27 กันยายน 2564

ฝนตก เรามาดูแลตัวเองกัน

 ฝนตก เรามาดูแลตัวเองกัน

เราอยู่ใต้ฟ้าเมืองไทย ในเขตมรสุม เจอฝนแน่ ๆ ยิ่งในช่วงปลายเดือนกันยายนต่อต้นเดือนตุลาคม ช่วงเวลาที่มีฝนตกมากที่สุดของปี เรามาดูแลตัวเองส่งท้ายฤดูฝนนะครับ

1. ฝนตกหรือตากฝน ไม่ได้ทำให้เป็นหวัด เป็นโควิดแต่อย่างใดนะครับ เพราะโรคพวกนี้คือโรคติดเชื้อ ต้องได้รับเชื้อ ไม่ใช่ได้รับฝน เพียงแต่อากาศชื้น ตัวเปียก มันเอื้ออำนวยให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย การล้างมือบ่อย ๆ จึงยังสำคัญมาก และยังป้องกันโรคท้องร่วงที่มากับสายฝนหยดน้ำได้ดีอีกด้วย

2. พยายามสวมใส่เสื้อผ้าที่แห้งนะครับ เสื้อผ้าที่ชื้น อาจทำให้ท่านมีปัญหาเชื้อราที่ผิวหนัง ไม่ว่าเชื้อรา กลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า ฮ่องกงฟุต หรือมีเชื้อแบคทีเรียสะสม ทำให้มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ง่าย เลือกเสื้อที่แห้งง่าย ผึ่งลมหรืออบผ้า จะทำให้สุขภาพกายดีขึ้น

3. เมื่อเปียกฝน ไม่ว่าจากการทำงานหรือการเดินทาง หลังจากเข้าพื้นที่แห้งแล้ว ควรเช็ดตัวให้แห้งและเปลี่ยนเสื้อผ้าครับ อุณหภูมิกายที่ลดลงจากเสื้อผ้าที่ชื้นแฉะ ก็ไม่เหมาะสมในการป้องกันโรค และยังเป็นสิ่งที่เชื้อโรคชอบ เราจึงติดเชื้อได้ง่ายหากร่างกายเปียกชื้น

4. ใครมีบาดแผลตามตัว ทั้งที่ต้องทำแผลเป็นประจำ หรือบาดแผลใหม่ที่เพิ่งเกิดหลังฝนตกน้ำท่วม แนะนำให้เปลี่ยนผ้าพันแผล ทำแผลใหม่นะครับ เพราะความชื้นภายนอกอาจนำพาเชื้อโรคเข้าสู่แผล ยิ่งหากไปลุยน้ำมาด้วยแล้วต้องล้างแผลทำแผลใหม่เสมอนะครับ

5. การล้างมือถือว่าสำคัญ เพราะในความชื้นสูงแบบนี้ เชื้อโรคโตง่าย และโอกาสที่เราจะปนเปื้อนเอาเชื้อโรคเข้าตัวก็ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคท้องเสียท้องร่วง ที่พบเป็นประจำจากการปนเปื้อนน้ำสกปรก การไม่ล้างมือ ในช่วงฝนตกน้ำท่วมแบบนี้ การล้างมือถูกขั้นตอนด้วยสบู่ เป็นการป้องกันโรคที่ดีมากครับ

6. หากมีอาการเจ็บป่วยไม่สบาย อย่าลืมแจ้งประวัติการลุยน้ำท่วม หรือการเกิดบาดแผลด้วย เพราะหลายโรคก็มากับน้ำ เช่น อหิวาตกโรค โรคฉี่หนู หรือโรคที่มีแมลงเป็นพาหะทั้งหลายที่พบมากขึ้นในช่วงฝนตกน้ำท่วม ไข้รากสาดใหญ่ ไข้เลือดออก

7. พกผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก กระดาษชำระ ถุงพลาสติก เอาไว้ทำความสะอาดและปกป้องส่วนที่จะเปียก หรือใส่ของป้องกันความเสียหายจากฝนตก เปียกน้ำได้ดีครับ โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย

8. ระวัง ไฟฟ้า สัตว์มีพิษ ที่จะมากับน้ำท่วม อย่าลงลุยน้ำในพื้นที่แปลก ๆ ตรวจตราความเรียบร้อยก่อนเข้านอน อย่าประมาทนะครับ

9. เก็บยา เวชภัณฑ์ ในที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อาจได้ความเสียหายหรือประสิทธิภาพแย่ลงหากเปียกชื้น ดังนั้นเก็บให้ดีครับ ยิ่งกับยาโรคประจำตัว ใส่ซองซิปล็อก ใส่ถุงพลาสติก จะใส่สารกันชื้นลงไปก็ไม่ผิดกติกา แต่อย่าสัมผัสโดยตรง หุ้มห่อให้ดีและอย่าเผลอกินเข้าไปนะครับ

10. มีทางติดต่อสื่อสารช่วยเหลือ หากเหตุการณ์รุนแรง ไม่ว่าน้ำท่วม น้ำป่า หรือโรคประจำตัวกำเริบ ยาหมด หากกรณีไม่มั่นใจในความปลอดภัย อพยพไปอยู่ศูนย์พักพิง หรือพื้นที่ปลอดภัยดีกว่าครับ

ปลอดภัยกันทุกคนนะครับ

อาจเป็นรูปภาพขาวดำของ หนึ่งคนขึ้นไป และ แหล่งน้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม