14 มีนาคม 2559

ยาโด๊ปเมลโดเนียม

ยาโด๊ปเมลโดเนียม

มาเรีย ชาราโปว่า ถูกตรวจโด๊ปยาเมลโดเนี่ยม ข่าวฮือฮาเมื่อสัปดาห์ก่อน เนื่องจากพิธีกรเล่าข่าวชื่อดังได้ยุติบทบาทไป ผมจึงขอเล่าใน อายุรศาสตร์เช้านี้ แทนที่เขานะครับ
ยาเมลโดเนียมนั้นเป็นยาที่ได้รับอนุมัติการใช้ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ยังไม่ได้รับการอนุมัติใน US FDA ซึ่งหินเอามากๆ ครับ ยาใช้ในการรักษาอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และใช้ช่วยรักษาอาการหัวใจวายเรื้อรัง มีผลเพิ่มความทนทานในการออกแรง แต่ไม่ลดอัตราการตาย พูดตรงๆผมเองก็เพิ่งรู้จักเจ้า meldonium ก็จากข่าวนี้แหละครับ เรียกว่าใหม่ๆอย่าง ivabradine หรือ sacubutril ยังดังน้อยกว่าเจ้านี่เลย ตัวยามันออกฤทธิ์ซับซ้อนเกี่ยวกับการสังเคราะห์สาร L-carnitine ประมาณว่าช่วยให้เซลกล้ามเนื้อหัวใจใช้กลูโคสได้ดี ซึ่งปลอดภัยกว่าไปใช้กรดไขมันที่มีมลพิษสูงกว่า โดยเฉพาะในช่วงเวลาเจ็บหน้าอกจากการขาดเลือด ส่วนมากเป็นงานวิจัยในเชิงชีวเคมีมากกว่าการทดลองในคน และส่วนมากก็อยู่ในประเทศรัสเซียหรือกลุ่มประเทศบอลข่าน

เอ..แล้วมันมามีผลต่อการโด๊ปอย่างไรล่ะ องค์กร world anti-doping agency ได้ประกาศเฝ้าติดตามยานี้มาประมาณ 1 ปีและได้ประกาศเป็นยาโด๊ปเมื่อ มกราคม 2016 นี่เองครับ องค์กรนี้เขาบอกว่ายาตัวนี้มันทำให้นักกีฬามีความทนทานมากขึ้น ฟื้นตัวเร็วขึ้น ทนต่อสภาพความตึงเครียดได้ดี และกระตุ้นการสั่งงานของสมอง และนักกีฬาที่ถูกตรวจโด๊ปนั้นเกือบ 90% มาจากรัสเซียที่เหลืออยู่ที่ยุโรปตะวันออก (ยาผลิตที่ประเทศลัตเวีย) ผู้ผลิตเองก็บอกว่า มันไม่เห็นมีข้อมูลชัดๆเลยว่ายาของเขาจะไปมีผลแบบนั้น เขาสร้างมารักษาโรคหัวใจนะ  แต่ยาของคุณก็ยังไม่ได้พิสูจน์ชัดเจนว่ามีประโยขน์ตามหลักการของการศึกษาเชิงประจักษ์เช่นกัน สรุปว่าใช้โด๊ปได้จริงไหมก็ยังไม่ชัดเจน
แต่แนวคิดของการตรวจโด๊ปกับการแพทย์ต่างกันนะครับ ทางการแพทย์เราต้องพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยการทดลองที่เป็นรูปแบบชัดเจน จึงจะเอามาใช้ได้แถมใช้แล้วก็ยังต้องระวังผลเสียอย่างต่อเนื่อง แต่การตรวจโด๊ปนั้นแค่ตรวจพบ"ร่องรอย" การใช้สารแค่นี้ก็ถูกสอบสวนและถูก provisional banned หรือแบบราชการไทยก็ย้ายเข้ากรมไปก่อน แล้วค่อยรอผลการสอบสวน จะผิดจริงหรือไม่จริงยังไม่รู้แต่โดนแบนและอาจถูกกดดันจากสื่อต่างๆด้วย

และสารกระตุ้นก็มีเป็นกระตั้ก ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดัน ฮอร์โมนอินซูลิน ดูของจริงที่ wada-ama.org และมียาที่เราใช้กันบ่อยๆอยู่จำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่นักกีฬาต้องทราบ หมอประจำตัวนักกีฬาก็ต้องทราบ

ปัญหาคือ ขาราโปว่าบอกว่า หมอของเธอให้กินยานี้มา 10 ปีแล้ว ชาราโปว่าเป็น coronary artery disease เป็นโรคหัวใจมาสิบปีแล้วหรือ ตอนนี้เธออายุ 28 ปีหมายความว่าเธอมีโรคหัวใจมาตั้งแต่ 18 ปี เคยมีข่าวไหมเนี่ย แล้วทำไมใช้ยาที่หลักฐานน้อยล่ะ นี่ชาราโปว่านะสตางค์ก็มี แถมเป็นนักเทนนิสท็อปไฟว์ หมอที่รักษาจะไม่สวนหัวใจใส่อุปกรณ์เชียวหรือ สำหรับคนดังๆที่เป็นโรคหัวใจในวัยรุ่นอย่างนี้ หมอเขาจะใช้ meldonium แทนยามาตรฐานกระนั้นเชียวหรือ ประเด็นนี้น่าคิด ผมไม่ได้ว่าชาราโปว่าไม่พูดความจริงแต่หลักฐานแวดล้อมมันชวนให้คิดครับ

แลนซ์ อาร์มสตรอง นักจักรยานทางไกลชื่อดังบอกว่า นักกีฬาก็โด๊ปกันทั้งนั้นขึ้นกับว่าจะจับใครได้เท่านั้น เหมือนคำพูดของดีเอโก้ มาราโดน่าที่ยืนยันว่าเขาถูกฟีฟ่าเล่นงาน แหมแต่น่าคิดดีนะครับ อีกมุมหนึ่ง ขยับจากยาที่ต้องเฝ้ามอง มาเป็นประกาศชัดเลยว่าเป็นสารกระตุ้น เมื่อมกราคม 2559 แล้วชาราโปว่าก็โดนเล่นงานในอีก 1 เดือนให้หลัง ผมไม่รู้ว่าเขากับทฤษฎีสมคบคิดไหมนะ ช่วงนี้การเมืองโลกเซซวนกว่าการเมืองไทยมากมายนัก หรือทั้งหมดผมดู mission impossible มากเกินไป

การใช้ยานั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ เป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ หลายๆท่านกล่าวว่าการใช้ยาไม่มีถูกผิด มีแต่เหมาะสมกับตัวเลือก เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม