14 พฤศจิกายน 2566

ใบขับขี่ โรคลมชัก

 เรื่องเล่าข้างถนน : ใบขับขี่

เวลาขับรถทางไกล หนึ่งในเหตุที่ต้องพบแน่นอนคือการเรียกตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องตรวจใบอนุญาตขับขี่ ที่ผู้ขับขี่ต้องพกพาตลอดการขับขี่ แสดงต่อเจ้าพนักงานได้เสมอ ต้องไม่หมดอายุ ไม่อยู่ในช่วงการพักใช้ และนี่เป็นสิ่งที่คุณตำรวจจะตรวจเป็นอย่างแรก เพื่อยืนยันตัวตนและความถูกต้องในการขับขี่
ก่อนจะโดนด่านต่อไป ข้อหาอื่นต่อไป
การไม่พก หรือไม่สามารถแสดงได้ มีความผิดปรับไม่เกิน 1000 หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งจับทั้งปล้ำ (พรบ จราจรทางบก 2522) โดยให้ไปเปรียบเทียบปรับกับพนักงานสอบสวน
พอก่อน..เดี๋ยวกลายเป็น นิติศาสตร์ ง่ายนิดเดียว เรากลับมาเรื่องใบขับขี่
โรคที่เรามักจะบอกคนไข้เสมอว่า ไม่ควรขับขี่รถยนต์ คือ โรคลมชัก ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัวหรือรถโดยสารก็ตามแต่ เนื่องจากเราไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ชักได้ และอาจเกิดอุบัติเหตุ คำแนะนำของสมาคมรักษาโรคลมชักทั่วโลกก็มีคำแนะนำนี้ และหากขับขี่แล้วเกิดเหตุ อาจถือเป็น "การกระทำ" ตามกฏหมายอาญามาตรา 59 ได้
แล้วขับรถได้ไหมล่ะ แล้วถ้าจำเป็นจะต้องขับ ทำได้ไหม..
คำตอบคือ สามารถทำใบอนุญาตขับขี่ได้นะครับ ตามที่กรมการขนส่งทางบกและแพทยสภา ได้ทำการตกลงร่วมกันว่า หากจะออกใบอนุญาตให้ผู้ที่เป็นโรคลมชัก จะต้องออกใบรับรองแพทย์เป็นการเฉพาะที่มีการระบุว่าโรคลมชักสามารถควบคุมได้ต่อเนื่องและไม่ชักมาเป็นเวลา 2 ปี โดยต้องระบุข้อความนี้ในใบรับรองแพทย์มาตรฐานที่ใช้ประกอบการทำใบขับขี่
ส่วนใบรับรองแพทย์จากแพทย์ผู้รักษาโรคลมชักว่าควบคุมชักได้อย่างน้อยสองปี เป็นเพียงเอกสารประกอบ หลักคือใบรับรองแพทย์ทำใบขับขี่มาตรฐานของแพทยสภา (รับรองได้เพียง 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกเอกสาร)
หลายมลรัฐในอเมริกาก็อนุญาตด้วย และใช้เกณฑ์ seizure-free period 1-2 ปีเช่นกัน ทางการแพทย์เราก็เริ่มพิจารณาลดยาหยุดยากันชัก เมื่อไม่ชักต่อเนื่อง 1-2 ปีเช่นกัน
สรุปว่า ไม่ควรขับรถใด ๆ ครับ ยกเว้นจำเป็นจริงจริ๊ง และต้องให้คุณหมอรับรองอาการชักด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม