24 กันยายน 2564

การวัดประสิทธิภาพการกรองของไต (glomerular filtration rate)

 ย้ำอีกครั้ง การตรวจเลือดวัดระดับครีอะตินีนอย่างเดียว เพียงครั้งเดียว จะบอกว่าไตเสื่อมไม่ได้

ไตมนุษย์เรามีหน้าที่หลายประการ ทั้งกรองของส่วนเกิน ดูดกลับของดี ขับของส่วนเกิน สร้างฮอร์โมน ควบคุมสมดุลสารในร่างกาย การกรองเป็นหน้าที่การทำงานส่วนหนึ่ง แต่เป็นส่วนหลักของไต

การวัดประสิทธิภาพการกรอง (glomerular filtration rate) จึงเป็นตัวแทนการทำงานของไตได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งการวัดประสิทธิภาพเราก็จะวัดปริมาณสารนั้นในเลือดมาเทียบกับสารนั้นในปัสสาวะ ในอุดมคติก็จะใช้สารที่กรองได้อิสระ ไม่มีการดูดกลับ ไม่มีการขับออก เมื่อวัดสัดส่วนในเลือดเทียบกับปัสสาวะก็จะพอรู้ว่าการกรองเป็นอย่างไร (renal clearance)

สารที่ดีเช่น inulin, cystatin c ที่เรียกว่าแทบไม่มีการขับเพิ่มหรือการดูดกลับ แต่มันก็ทำยาก สารนี้หายาก วัดลำบาก เราก็เลยใช้อีกสารหนึ่งที่มีในร่างกาย วัดค่าได้ง่าย ใช้ได้เร็ว แต่มันจะมีการขับออกเล็กน้อย มีความแปรปรวนบ้างตามมวลกล้ามเนื้อ แต่บวกลบคูณหารแล้วใช้ได้ นั่นคือครีอะตีนีน (creatinine clearance)

ดังนั้น creatinine clearance จะแค่ใกล้เคียง glomerular filtration rate (จริง ๆ จะเกินความจริงไปเล็กน้อยเพราะมีการขับออก)

แถมวิธีที่วัดการขับครีอะตินีนที่เราวัดทุกวันนี้ เราก็ไม่ได้วัดปริมาณและค่าของครีอะตินีนเทียบกันระหว่างในเลือดและปัสสาวะในหนึ่งวัน แต่เราใช้สูตรคำนวณสำเร็จรูปที่ใกล้เคียงกับวิธีมาตรฐานที่สุด (ซึ่งมีหลายสูตร)

ดังนั้น ค่าที่ได้จากการคำนวน creatinine clearance จึงเรียกว่า "estimated" GFR คือค่าประมาณเท่านั้น

ที่กล่าวมาคือ ค่าที่ได้ก็ไม่ตรงเสียทีเดียว แถมบอกแค่การกรอง หนึ่งในการทำงานของไตเท่านั้น ดังนั้นการหยิบอาค่า eGFR ที่ได้จากการคำนวณครีอะตินีน จึงไม่สามารถบอกได้เลยว่า "ไตเสื่อมเรื้อรัง" หรือ "ไตบาดเจ็บเฉียบพลัน" ยังต้องอาศัยระยะเวลาที่ประเมิน (ก็มีคำว่าเฉียบพลัน.เรื้อรัง) ต้องคิดว่าการกรองที่ลดลงมันอาจจะไม่ได้มาจากไตที่เสื่อมเพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากเลือดมาที่ไตน้อยลง แรงดันปัสสาวะสูงขึ้น หรือโรคบางโรคก็ไตเสื่อมนะแต่ค่าการกรองเพิ่มขึ้น เช่นเบาหวาน (ไตเสื่อมระยะแรกจากเบาหวาน การกรองจะเพิ่ม)

การกรองจึงเป็นเพียง 'มิติหนึ่ง' ของการทำงานของไตเท่านั้น

ใครสนใจแนวการสร้างสมการการประมาณ GFR จาก creatinine และ cystatin C โดยไม่มีปัจจัยเรื่องเชื้อชาติ สามารถไปอ่านได้ที่ NEJM ฉบับเมื่อวานครับ https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2102953…

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม