09 กันยายน 2564

รายงานประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวกจากการฉีดจริงในประเทศชิลี พร้อมบทวิเคราะห์

 รายงานประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวกจากการฉีดจริงในประเทศชิลี พร้อมบทวิเคราะห์

เพจเราได้นำเสนอเรื่องของวัคซีนโควิดไปครบทุกชนิดที่จำหน่ายแล้วนะครับ วัคซีนทุกตัวมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพ (vaccine efficacy) สำหรับการป้องกันการป่วยแบบมีอาการได้ดีและผ่านเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกทุกตัว และในเวลาต่อมาก็มีผลการศึกษาที่มาจากการฉีดจริงในสถานการณ์จริง เพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของวัคซีน (vaccine effectiveness) จากการศึกษาแบบเก็บข้อมูลไปข้างหน้า (prospective cohort study) อย่างที่เราเห็นข้อมูลวัคซีน BNT162b2 จากอิสราเอล

วันนี้ผมจะมาสรุปแบบสั้นจากรายงานประสิทธิผลและบทสรุปจากผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ฉบับ 2 กันยายน 2021 ส่วนผลสุดท้ายจะเป็นใครที่มาด้อยค่าวัคซีน หรือตัววัคซีนจะแสดงผลประจักษ์ใดออกมา เชิญท่านพิจารณาเอาเองเถิดครับ

การเก็บข้อมูลในประเทศชิลี ด้วยการระดมฉีดวัคซีนโคโรนาแวกซ์ (ขอเรียกซิโนแวกแล้วกัน) ในช่วงเวลาเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ถึงเดือนพฤษภาคม 2021 โดยคิดกลุ่มตัวอย่าง 10.2 ล้านคน ระดมฉีดไปได้ ประมาณ 5 ล้านคน คิดเป็นเข็มแรก 5.3% เข็มสอง 41% ประสิทธิผลคิดมาจาก hazard ratio ของการติดเชื้อแบบมีอาการระหว่างคนที่รับวัคซีนกับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน พบว่า

ลดการติดเชื้อแบบมีอาการ 63.7% แต่ถ้าฉีดเข็มเดียวจะลดลงเพียง 17.2%

ลดการป่วยรุนแรง 86.5% แต่ถ้าฉีดเข็มเดียวจะลดลงเพียง 40.3%

ลดการป่วยวิกฤตในไอซียู 90.2% แต่ถ้าฉีดเข็มเดียวจะลดลงเพียง 45.3%

ลดอัตราการเสียชีวิต 86.7% แต่ถ้าฉีดเข็มเดียวจะลดลงเพียง 46.05%

ประเด็นคือ มีผู้สูงวัยและผู้ทีมีความเสี่ยงโรคประจำตัวอยู่ในการติดตามประมาณ 12% ส่วนผลการศึกษาในกลุ่มผู้สูงวัยออกมาไปทางเดียวกันกับผลวิจัยโดยรวม

ตัวเลขไปในทิศทางเดียวกันกับตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้จากการศึกษาวิจัย (randomized controlled trial) สรุปว่าวัคซีนซิโนแวกสามารถลดการป่วยการตายจากโรคโควิด-19 ได้จริงอย่างที่ทางผู้ผลิตกล่าวอ้างจากการศึกษาวิจัย เมื่อฉีดครบสองเข็ม

**ย้ำมาก ว่าต้องสองเข็ม เพราะผลการปกป้องเพียงเข็มเดียวดูด้อยมาก ไม่ว่าจากการศึกษาวิจัยหรือจากการเก็บข้อมูลในชีวิตจริง**

แล้วตกลงวัคซีนตัวนี้ยังควรใช้ ยังน่าใช้หรือไม่ เมื่อเทียบกับวัคซีนอื่น ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ (น่าสนใจกว่างานวิจัยหลักเสียอีก) จากสองผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกที่ทำงานเรื่องวัคซีนโควิดคือ Annelies Wilder Smith และ Kim Mulholland ทั้งสองท่านอยู่ในสาขาการทำงาน โรคเขตร้อนและโรคจากการเดินทาง และ โรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก ให้คำวิจารณ์สถานการณ์และการศึกษานี้ได้อย่างน่าสนใจว่า

1. สำหรับในสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในขณะนี้ ถือว่าวัคซีนซิโนแวกยังช่วยลดอัตราการป่วยและอัตราการเสียชีวิตของประชากรโลกลงได้ (ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นมุมมองของผู้ที่ต้องดูแลการระบาดในภาพรวมทั้งโลก อาจจะต่างจากระดับประเทศหรือระดับบุคคล)

2. แม้จะไม่มีผลการศึกษาวิจัยเทียบกันตรง ๆ แต่ผลการติดตามประสิทธิผลในสถานการณ์จริง ก็พอบอกได้ว่า ประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวกน้อยกว่าวัคซีนชนิด mRNA และวัคซีนไวรับเวกเตอร์ของแอสตร้าซีเนก้า ว่าจะเรื่องกันติด กันป่วย กันตาย โดยเฉพาะเรื่องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการที่แทบไม่มีการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน มีแต่วัคซีน mRNA ที่แสดงผลอันนี้อย่างมีหลักฐานเชิงประจักษ์

3. วัคซีนซิโนแวก แม้ว่าประสิทธิผลจะไม่สูงแต่ยังเป็นวัคซีนหลักอีกชนิดที่จะช่วยแก้ไขการระบาดทั่วโลกของโควิด เนื่องจากสามารถกระจายไปในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ ที่อาจเข้าไม่ถึงวัคซีนตัวอื่น (ไม่มีการกล่าวถึง vaccine diplomacy แต่อย่างใด)

4. สำหรับเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน นับว่าปลอดภัยสูง ไม่ต่างไปจากวัคซีนตัวอื่น ๆ ที่มีใช้ในปัจจุบัน ซึ่งตรงกันกับการศึกษาวิจัย และน่าจะตอบคำถามได้ดีกว่าการศึกษาวิจัยด้วย เพราะปริมาณการฉีดมากกว่าและติดตามผลยาวนานกว่า

5. ยังขาดข้อมูลเรื่องการปกป้องในสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์และเป็นที่กังวลกัน และการศึกษาเรื่องระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีด พบว่าลดลงเร็ว อาจทำให้เกิดการติดเชื้อระลอกใหม่หรืออาจจำเป็นต้องฉีดเข็มสาม (อันนี้แหละน่ากังวล และยังไม่มีข้อมูลใด ๆ ที่ใหม่กว่าออกมาอีกเลย)

ใครสนใจสามารถไปอ่านได้ฟรีครับ

https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2107715

https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMe2111165

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม