25 กันยายน 2564

anaphylaxis ปฏิกิริยาภูมิแพ้ฉับพลันรุนแรง

 anaphylaxis ปฏิกิริยาภูมิแพ้ฉับพลันรุนแรง


เวลาที่เราไปรับวัคซีนกัน หน่วยผู้ให้บริการจะให้เรานั่งสังเกตอาการสักครึ่งชั่วโมง จำได้ไหมครับ วัตถุประสงค์หลักคือเฝ้าสังเกตอาการข้างเคียงเฉียบพลันจากวัคซีน หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง


ปฏิกิริยานี้อาจเกิดกับยาใดก็ได้แม้แต่วัคซีน อาจเกิดกับอาหาร อาจเกิดจากการแพ้สัมผัส ปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างหายเกิดการกระตุ้นอย่างรุนแรงเกินการควบคุม ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติในร่างกายล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว เรามาดูเกณฑ์การวินิจฉัยกันนะครับ


  1. มีอาการอย่างเฉียบพลัน อันนี้ยังไม่ต้องมีประวัติสัมผัสสารใดก็ได้ครับ ถ้ามีอาการก็คิดไว้ก่อนเลยว่าเป็น บางทีคนไข้อยู่คนเดียวและไม่สามารถให้ประวัติได้ เราก็จะได้ไม่พลาด โดยอาการทื่ต้องมีคือ อาการบวมแดงแบบเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเกิดที่ผิวหนัง เช่นลมพิษ หรือเกิดกับเยื่อเมือกของร่างกาย เช่น ตาบวมปิด ริมฝีปากและคอบวม อันนี้อันตรายเพราะจะหายใจไม่ได้  และต้องมีอาการทางผิวหนังหรือเยื่อเมือกนี้ร่วมกับ หนึ่งในสองข้อต่อไปนี้

    1. อาการระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจไม่ออกเสียงแน่นในลำคอ (stridor) หายใจแน่นไม่ออกเลย (obstruction) หลอดลมมีเสียงวี้ด (bronchospasm)  ไม่ว่าจะจากการตรวจร่างกายที่ได้ยินเลย หรือจากการเป่าลมด้วยเครื่อง peak flow 

    2. อาการระบบหัวใจและหลอดเลือด คือ ความดันโลหิตตก ชีพจรเร็วขึ้นมาก ตัวชื้นเย็นหรืออาจเกิดจากความดันโลหิตตกแล้วไปเลี้ยงสมองไม่พอก็ได้ เช่น หมดสติ เบลอ

  2. ต้องได้ประวัติสัมผัสสารที่ต้องสงสัย แล้วมีอาการทันที คำว่าทันทีนับในหลักนาทีเท่านั้นนะครับ เช่น 5 นาที 15 นาที อาการที่ว่าก็คืออาการในข้อหนึ่ง แต่คราวนี้ต้องอาศัยอย่างน้อยสองข้อจากสามข้อดังนี้

    1. อาการทางผิวหนังหรือเยื่อเมือก

    2. อาการระบบทางเดินหายใจ

    3. อาการระบบหัวใจและหลอดเลือด

  3. ข้อสามนี้คือ รู้ว่ามีสารที่แพ้หรือเคยแพ้แล้ว และคราวนี้ได้ซ้ำกลับเข้าไป แล้วเกิดอาการความดันโลหิตต่ำลงเร้วมาก ในหลักนาทีเช่นกัน ความดันโลหิตต่ำที่ว่านี้ ในผู้ใหญ่นับที่ความดันซิสโตลิกต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอทครับ


อาการทั้งสามข้อนี้ เจออันใดอันหนึ่งก็สงสัย anaphylaxis  และสามารถให้การรักษาทันที พร้อมกับแยกโรคอื่นที่เป็นไปใด้ไปพร้อม ๆ กัน เช่น ช็อคติดเชื้อ กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน  การรักษาที่รวดเร็วสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงเกือบใกล้ศูนย์เลยครับ 


นี่ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นวัคซีนที่ไม่เคยมีใครได้รับมาก่อน จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการ เพื่อจะได้ช่วยเหลือได้ทันเวลานั่นเองครับ


วันนี้ทางห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเมืองเบร้นเฟิร์ด คงต้องเตรียมอะดรีนาลีนได้มาก ๆ เพราะทีมประจำเมืองอาจเกิดอาการ “แพ้รุนแรงเฉียบพลัน” เกิดขึ้นได้ อ้อ...ถ้ามีอะดรีนาลีนเหลือ ก็ส่งไปให้ทีมที่ต้องแข่งกับ แอสตันวิลล่า ด้วยนะ มีความเสี่ยงสูงที่จะ “แพ้เฉียบพลันรุนแรง”





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม