18 พฤษภาคม 2559

เรื่องราวเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่

เรื่องราวเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่

ผมเขียนบทความนี้จากแรงโมโห หงุดหงิด เรื่องราวเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ ตอนแรกจะลงให้ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก แต่วันนี้เดินผ่านควันบุหรี่ตรงป้ายห้ามสูบบุหรี่ พบบุหรี่ในกระเป๋าเสื้อผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง และผู้ป่วยที่เพิ่งสวนหัวใจบอกว่า เขาขอตายไปพร้อมบุหรี่ เลยตัดสินใจเอามาลงก่อน หรือจะต้องจัดเวิร์กชอปมีตติ้งกันอีกรอบ จัดคลินิกเลิกบุหรี่มานาน ก็ยังไม่เวิร์กนัก

เดิมทีนั้นเราคงทราบกันแล้วว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงในหลายๆโรค และเมื่อเลิกบุหรี่แล้วปัจจัยเสี่ยงและโอกาสการเกิดโรคจะลดลง โรคที่เป็นอยู่ก็ไม่รุนแรงมากขึ้น การเลิกบุหรี่ด้วยใจสำเร็จได้ไม่มากและกลับมาสูบใหม่บ่อยๆ การเลิกแบบใช้คลินิกเลิกบุหรี่ดีกว่า ประสิทธิภาพสูงกว่า และการใช้ยาช่วยเลิกนั้นดีกว่าไม่ใช้ยา โดยยา varenicline ดีกว่ายา bupropion เล็กน้อย ตอนนั้นยาเลิกบุหรี่มันแพงกว่าบุหรี่ ตอนนี้ราคายาลดลงและราคาบุหรี่แพงขึ้น น่าจะส่งผลดี แต่ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับความปลอดภัยของยาสองตัวนี้ในเรื่องภาวะทางจิตเวชทึ่อาจแย่ลง และอาจมีผลต่อหัวใจสำหรับยา varenicline
เวลาผ่านไปหลังจาก องค์การอาหารและยาเตือนเรื่องระวังการใช้ยา varenicline ตอนนี้มีข้อมูลใหม่ๆออกมาเยอะเกี่ยวกับยาจึงมาอัพเดตให้ฟังกัน ผมไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆนะครับ ใช้ทุกวิธีที่จะทำให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ให้ได้ ผู้ป่วยเลิกได้ โรคต่างๆจะดีขึ้นเยอะ สุขภาพดี ที่สำคัญผมจะได้ไม่ต้องมาทนสูดควันบุหรี่เป็น ผู้สูบมือสอง อย่างทุกวันนี้ ( มีแต่ angry bias ล้วนๆ)

สำหรับช่วงปีนี้ มีข้อมูลที่สนับสนุนการเลิกบุหรี่ออกมามากมาย ผมขอเล่าเป็นเรื่องราวเดียวกันนะครับ จากที่เราสนับสนุนให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่แบบหักดิบ เตรียมเลย วันนี้นะวันนั้นนะ ซึ่งเป็นกระบวนการมาตรฐานนะครับ แต่ผู้ป่วยก็มักจะค่อยๆหยุด ไม่เด็ดเดี่ยวพอ คุณหมอที่อังกฤษจึงทำการศึกษาว่าเลิกหักดิบกับค่อยๆเลิกจะได้ผลต่างกันไหม ก็ปรากฏว่าเลิกทันทีเลยโดยใช้แผ่นแปะนิโคตินช่วย ดีกว่าค่อยๆเลิกครับ เลิกง่ายกว่ากลับมาสูบน้อยกว่า เขาบอกว่าค่อยๆเลิกนั้นมันต้องมีกระบวนการมากทำให้ยุ่งยากกว่า แต่พอไปดูผลจริงๆ ทั่งสองวิธีเลิกได้ประมาณ 50% พอๆกัน และกลับมาสูบใหม่ อีกเกือบๆ50% ในความเห็นส่วนตัวที่ทำงานเลิกบุหรี่มาพอควร ผมจะให้เลือกเอาครับ จะแบบใดก็ได้ขอให้ตั้งใจเลิก โดยกำหนดวันชัดเจนจะค่อยๆหยุดหรือไปหยุดวันนั้นก็ตามใจ และที่ทำมาก็เหมือนกับการศึกษานี้นะครับคือเลิกเลย ทันทีสำเร็จมากกว่า
การศึกษาที่ว่าไม่ใช้ยานะครับ แต่ปัจจุบันเรายอมรับกันแล้วว่าการเลิกบุหรี่โดยใช้ยานั้นประสบผลสำเร็จสูงกว่า ก่อนหน้านี้ผู้ใช้ยามีความกังวลว่ายาจะมีผลข้างเคียงต่อหัวใจและผลทางจิตเวช ทางองค์การอาหารและยาของอเมริกาได้ออกมาบอกคำเตือนเลยว่า ถ้าจะใช้ต้องเฝ้าระวังสองเรื่องนี้ให้ดีนะ ทำให้การใช้ยาอดบุหรี่ไม่มากเท่าที่ควร ส่งผลให้การเลิกบุหรี่ประสบผลสำเร็จน้อย ปีนี้ได้มีการศึกษาขนาดใหญ่ๆออกมาเพื่อตอบโจทย์นี้ สรุปว่า ยังไม่มีข้อมูลใดๆเชื่อมโยงเรื่องโรคหัวใจกับยาอดบุหรี่ varenicline เป็นการรวบรวมการศึกษาหลายๆอันมาวิเคราะห์ และมีการใช้ยาอดบุหรี่ ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพราะเส้นเลือดหัวใจตีบ ปรากฏว่าช่วยทำให้อดบุหรี่ได้มากขึ้นโดยผลข้างเคียงไม่ได้มากอย่างที่คิด (ก่อนหน้านี้ทดลองใช้ยา bupropion ผลไม่ดีเท่านี้) เราก็ค่อนข้างสบายใจแล้วว่า การอดบุหรี่โดยใช้ยานั้นโอกาสสำเร็จสูงขึ้น โดยอันตรายไม่เพิ่มอย่างที่กลัวกัน

อ้าวแล้วผลทางจิตใจล่ะ ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการฆ่าตัวตาย ซึมเศร้า จนทางอย. ออกมาเตือนเหมือนกัน ก็ศึกษาให้รู้จริงไปเลย ใช้ยา varenicline,bupropion,หมากฝรั่ง แผ่นแปะ,หรือใช้ยาหลอก เทียบกันเลย คนปกติหรือคนที่เป็นโรคทางจิตเวชที่ติดบุหรี่ เคยเลิกมาหลายหนแล้วไม่สำเร็จ เอามาจัดกลุ่ม ให้ยาแล้วเทียบกัน ต่างกันไหม ยาทำให้แย่จริงหรือ ก็ปรากฏว่า #ในคนที่จิตใจปกติใช้ยาตัวไหนก็แทบไม่เกิดปัญหาเลย ในคนที่เป็นโรคจิตใจอยู่แล้วใช้ยาตัวไหนก็เกิดไม่มาก ไม่ต่างกัน แต่คนที่จิตใจปกตินั้นมีผลเสียด้านจิตเวชน้อยกว่าคนที่เป็นโรคจิตเวชอยู่แล้ว แบบน้อยมากๆ พอที่จะบอกได้คร่าวๆว่า ยาไม่ได้มีความน่ากลัวอย่างที่คิด ควรระวังการใช้ยาในคนที่มีปัญหาจิตเวชอยู่เดิมเท่านั้น
ก็จะสรุปด้วยข้อมูลที่มี บวกกับประสบการณ์การทำคลินิกเลิกบุหรี่ **ใครตามเพจผมมาตั้งแต่ต้นๆจะทราบว่าผมเขียนเรื่องการเลิกบุหรี่บ่อยมาก และจัดมีตติ้งเรื่องการเลิกบุหรี่มาแล้ว** ก็จะสรุปว่า ถ้าใจพร้อมจะเลิก ให้กำหนดวันแล้วเลิกเลย เข้าคลินิกมีคนแนะนำติดตาม ดีกว่าหักดิบทำเองครับ การใช้ยาช่วยให้ประสบความสำเร็จสูงขึ้นมาก (เกิน 50%) ณ ตอนนี้คงไม่ต้องกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากยามากนัก จากการศึกษาที่กล่าวมา

* ผมว่าเสียตังค์มาอดบุหรี่แพงทีเดียว ดีกว่าเสียตังสูบบุหรี่ถูกๆไปทั้งชีวิต
* ในภาพรวม ผลเสียจากการใช้ยาน้อยมาก เทียบไม่ได้เลย กับถ้าเราไม่ใช้ยา แล้วการเจ็บป่วยจากบุหรี่
ที่มีผลมหาศาล
* ย้ำว่าไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงใดๆกับตัวยา ผมแค่เหม็นกลิ่นบุหรี่...ก็แค่นั้น

มาจาก 1. EVITA trial
2. Systemmatic review of varenicline ใน J Am Heart Assoc 2016;5:e002849
3. Gradual or Abrupt cessation จาก annals of internal meedicine,vol 162 ,no 9

สามอันนี้ free ครับ ส่วน EAGLEs trial ศึกษาผลทางจิตเวชใน Lancet 22 เมษายน นี้ ต้องเสียเงิน
ใครอยากอ่านเต็มก็ หลังไมค์มาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม