19 พฤษภาคม 2566

น้ำหนักเกิน ไม่เท่ากับ อ้วน

 น้ำหนักเกิน ไม่เท่ากับ อ้วน

โรคอ้วน จะประกอบด้วยน้ำหนักที่เกิดจากพลังงานสะสมมากกว่าใช้ และการจัดการพลังงานสะสมนี้ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ฮอร์โมนต่าง ๆ มีการหลั่งสารอักเสบหลายชนิดออกมา เมื่อภาวะนี้เกิดเรื้อรัง การเปลี่ยนแปลงจะมากขึ้น ๆ จะถอยกลับยากขึ้นตามลำดับ
ผลแห่งการเปลี่ยนแปลงอักเสบไม่รุนแรงแต่เรื้อรังนี้ ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะดื้ออินซูลิน การควบคุมเกลือแร่ที่ไตบกพร่อง การอักดสบของเซลล์ไขมันและสารพัด เราจึงเรียกโรคที่เกิดจากกระบวนการทั้งหมดนี้ว่า โรคอ้วน (obesity)
ส่วนน้ำหนักเกิน อาจจะเกิดการอักเสบเล็กน้อย สามารถย้อยกลับได้หากควบคุมพลังงานได้ดีพอ ความเสียหายของฮอร์โมน เซลล์ และการอักเสบยังไม่มาก แต่หากปล่อยไว้ก็จะเข้าสู่โรคอ้วน
องค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ ใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกายเพราะว่าง่ายดี แพร่หลาย และสามารถนำไปใช้ในการรักษาแล้วเห็นผล โดยเรียกดัชนีมวลกายที่เกิน 25-30 ว่า น้ำหนักเกิน และเรียกเกิน 30 ว่าอ้วน ที่จะแบ่งขึ้นไปอีกว่ารุนแรงเพียงใด
การรักษาโรคอ้วนต่าง ๆ เช่น การใช้ยาลดน้ำหนัก การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ การใส่บอลลูนกระเพาะ การบายพาสทางเดินอาหาร ที่บอกว่าได้ผลดี … เขาทำการศึกษาในคนที่เป็นโรคอ้วนนะครับ คือ น้ำหนักและดัชนีมวลกายเข้าเกณฑ์ และมีความเสี่ยงต่าง ๆ จากการอักเสบเรื้อรังของโรคอ้วน
ผลดีของการรักษาต่าง ๆ จึงไม่ได้ขึ้นกับ "น้ำหนักที่ลดลง" แต่รวมไปถึงสามารถไปปรับกระบวนการอักเสบของเซลล์ไขมัน เซลล์ผนังหลอดเลือด เซลล์ตับ ปรับระดับฮอร์โมนและความไวของฮอร์โมน ปรับการไซโตไคน์ในการอักเสบ จนทำให้ … โรคแทรกซ้อนจากภาวะอ้วนลดลง อัตราการเสียชีวิตลดลง ไม่ใช่แค่น้ำหนักลดลง
แต่การรักษาพื้นฐานคือการควบคุมพลังงานเข้า หรือควบคุมอาหาร และพลังงานออก คือ การออกแรงและออกกำลังกาย ยังคงต้องทำต่อไป เพราะปฐมเหตุแห่งอ้วนคือ พลังงานเข้า มากกว่าที่ใช้และสะสม
ส่วนคนที่น้ำหนักเกิน … จึงใช้แค่การควบคุมพลังงานไงครับ หากไปใช้การรักษาสำหรับโรคอ้วน อาจไม่เห็นผล ไม่คุ้มค่า หรืออาจเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่าคนอ้วนครับ อย่าไปใช้การรักษาต่าง ๆ ของโรคอ้วนมาใช้เพียงแต่ "ลดน้ำหนัก" นะครับ
และเป็นคำอธิบายว่า หากคุณแค่น้ำหนักเกิน ควรไปควบคุมอาหาร ไม่ใช่ใช้ยาหรือการผ่าตัด
แต่ถ้าคุณเป็นโรคอ้วน โดยเฉพาะอ้วนรุนแรง ต้องใช้ทั้งคู่ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม