ไม่ไว้วางใจ
กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพ กระผม นายชรา หน้าหนุ่ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์จะนอน จังหวัดสารขันธ์ พรรคใจไว้ที่เธอ ขออภิปรายไม่ไว้วางในคุณ SSaSS โซเดียม รัฐมนโทกระทรวงเกลือ
(การศึกษาชื่อ SSaSS study)
เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 คุณสาส ได้ตีพิมพ์งานวิจัยลงวารสาร NEJM และนำเสนองานวิจัยในงานประชุม ESC online 2021 ในเนื้อหาการวิจัยกล่าวคร่าว ๆ ดังนี้
คุณสาสได้เก็บข้อมูลผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และมีเงื่อนไขที่สองอย่างใดอย่างหนึ่งคืออายุตั้งแต่ 60 ปีหรือป่วยเป็นอัมพาต โดยต้องไม่มีปัญหาการควบคุมเกลือโปตัสเซียม จำนวนทั้งสิ้น 20,995 คน แบ่งกลุ่มละครึ่ง กลุ่มควบคุมให้รักษาความดันตามปรกติ ส่วนกลุ่มทดลองส่งเสริมให้ใช้เกลือทดแทน คือ โซเดียม 75% และโปตัสเซียม 25% โดยสนับสนุนเกลือตัวนี้ให้วันละ 20 กรัม หลังจากนั้นติดตามผลไปประมาณ 5 ปี เพื่อวัดผลการศึกษาคือ การเกิดอัมพาต
โดยผลการศึกษาออกมาว่า กลุ่มทดลองมีอัมพาตเกิดขึ้น 29.14 ต่อพันคนปี ส่วนกลุ่มควบคุมเกิดอัมพาต 33.65 ต่อพันคนปี ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยการเกิดเกลือโปตัสเซียมเกินขนาดของทั้งสองกลุ่มไม่ได้ต่างกัน
แต่การศึกษาทดลองยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่น่าไว้วางใจ กระผมจึงขอเรียนท่านประธานดังนี้ครับ
🚩ประการแรก มีความโน้มเอียงในการเลือกกลุ่มตัวอย่างหรือไม่ เพราะกลุ่มตัวอย่างจะอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของเครือข่ายงานวิจัยทั้งการทดลองครั้งนี้ และการรักษาความดันสูงอยู่เดิม จึงมีโอกาสสูงที่จะมีการคัดเลือกที่โน้มเอียงและการสุ่มเลือกอาจจะไม่ได้สุ่มจริง ข้อนี้ทำไห้ยังไม่ไว้วางใจคุณสาสได้เต็มที่นักครับ
ประธาน : คุณสาสขอชี้แจง เชิญท่านรัฐมนโทสาสครับ
รัฐมนโท : ผมสวดมนต์ทุกคืน ขอบคุณครับ
ประธาน : เชิญท่านชรา หน้าหนุ่ม ต่อไปครับ
🚩ประการที่สอง เรื่องการควบคุมตัวแปรของเกลือทดแทน ทางผู้วิจัยเขาแค่ สนับสนุนหรือขอร้องให้ใช้ แต่ไม่ได้บังคับเคร่งครัด ตรงนี้อาจจะมีผลต่อผลการศึกษา ทั้งการปนเปื้อนการใช้เกลือธรรมดาในกลุ่มทดลอง ซึ่งมีรายงานออกมาว่าการปนเปื้อนประมาณ 10% ของทั้งสองกลุ่ม กลุ่มควบคุมที่กำหนดให้ใช้เกลือธรรมดา ก็มีการรับเกลือทดแทนด้วยนะครับ แบบนี้ทุจริตหรือไม่ และทางผู้วิจัยสนับสนุนเกลือทดแทนวันละ 20 กรัม แม้จะมีคำแนะนำจำกัดเกลือ แต่กลับไม่พบมาตรการและข้อมูลว่า ใช้พอหรือไม่ ถ้าใช้ไม่พอจะไปใช้อะไร ประเด็นนี้ไม่น่าไว้วางใจอย่างรุนแรงครับ เพราะปนเปื้อนกลุ่มศึกษาได้มากครับท่านประธานที่เคารพ
ประธาน : เดี๋ยวนะครับ ท่านรัฐมนโทขอให้ถอนคำพูด ไม่ไว้วางใจอย่างรุนแรงครับ
รัฐมนโท : ผมขอให้ถอนคำพูดว่า “อย่างรุนแรง” ครับ เพราะผมถูกสอนมาให้มีมารยาทครับ
ชรา หน้าหนุ่ม : งง...เอ้า ถอนก็ถอนครับ
ประธาน : เชิญท่านชราอภิปรายต่อไปครับ
🚩ประการที่สาม เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะท่านรัฐมนโทอ้างว่า ความปลอดภัยเรื่องระดับโปตัสเซียมเกินนั้น ไม่ต่างจากกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ใส่เกลือโปตัสเซียมลงไป ท่านประธานครับ เลื่อนลอย เลื่อนลอยมาก ๆ เพราะไม่มีการวัดระดับโปตัสเซียมเพื่อเฝ้าระวังเป็นระยะ ๆ แต่อย่างใด แบบนี้จะกล่าวอ้างเกินจริง จะวัดค่าเมื่อมีข้อสงสัย แบบนี้ใช้ได้หรือครับท่านประธาน แถมที่รายงานออกมาก็ใช้คำว่า “Probable” ครับท่านประธาน งานวิจัยแบบนี้ วัดค่าง่ายมาก จะมาใช้ความน่าจะเป็นไม่ได้ ต้องวัดค่าชัดเจน ผมไม่รู้มีการ “อม” ค่าใช้จ่ายกันหรือไม่
ประธาน : ท่านรัฐมนโท ขอใช้สิทธิแก้ข้อกล่าวหาครับ
รัฐมนโท : ท่านประธานครับ เราต้องมองในภาพกว้าง โดยรวมบ้านเมืองมันดีขึ้นนะครับ
ประธาน : งี้เลยหรือท่าน เอ้า..ส่ายหัว..ท่านชรา เชิญท่านจัดการต่อเองเถอะ
🚩ประการที่สี่ เรื่องผลลัพธ์หลักของการศึกษา ถ้าเราไปดูรายละเอียดของการเกิดอัมพาตที่อ้างว่ากลุ่มที่ได้รับเกลือทดแทนเกิดน้อยกว่านั้น ถ้าไปอ่านตารางจะพบว่าเป็นการวินิจฉัยอัมพาตแบบ Definite คือมีหลักฐานชัดเจนเพียง 9.43 ต่อพันคนปี แล้วถ้าไปดูฝั่งควบคุมคือ 11.6 ต่อพันคนปี แต่เป็นระดับ probable ถึง 19.7 และ 22.03 ต่อพันคนปี ซึ่งงานวิจัยที่ยังก้ำกึ่ง ไม่ชัดเจนอาจจะมีปัญหาในการแปลผลรวม เดี๋ยวท่านรัฐมนโทอย่าเพิ่งตอบกระทู้ เวลาผมจะหมดผมขออภิปรายประเด็นสุดท้าย ประเด็นที่ห้า
🚩ประการที่ห้า ผลการศึกษาออกมาว่าการใช้เกลือทดแทน ลดการเกิดอัมพาตในผู้ที่ความดันโลหิตสูงได้จริง แต่ถ้าเราไปดูตัวเลขความดันโลหิตก็พบว่ากลุ่มที่ได้รับเกลือทดแทนนั้นสามารถลดความดันโลหิตได้ดีกว่ากลุ่มเกลือธรรมดา แล้วอัมพาตที่ลดลงนี้ ลดจากอะไร จากเกลือทดแทน หรือจากความดันที่ลดลง กันแน่
ท่านประธาน : อันนี้ท่านรัฐมนโทขอให้ โฆษกชี้แจงแทนนะครับ ท่านธุระด่วน
โฆษก : การศึกษาทำ pre-specified analysis ในเรื่องความดันโลหิตเอาไว้ ว่าไม่ว่าความดันซิสโตลิกสูงกว่าหรือน้อยกว่า 153 ก็ลดอัมพาตได้ทั้งสิ้น ตัวเลข 153 มาจากค่าความดันเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม ก็แสดงว่ามีผลจากเกลือทดแทนด้วย
ประธาน : ท่านชรา จะมีอะไรปิดท้ายไหม
ปิดท้ายคือ อย่าลืมเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย เพราะเกลือทดแทนเป็นสเป๊กเฉพาะและได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในจีน ในช่วงท้าย ๆ ของการศึกษาด้วยครับ
ประธาน : ท่านรัฐมนโทกลับมาแล้ว ท่านจะชี้แจงอะไรปิดท้ายไหม เดี๋ยวจะโหวตแล้ว
รัฐมนโท : ผมมีประสบการณ์มากกว่าท่าน นี่แหละที่ผมเหนือกว่าท่าน
ประธาน : แหมท่าน ชี้แจงได้ “ตรงประเด็น” ทุกข้ออภิปรายเลยนะครับ เอ้าโหวต
---------------------------------------------------
คุณล่ะ โหวตไว้วางใจไหมครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น