15 พฤษภาคม 2559

การซักประวัติ

การซักประวัติ

การเรียนแพทย์ การทำงานเป็นแพทย์ การคิดวิเคราะห์ทางการแพทย์ และการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ เราเริ่มจากสิ่งนี้ครับ การซักประวัติ วันนี้เราจะมาดูว่าหมอๆเขาซักประวัติอะไร และนักเรียนแพทย์เขาเขียนอะไรในใบบันทึกประวัติ

1. อาการสำคัญ คืออาการที่ท่านป่วยและตัดสินใจมาหาหมอวันนี้นั่นเองครับ เช่นเมื่อสองวันก่อนท่านชาในหน้าซีกซ้ายทันที รออยู่สองวันไม่เห็นดีขึ้น ก็เลยนั่งรถมาหาหมอวันนี้ อาการสำคัญก็คือ ชาใบหน้าซีกซ้ายนั่นเอง และอาการสำคัญนั่นจะต้องมีการระบุเวลากำกับไว้ด้วย เช่น ท่านปวดท้องเรื้อรังมา หกสัปดาห์แล้ว เมื่อคืนปวดรุนแรงมากผิดจากเดิม อาการสำคัญคือ ปวดท้องมากขึ้นเมื่อคืนนี้ ครับ
อาการสำคัญจะเป็นประเด็นหลักที่เราใช้วินิจฉัยโรคครับ ถ้าเราระบุอาการสำคัญผิด หรือหมอเข้าใจอาการสำคัญผิด ...ก็จะกลายเป็น "สำคัญผิด" ไปเลยครับ...

2. ประวัติปัจจุบัน คือเรื่องราวการเจ็บป่วยที่มาขยายความหรือเกี่ยวข้องกับอาการสำคัญอันนั้น เพื่อให้ได้รายละเอียดของโรคที่ชัดเจน หมอจะใช้เวลากับประวัติปัจจุบันนี้มากๆเลยครับ จะช่วยวินิจฉัย ตัดโรคที่ไม่ใช่ ยืนยันโรคที่คิด เช่น ท่านเจ็บแน่นหน้าอกมาสองชั่วโมง หมอจะถามว่า แน่นตรงบริเวณไหน แน่นนานกี่นาที แน่นสัมพันธ์กับท่าทางหรือไม่ ทำอย่างไรแน่นถึงดีขึ้น เคยเป็นมาก่อนไหม แน่นร้าวไปที่ไหนบ้างหรือไม่ กินยาอะไรอยู่บ้าง
บางทีก็จะถามถึงรายละเอียดยิบย่อยเพื่อยืนยันข้อมูล ขั้นตอนนี้สำคัญหมอต้องให้ความสำคัญ อดทน เปิดโอกาสให้คนไข้ได้เล่าอย่างละเอียด ส่วนท่านเองก็อธิบายไปเลยเป็นภาษาของท่าน สิ่งที่ท่านคิด เดี๋ยวหมอเขาจะไปแปลเป็นภาษาหมอเองครับ

3. ประวัติอดีต ประวัติส่วนนี้คือประวัติทางการแพทย์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับอาการสำคัญในครั้งนี้ แต่ก็อาจส่งผลอ้อมๆได้ ได้แก่ เคยผ่าตัดรักษาโรคใด มีโรคประจำตัวใดๆหรือไม่ หรือเคยตรวจพบอาการผิดปกติใดๆมาก่อนหรือไม่ อย่างเช่น ท่านคลื่นไส้อาเจียนมากในสามสี่วันมานี้ และท่านมีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน หมอประจำตัวเพิ่งเพิ่มยาให้ ดูๆไม่น่าเกี่ยวกับคลื่นไส้อาเจียนนะครับ แต่ถ้ามีประวัติตรงนี้อาจต้องคิดถึงอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเบาหวาน หรือจากตัวโรคเบาหวานเอง

4. ประวัติส่วนตัว ได้แก่ อาชีพ ภูมิลำเนา บางทีก็ช่วยมากนะครับ เช่น หอบบ่อยๆและบ้านอยู่ภาคเหนือ อาจเป็นถุงลมโป่งพองจากหมอกควัน อาชีพเลี้ยงกระต่ายกับการติดเชื้อ tuleramia ประวัติการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า การใช้สารเสพติด ที่ช่วยบอกการพยากรณ์โรค ความเสี่ยงการเกิดโรค
ประวัติการมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะหลายคู่นอน สวมถุงหรือไม่ หมอก็ค่อยๆถามนะครับ ดูซ้ายขวานิดนึง คนไข้ก็อย่าคิดว่าหมอละลาบละล้วงนะครับ เพื่อการวินิจฉัยครับ
ประวัติการตั้งครรภ์ ประวัติประจำเดือนในสุภาพสตรี อันนี้อาจไม่ได้ถามเป็นประจำนะครับ

5. ประวัติครอบครัว จะหมายถึงโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมนะครับ ไม่ใช่ประวัติครอบครัวแบบ มีกี่บ้าน ลูกชายทำงานอะไร หลานสาวอยู่โรงเรียนอะไร แต่จะดูถึงโรคบางอย่างเช่น มีญาติเป็นโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่อายุน้อยๆ พี่น้องทุกคนเป็นถุงน้ำที่ไต โรคพวกนี้จะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือ มีโอกาสเป็นโรคสูงขึ้นถ้ามีเครือญาติสายตรงเป็นโรค
อีกอย่างคือโรคที่อาจติดต่อกันเมื่ออยู่ใกล้กัน เช่น ลูกมีประวัติเป็นสุกใส เมื่อสัปดาห์ก่อน หรือคนงานในบ้านเป็นวัณโรค บางทีท่านก็บอกหมอไปเลยก็ดีนะครับ ส่วนมากเวลาถามมักจะไม่ค่อยมี ถ้ามันไม่เกี่ยวข้องก็ดีกว่า คิดว่าไม่เกี่ยวแล้วไม่บอกนะครับ

6. ประวัติยา ยุคสมัยนี้สำคัญนะครับเพราะการคมนาคมสะดวก บางทีท่านไปรักษามาหลายที่แล้ว ได้รับยาอะไรมาบ้าง หรือยาที่ใช้ประจำอยู่นั้นมีอะไรบ้าง ถ้าจำชื่อไม่ได้ก็เอายาทั้งหมดมาดูกันเลยครับ หมอจะได้ทราบว่าท่านผ่านการรักษาอะไรมาบ้าง อาการที่พบเป็นจากการใช้ยาหรือไม่ หรือโรคมันดีขึ้นแล้วจากยา และยังช่วยให้ไม่จ่ายยาซ้ำซ้อนอีกด้วยครับ
อีกอย่างคือ ถ้าท่านแพ้ยาใดๆก็กรุณาแจ้งให้ทราบเลย มีบัตรแพ้ยาก็ยื่นเลยครับ จะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดขึ้น และรวมถึงยาซื้อเอง ยาลูกกลอน ยาสมุนไพรต่างๆด้วยครับ บอกให้หมดเลย

7. ประวัติอาการตามระบบ ถามเพื่อคัดกรองแยกโรค ก็ถ้าถามครบก็ดีครับเพียงแต่มันจะใช้เวลานานนิดนึง เช่น ไข้ไอเหนื่อย เป็นมา 4 เดือน พอถามประวัติเสร็จหมดก็จะคัดกรองคร่าวๆ เช่น ปวดตามข้อไหม มีตุ่มก้อนตามตัวไหม เล็บเป็นอย่างไร ปวดท้องไหม ..ฯลฯ
ส่วนมากจะเป็นคำถามปลายปิด yes or no เพื่อความกระชับ รวดเร็วและตรงประเด็น

การซักประวัติที่ครบถ้วน ครบถ้วนไม่ได้หมายถึงทั้งหมดในสากลโลกนะครับ ครบถ้วนคือสมควรแก่ความจำเป็นแห่งการวินิจฉัยและรักษา ก็จะสามารถวินิจฉัยโรคได้ 80% เลยทีเดียว นักเรียนแพทย์ถามเยอะหน่อย อาจารย์แพทย์ที่เก่งกาจอาจถามไม่กี่คำถาม ประมวลผล มองด้วยตา เหมือน เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ก็สามารถวินิจฉัยได้ไม่ผิดทาง เผลอๆแม่นกว่าตรวจพิเศษใดๆอีกครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม