เม็ดเลือดขาว..ทหารของร่างกาย เม็ดเลือดขาวได้ปฏิญาณตนว่าจะกำจัดศัตรูของร่างกายที่รุกล้ำจากภายนอกและบ่อนทำลายจากภายใน ทหารของร่างกายแข็งแรงมากครับยกเว้นเมื่อมีการตัดงบการทหาร ก็จะทำให้อาวุธด้อยประสิทธิภาพ เรี่ยวแรงหายไป อริราชศัตรูคือเชื้อโรคทั้งหลายจะฉวยโอกาสนี้เข้ามาโจมตีเราได้... อารัมภบทมานาน แค่อยากบอกว่ายาบางอย่างทำให้เม็ดเลือดขาวลดลงจนร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น เท่านั้น
เม็ดเลือดขาวที่ผมกล่าวถึงตอนต้นเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดมีกรานูล คือ ถุงพิษที่เอาไว้ทำลายเชื้อโรค ในร่างกายมีอยู่สามประเภท สร้างจากไขกระดูก คือเซลนิวโตรฟิล อีโอสิโนฟิลและเบโซฟิล ตัวที่เป็นพระเอกคือนิวโตรฟิลครับ ยาบางชนิดนั้นสามารถไปลดปริมาณเม็ดเลือดขาวที่มีกรานูลโดยเฉพาะนิวโตรฟิล ผ่านกลไกไปทำลายเซลต้นกำเนิดโดยตรง หรือกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันมาทำลายเม็ดเลือด หรือสร้างสัญลักษณ์ไปแปะอยู่บนเซลให้เม็ดเลือดขาวอื่นๆมากลุ้มรุมทำร้าย เรามาดูยาเหล่านั้นกัน ผมเลือกเอามาแค่ยาที่พบบ่อยๆนะครับ
ยาต้านเกล็ดเลือด ticlopidine
ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษ ทั้ง PTU และ methimazole
ยากันชัก lamotrigine
ยาต้านเชื้อรา fluconazole, ketoconazole
ยาขับปัสสาวะ furosemide,spironolactone
ยาต้านไวรัส zidovudine
ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย beta lactam, vancomycin, sulfa groups
ยาจิตเวช clozapine,mianserine
ยารักษาแพ้ภูมิตัวเอง IVIG
ไม่ได้หมายความว่าต้องพบร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ แค่มีรายงานว่าพบบ่อยกว่ายาตัวอื่นๆ จริงถ้าเราคิดสัดส่วนปัญหาที่พบกับจำนวนยาที่จ่ายออกมา คงจะน้อยมากๆระดับน้อยกว่า 1% และไม่ได้เกิดกับทุกคน ส่วนมากจะเกิดกับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มียาหลายชนิดที่สามารถเกิดปฏิกิริยาต่อกัน และพบมากในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV
เวลาตรวจเลือด ทางแล็บจะนับปริมาณเม็ดเลือดขาวทั้งหมดและแจกแจงว่ามีเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆมีกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าระดับนิวโตรฟิลเริ่มน้อยกว่า 1500 เริ่มระมัดระวังการติดเชื้อได้ และถ้าน้อยกว่า 500 ก็วินิจฉัยได้เต็มที่ซึ่งรุนแรงแล้วด้วย
เม็ดเลือดขาวต่ำ สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ ติดเชื้อครับและมักจะรุนแรง อาจมีเชื้อที่ไม่ค่อยพบบ่อย วัณโรค ปรสิต หรือเชื้อราต่างๆได้ ในกรณีที่มีการติดเชื้อแล้ว แนะนำว่าควรหยุดยาที่เป็นสาเหตุ รักษาการติดเชื้อให้ดี เฝ้าระวังภาวะของหัวใจและหลอดเลือดอย่าให้ล้มเหลวครับ
ให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อกว้างๆ ประคับประคองให้ดี เมื่อเอาสาเหตุของเม็ดเลือดขาวต่ำออกไปแล้ว เม็ดเลือดก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้น ยกเว้นในกรณีที่การติดเชื้อรุนแรงมาก กว่าจะรอให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงด้วยตัวเองจนกำจัดเชื้อได้ดีๆนั้น ร่างกายอาจแย่ไปก่อนหรือเสียชีวิต จึงมีการให้สารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว ที่ชื่อ G-CSF หรือ GM-CSF เพื่อกระตุ้นให้สร้างเร็วพอ ***แต่ไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตนะครับ*** แค่ร่นระยะเวลาที่รอเม็ดเลือดขาวเพิ่มเท่านั้นเอง
ทางที่ดีคือเราควรรู้ยาที่มีผลข้างเคียงแบบนี้และเมื่อรู้แล้วก็ต้องเฝ้าระวังและเมื่อเกิดปัญหาก็ต้องรีบตระหนักและแก้ไข ไม่ให้สายเกินไปครับ
ที่มา : Am J Hematol, 2009 : 84; 428-34
Ann Clin Lab Sci, 2004 : 34; 131-37
Wintrobe Clinical Hematology
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น