรองไปซะทุกชนิดของมะเร็ง จะพบว่าบางส่วนจะเป็นเหมือนนกคือธรรมชาติของมะเร็งเกิดเร็วมาก จนมีปัญหา จนเสียชีวิต เกิดขึ้นและดับสูญก่อนที่เราจะคัดกรองได้ ถึงแม้คัดกรองได้แล้วพบ เมื่อพบแล้วมีอาการแล้วสภาพของโรคก็จะเร็วมาก การตรวจคัดกรองไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เช่นมะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด

ในขณะที่มะเร็งส่วนมากจะมีพฤติกรรมเหมือนเต่าและหอยทาก คือตั้งแต่เกิดจากความผิดปกติ จนกระทั่งคนไข้เสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็ง ตัวก้อนเนื้อเองก็ยังไม่พัฒนาตัวให้เกิดอาการหรือเกิดปัญหาแต่อย่างใด ปัญหาคือเราไปเจอเข้า เรากลัว เราเลยต้องทำนู่น ทำนี่ ทำนั่น รักษาโดยไม่จำเป็นมากมายเพราะสภาพของมะเร็งจริงๆนั้น ไม่แย่แต่อย่างใด กลับจะเกิดอันตราย เสี่ยงโดยไม่จำเป็น เครียด เสียเงินเสียทอง จนบางครั้งสิ่งเหล่านี้เกิดปัญหามากกว่ามะเร็งเสียอีก อย่างเช่นมะเร็งต่อมลูกหมาก โตช้ามากๆ บางครั้งกว่ามะเร็งจะโตจนเกิดปัญหาก็ 80-90 ปี เราติดตามค่า PSA หรือส่งไปทำตัดชิ้นเนื้อ ตัดลูกหมาก ทั้งๆที่ยังไม่มีอาการและก็อาจจะไม่มีอาการตลอดไป (PSA คือ เฉพาะเจาะจงกับต่อมลูกหมากนะครับ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งลูกหมาก)

การคัดกรองมะเร็งนั้น จะเกิดประโยชน์เมื่อสามารถคัดกรองได้ตั้งแต่ก่อนมีอาการ ด้วยความแม่นยำพอควร เมื่อคัดกรองได้แล้ว การรักษาหรือการป้องกันสามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง โอกาสเป็นมะเร็งลุกลามน้อยลง ดังนั้นจะมีมะเร็งไม่กี่ชนิดที่อยู่ในกฎอันนี้ ยกตัวอย่างเช่น มะเร็งปากมดลูก ที่ทั้งการตรวจแปบสเมียร์ การตัดปากมดลูก มะเร็งเต้านมที่มีแมมโมแกรมคัดกรอง และถ้าพบการตัดตั้งแต่เริ่มจะเกิดประโยชน์มาก มะเร็งลำไส้ที่มีการส่องกล้อง การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจอุจจาระ เมื่อพบแล้วรักษาเนิ่นๆแค่ตัดก็หาย จะเห็นว่ากลุ่มมะเร็งคุณหมีกลุ่มนี้ มีประโยชน์ในการคัดกรอง การรักษาหลังการคัดกรองสมเหตุสมผล ผลเสียไม่มาก (หมายถึงประโยชน์มากกว่า)

นอกจากนี้การคัดกรองโดยใช้วิธีไม่เหมาะสม ไม่ไว ไม่จำเพาะอาจทำให้เกิดความกังวล เกิดการสืบค้นต่อเนื่องโดยไม่จำเป็น เช่นการตรวจหาสาร CEA, AFP, CA19-9, CA125 ที่เราใช้เพื่อติดตามมะเร็งหลังจากรักษา การตรวจเอกซเรย์ปอดทุกปี คัดกรองมะเร็งปอด ไม่ไวเอามากๆเลย ขนาดเอาคนสูบบุหรี่มากๆเสี่ยงมากๆ มาทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกยังไม่ค่อยช่วยอะไรเลย นอกจากนี้อาจทำให้เราชะล่าใจใจความถูกต้องเช่น ปวดจุกแน่นท้อง ไปส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเสร็จ พบว่าไม่เห็นมะเร็งก็สบายใจ แต่จริงๆแล้วอาการปวดท้องอาจเป็นมะเร็งอย่างอื่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่เราส่องกล้องทางเดินอาหารไม่มีวันพบ

ปรึกษาแพทย์ก่อนตรวจ ตรวจเพื่อคัดกรองอย่างฉลาด อย่าพลาดเพราะ..กลัว..
ดัดแปลงจากบทความ overdiagnosis, National Cancer Institute, prevention program










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม