23 พฤษภาคม 2559

พิษแมงกานีสจากเหมืองทองคำ

พิษแมงกานีสจากเหมืองทองคำ

ยุติการทำเหมืองทองคำ มติครม.เมื่อ 10 พค. 2559 ข้อมูลประกอบคำสั่งนี้อันหนึ่งคือ ในผู้ที่เข้าตรวจเลือด 1574 คนพบว่ามีค่าแมงกานีสในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ 579 รายหรือร้อยละ 36.8 ผมไม่อภิปรายประเด็นการเมืองแต่จะมาพูดถึง แมงกานีส ว่ามันสำคัญอย่างไร พิษอย่างไร

แมงกานีสเป็นธาตุโลหะอัลคาไลที่มีอยู่และเป็นองค์ประกอบในดินน้ำตามธรรมชาติ มนุษย์เรารู้จักและใช้แมงกานีสมานานแล้ว ใช้เป็นส่วนผสมโลหะในอาวุธ เป็นส่วนผสมสีวาดภาพ แมงกานีสเป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบในเอนไซม์หลายชนิดในร่างกาย ควบคุมการทำงานของการสร้างพลังงาน การจัดการอิเล็กตรอนในร่างกาย แมงกานีสมีมากในธัญพืช ถั่วเมล็ด แมงกานีสอยู่ในน้ำนม ทุกวันเราได้แมงกานีสเพียงพอจากอาหาร ถ้ากินครบห้าหมู่ ขาดแมงกานีสจะเป็นผื่นผิวหนัง ผิวลอก การควบคุมเกลือแร่อื่นในร่างกายจะบกพร่อง แล้วถ้าแมงกานีสเกินล่ะ..?

แมงกานีสตามธรรมชาติได้จากการกินอาหาร การดื่มน้ำ ซึ่งเพียงพอหลังจากนั้นก็ไปสะสมที่เนื้อเยื่อ ส่วนเกินก็ขับออกทางน้ำดีและอุจจาระเป็นสมดุลของแมงกานีสในร่างกาย ดังนั้นถ้าแมงกานีสจะเกินก็ต้องมาจากสองทาง ทางแรกคือจากการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนแมงกานีสมากๆ นานๆ หรือได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำที่มีส่วนผสมของแมงกานีสเกิน ปัจจุบันการควบคุมการผลิตดีมากโอกาสจะเกินน้อยมาก ส่วนอีกทางคือจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นแมงกานีสเข้าในปอด เกิดการอักเสบเรื้อรังและซึมเข้ากระแสเลือดได้ ฝุ่นแมงกานีสเกิดได้ทุกขั้นตอนที่มีแมงกานีสอยู่ ไม่ว่าจะทำเหมืองแร่ สกัดสินแร่ ใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องมีแมงกานีสผสมอยู่ โอกาสจะฟุ้งกระจายจนเกิดปัญหากับสุขภาพมีทุกขั้นตอนเข้าปอดและสามารถเข้ากระแสเลือดได้

การเกิดพิษจากแมงกานีสเกินขนาดนั้นต้องเกิดจากการได้รับพิษมากๆหรือเกิดจากการสะสมอย่างยาวนานหรือว่าการกำจัดแมงกานีสในร่างกายบกพร่องไป การกำจัดบกพร่องไปนั้นมักเกิดในเด็กๆจากการที่มียีนผิดปกติ ยีน SLC 30A10 manganese transportation ซึ่งพบไม่บ่อยมาก ดังนั้นสาเหตุแห่งพิษที่พบคือการได้รับเข้าไปมากนั่นเอง พิษเฉียบพลันมักจะพบในการได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำที่มีแมงกานีสเกิน ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้วครับเพราะการควบคุมสารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำดีขึ้น จึงคิดว่าในปัจจุบันถ้ามีอาการเกิดพิษจากแมงกานีสเกินจะเกิดจากการปนเปื้อนของอาหารและน้ำ และการฟุ้งกระจายของฝุ่นแมงกานีสเท่านั้น

มีรายงานพิษจากแมงกานีสครั้งแรก ปี1837 พบคนงานเหมืองในประเทศฝรั่งเศสมีอาการผิดปกติทางจิตประสาทจากพิษแมงกานีส ที่เรียกว่า manganism เคยมีรายงานพบความผิดปกติทางจิตประสาทและการพัฒนาด้านจิตที่ผิดปกติในเด็กที่ดื่มน้ำปนเปื้อนแมงกานีส ส่วนแมงกานีสที่ใช้ทางการแพทย์และในสารป้องกันเครื่องยนต์น็อกยังไม่มีรายงานการเกิดพิษนะครับ
อาการพิษจากแมงกานีสเรื้อรังจะมีอาการคล้ายๆโรคพาร์กินสัน การเคลื่อนที่การเคลื่อนไหวช้า มีอารมณ์แปรปรวน เกร็งๆ เดินช้าๆ เป็นมากๆก็จะมีอาการหลอน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ความจำเสื่อม เราเรียกอาการทางจิตในระยะปลายนี้ว่า "manganese madness"

ต่างจากพาร์กินสันอยู่บ้างตรงที่อาการสั่นจะไม่ค่อยมี และเนื่องจากโรคนี้การทำงานของสารสื่อประสาทโดปามีนยังไม่เสื่อมเสีย (ต่างจากพาร์กินสัน) ทำให้การรักษาด้วยยา levodopa ที่เป็นยาหลักในการรักษาพาร์กินสัน รักษาไม่ได้ผลหรือดีขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จะเห็นว่าการวินิจฉัยไม่ง่ายเลยนะครับ
การตรวจยืนยันว่ามีความผิดปกติจากแมงกานีสสะสม นอกจากการได้ประวัติสัมผัสสารแมงกานีสปริมาณมากและยาวนานแล้ว การตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI อาจจะพบความผิดปกติได้ คือ bilatetal symmetrical hyperintensity signal at basal ganglia esp. putamen and globus pallidus ที่ค่อนข้างเจาะจงกับภาวะแมงกานีสเกิน รอยโรคเป็นตำแหน่งใกล้เคียงกับโรคพาร์กินสันนั่นเอง

การตรวจเลือดไม่ค่อยเจาะจงนะครับ เพราะแมงกานีสจับอยู่กับเม็ดเลือดแดงและโปรตีน beta-1 globulin เกือบทั้งหมดจึงไม่ค่อยพบแมงกานีสอิสระในเลือดมากนัก ระดับแมงกานีสในเลือดที่เป็นอิสระไม่จับกับโปรตีนใดๆ จึงมีน้อยและไม่สัมพันธ์กับอาการและการเกิดพิษมากเท่าไร และนอกจากนี้กว่าจะเกิดพิษ แมงกานีสก็ไปสะสมในอวัยวะอื่นๆแล้วและระดับในเลือดก็ลดลงแล้ว การตรวจระดับแมงกานีสในเลือดจึงมีความไวต่ำและความจำเพาะไม่ดีต่อโรคพิษจากแมงกานีส ระดับปัสสาวะก็เชื่อถือได้ยากเพราะแมงกานีสไม่ได้ขับทางปัสสาวะมากนัก
ไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงที่ได้รับการรับรองนะครับ มีการใช้สารแอนตี้ออกซิแดนท์บ้าง มีการใช้สารขับโลหะหนัก CaNa2 EDTA แต่ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เพราะขับออกจนระดับแมงกานีสในเลือดลดลงก็จริงแต่ภาวะทางจิตประสาทยังไม่ดีขึ้นครับ ขณะนี้ก็ประคับประคองและรักษาตามอาการต่อไป

เอาข้อมูลมาเติมเต็มความรู้ความเข้าใจกับสถานการณ์ปัจจุบันครับ ข้อมูลจาก Goldfrank's Toxicology Emergency 10th edition

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม