19 กันยายน 2564

ฝ้าย

 สวัสดีเช้าวันอาทิตย์ครับ วันนี้สายการบิน "แอนฟิลด์แอร์เวย์" จะพาท่านบินท่องเที่ยว เลาะเลี้ยวเรื่องราวของ "ฝ้าย" เส้นใยแห่งมนุษยชาติ ท่านผู้โดยสารเชิญนั่งจิบกาแฟอุ่น ๆ ครัวซองต์หอม ๆ บนโซฟานุ่ม ๆ และร่วมเดินทางไปกับเรา

มนุษย์เรารู้จักฝ้ายมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาลแล้ว มีบันทึกการใช้ผ้าฝ้ายมาตั้งแต่สมัยอียิปต์เรืองอำนาจ มีการค้าขายฝ้ายกับอาณาจักรต่าง ๆ บันทึกการปลูกฝ้ายในตามลุ่มแม่น้ำไนล์ นอกเหนือจากลุ่มแม่น้ำไนล์ เมื่อเรามองภาพมุมสูงจากท้องฟ้า ดินแดนที่มีการบันทึกว่ามีการปลูกและค้าฝ้ายเป็นล่ำเป็นสัน ต้องบอกว่ามีการบันทึก เพราะว่าเมื่อเราสืบประวัติย้อนหลัง เราพบหลักฐานของฝ้ายกระจายอยู่ทั่วมุมโลกมานานแล้ว แต่เมื่อเรียงลำดับการบันทึกประวัติศาสตร์ของมนุษย์ จะพบว่าดินแดน อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เรื่อยมาถึงทางตะวันตกของอาณาจักรเปอร์เซีย อาระเบีย มีการบันทึกเรื่องของฝ้ายอย่างมากมายว่าที่นี่คือแหล่งผลิตฝ้ายส่งออกสู่ชาวโลก

ฝ้ายได้ถูกเลือกเป็นหนึ่งในสินค้าเศรษฐกิจสำคัญ เพราะสามารถนำไปทำเป็นเสื้อผ้าได้ในราคาที่ไม่แพงเท่าวัตถุดิบอื่น มีการผลิตที่ไม่วุ่นวาย การปลูกฝ้ายทำได้ไม่ยาก

เมื่อครั้งคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสไปถึงอเมริกาเมื่อสิ้นสุดยุคกลางในปี1492 เขาพบฝ้ายในหมู่เกาะในอเมริกากลาง และสามารถนำไปปลูกแพร่พันธุ์ในดินแดนอเมริกาได้เป็นอย่างดี เรื่องราวของฝ้ายเริ่มเข้ามาแปรเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของอเมริกา เพราะอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของอเมริกาในช่วงก่อตั้งอาณานิคม ในส่วนทางใต้ของอเมริกาและลึกไปที่พื้นที่ทางตะวันตก อันเป็นพื้นที่ปลูกฝ้ายนั้นจำเป็นต้องอาศัยแรงงานทาส

ซึ่งความขัดแย้งเรื่องของทาส การใช้แรงงานเพื่อผลิตฝ้าย เป็นหนึ่งในสาเหตุของความขัดแย้งจนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดี เอ๊บบราเฮ่ม ลินเคิ่น ท่านประธานาธิบดีเป็นผู้นำฝ่ายที่ต้องการยกเลิกทาส และใช้ความสำคัญของอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่เน้นใช้เครื่องจักรเพื่อการผลิตและพัฒนาประเทศ

แต่การใช้เครื่องจักรในกระบวนการอุตสาหกรรม ไม่ได้มีจุดกำเนิดที่อเมริกา และอุตสาหกรรมการผลิตฝ้ายโดยใช้เครื่องจักร เกิดขึ้นบนแผ่นดินยุโรป ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ปี 1760 เริ่มที่ประเทศอังกฤษและหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นต้นทางของการปฏิวัติคืออุตสาหกรรมสิ่งทอ แน่นอนหนึ่งในนั้นคือฝ้ายนั่นเอง

เมื่อการผลิตฝ้ายเปลี่ยนมาจากใช้แรงคนมาเป็นการใช้เครื่องจักร การทอ การปั่น ทำได้อย่างรวดเร็ว สามารถผลิตได้ปริมาณมากกว่าเดิมหลายร้อยเท่า สิ่งที่เพิ่มขึ้นในโรงงานการผลิตฝ้ายและผลิตภัณฑ์ของฝ้าย คือ ฝุ่นฝ้ายจากกระบวนการอุตสาหกรรม

หลังจากโรงงานฝ้ายเพิ่มขึ้น มีปัญหาอันหนึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มคนงานที่ทำงานในโรงงานฝ้ายมานาน ในยุคปลายศตวรรษที่ 17 คนงานโรงงานฝ้ายเริ่มมีอาการเหนื่อย หอบ หายใจมีเสียงผิดปกติ และมักมีอาการหลังวันจันทร์ที่เริ่มงาน จนได้ชื่อว่าเป็น Monday Fever, Monday Feelings, Monday disease และเมื่อถึงสุดสัปดาห์ที่โรงงานปิด อาการจะค่อนข้างดีขึ้น

ปัญหาโรคปอดจากการทำงาน และหอบหืดจากการทำงาน (occupational lung disease) เป็นปัญหาที่พบมากในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโรคปอดจากผงถ่าน โรคปอดจากซิลิก้า โรคปอดจากชานอ้อย ทุกโรคมีพฤติกรรมคล้ายกัน คือ มีโรคปอดหลังจากทำงานสัมผัสสารฟุ้งกระจายบางชนิด ทำงานอย่างยาวนาน อาการจะมากในเวลาทำงาน เวลาจะลดลงในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือ คนงานในโรงงานฝ้าย ก็จะเกิดโรคจากฝ้ายเช่นกัน

บิสสิโนสิส (byssinosis) มาจากภาษาละตินว่า byssinum ที่แปลว่าผ้าลินิน ในสมัยนั้นผ้าลินินมีการใช้มากขึ้นเหมือนฝ้าย ทำให้ในตอนแรกมีการเรียกชื่อโรคนี้ด้วยชื่อผ้าลินิน ซึ่งในตอนหลัง ๆ แล้วมาทราบว่าสัมพันธ์กับฝ้ายมากกว่า นอกจากชื่อ byssinosis แล้วยังมีอีกชื่อที่เรียกกันคือ brown lung disease ที่มาจากสีของปอดคนไข้ที่เกิดโรคนี้

แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ฝุ่นฝ้ายโดยตรงที่ไปทำให้เกิดโรคปอด จากการศึกษาปฏิกิริยาในปอด เราพบว่าคนไข้ที่เป็นบิสสิโนสิส มีพยาธิสรีรวิทยาเหมือนกับการติดเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ แบคทีเรียพวกนี้ที่ผนังเซลล์จะมีสารเคมีที่เรียกว่า endotoxin เจ้าปฏิกิริยาของโรคบิสสิโนสิสนี้ ช่างเหมือนกับพยาธิสรีรวิทยาของการได้สารเคมี endotoxin เช่นกัน

สมมติฐานปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของการระคายเคืองจากฝุ่นฝ้าย และการถูกกระตุ้นการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่เกาะอยู่บนฝุ่นฝ้ายที่ฟุ้งกระจาย ทำให้เกิดหลอดลมอุดกั้น เกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งสามารถใช้ยาขยายหลอดลมบรรเทาอาการ แต่การรักษาหลักคือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นต้นเหตุคือฝุ่นฝ้าย การป้องกันตัวหากจะต้องสัมผัส และการวางมาตรการเพื่อลดฝุ่น ซึ่งปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคลดลงมาก เนื่องมาจากเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและปลอดภัยมากขึ้น

แต่ฝ้ายก็ยังอยู่ในฉากเศร้าของโลกต่อไป หลังจากผ่าน การล่าอาณานิคม สงครามกลางเมืองอเมริกา การแย่งชิงและแบ่งแยกดินแดนของเอเชียใต้ จนมาถึงปัจจุบัน

หลังจากประเทศจีนได้ดำเนินนโยบายอันเข้มงวดสุดขั้วกับชาวอุยกูร์ ทำให้ชาวอุยกูร์หลายแสนคนอพยพออกจากพื้นที่อาศัยจากจีน จีนเข้าไปกดดันรัฐบาลชาติต่าง ๆ ที่รับชาวอุยกูร์เข้าดูแลให้ส่งชาวอุยกูร์กลับจีน ในจีนเองที่มณฑลซินเจียง อันเป็นที่อยู่เดิมของอุยกูร์ และเป็นแหล่งผลิตฝ้ายที่ใหญ่มากของจีนก็มี "เรื่องเล่าจากซินเจียง"

เรื่องของชาวอุยกูร์ที่ถูกกำหนดเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยของประเทศจีน จริง ๆ แล้วมีชาวอุยกูร์กระจายในดินแดนจีนส่วนตะวันตก ต่อเนื่องไปทางปากีสถาน คาซัคสถานมานาน แต่กลุ่มใหญ่ของอุยกูร์อยู่บนดินแดนที่ปัจจุบันอยู่ที่มณฑลซินเจียงของจีนนี่เอง และในช่วง 10 ปีมานี้รัฐบาลจีนได้บังคับอย่างเข้มงวดกับชนเผ่าชาวอุยกูร์ ถึงขั้นมี concentration camp ค่ายกักกัน

ที่รัฐบาลจีนแจ้งว่าเป็นศูนย์ฝึกอาชีพของอุยกูร์ แต่มีรายงานจากประเทศฝั่งตะวันตกมากมายว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนใกล้เคียงความเป็นค่ายกักกัน ส่งผลให้หลายบริษัทสิ่งทอและแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังในยุโรปและอเมริกา กีดกันและยกเลิกการนำเข้าฝ้ายที่มาจากซินเจียง ด้วยฐานข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการใช้แรงงานชาวอุยกูร์อย่างขาดมนุษยธรรม และจากนโยบายสงครามการค้าของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา

จะเป็นการใช้แรงงานในค่ายกักกันหรือเป็นการสร้างข่าวลบ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดแจ้ง แต่การแบนสินค้าฝ้ายจากซินเจียงเป็นเรื่องจริง ชะตาชีวิตของอุยกูร์ภายใต้กรงเล็บของพญามังกรยังไม่ทราบจุดจบ

และนี่คือ ฝ้าย พืชเศรษฐกิจที่อยู่ในบทบาทเศรษฐกิจ การค้า การเมืองและหยดน้ำตาในประวัติศาสตร์โลกเสมอมา

บัดนี้ทาง "แอนฟิลด์แอร์เวย์" และผมกัปตันกงยู ได้พาท่านมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ ท่านก็ลุกไปทำงานทำการของท่านต่อไปได้แล้ว อย่ามัวแต่นั่งเอื่อยเรื่อยจิบกาแฟ แล้วก็เจอกันใหม่งวดหน้าแล้วกันวุ้ย..ไปล่ะ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, กำลังยืน และกลางแจ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม