26 สิงหาคม 2564

รายงานผลข้างเคียงแทรกซ้อนของวัคซีนโควิด BNT162b2 จากระบบการเก็บข้อมูลของอิสราเอล

 รายงานผลข้างเคียงแทรกซ้อนของวัคซีนโควิด BNT162b2 จากระบบการเก็บข้อมูลของอิสราเอล

ประเทศอิสราเอล มีระบบการเก็บข้อมูลสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีมาก สามารถใส่ข้อมูลใหม่และประมวลผลเข้ากับข้อมูลเดิมได้อย่างดี ทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาออกนโยบายและประเมินสถานการณ์ความมั่นคงทางสาธารณสุขได้ดี

สำหรับสถานการณ์โควิด เราก็เห็นชัดเจนถึงพลังของระบบข้อมูลของอิสราเอล เขาวางแผนจัดการโรคและควบคุมโรคตั้งแต่ต้น แม้กระทั่งเรื่องวัคซีนที่ออกแบบชัดเจนว่าจะใช้ชนิดใด กับประชากรกลุ่มใดก่อนหลัง ติดตามประสิทธิผลอย่างไร ในเรื่องของประสิทธิผลการป้องกันป่วยและตายนั้น วัคซีนได้แสดงออกมาชัดเจนว่าไม่ต่างจากการศึกษาทางคลินิกที่ผ่านมา และยังเพิ่มประสิทธิผลลดการติดต่อได้อีกด้วย

แต่ผลข้างเคียงแทรกซ้อนนั้น ไม่สามารถใช้ผลการศึกษาทดลองทางคลินิกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากกลุ่มทดลองถูกควบคุมมาก ต่างจากประชากรปรกติ และปริมาณการฉีดเพื่อจะมาวิเคราะห์ผลข้างเคียงได้นั้น ต้องใช้ปริมาณการฉีดมากมาย ที่ทำได้ยากจากการทดลองทางคลินิก

เช้าวันนี้วารสาร New England Journal of Medicine ได้ลงตีพิมพ์ผลการศึกษาผลข้างเคียงของวัคซีน หลังจากเก็บข้อมูลประชากรที่ได้รับวัคซีน BNT162b2 ไปมากกว่าครึ่งประเทศ เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก เพราะมีการเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนกับประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และเทียบกับผลจากการป่วยโควิดว่า ตกลงผลที่เกิดจากวัคซีนกับผลที่เกิดจากโรคหากไม่ได้รับวัคซีน อะไรน่ากลัวกว่ากัน

1. ข้อมูลมาจาก Clalit Health Services หนึ่งในสามผู้ให้บริการข้อมูลสาธารณสุข ที่รับผิดชอบข้อมูล 4.7 ล้านคนของอิสราเอล (เกินครึ่งประเทศ) โดยเก็บข้อมูลจากการรายงานและการ “ตรวจสอบแล้ว” ของผลข้างเคียงวัคซีน เทียบกับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน(ยังไม่ได้รับเท่านั้นนะครับ สักวันที่เขาได้รับก็จะย้ายไปอยู่ฝั่งที่เฝ้าระวังจากการรับวัคซีน) โดยติดตาม 42 วันหลังรับวัคซีนเข็มแรก ก็คือ 21 วันหลังเข็มแรก และ 21 วันหลังเข็มสอง เพียงพอกับการบอกผลข้างเคียงระยะสั้นและระยะกลางได้

2. มีการเปรียบเทียบผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนนี้ หากไปเทียบดูกับอาการเดียวกัน ผลเดียวกันนี้ ว่ามีเกิดขึ้นหรือไม่ในผู้ป่วยเป็นโควิด (รวมได้รับและไม่ได้รับวัคซีน) หากเกิดขึ้นเช่นกัน อะไรจะรุนแรงอันตรายกว่ากัน ระหว่างเกิดจากวัคซีนกับเกิดจากโรคโควิด

** สังเกตว่ากลุ่มประชากรข้อหนึ่งและข้อสอง อาจมีบางส่วนที่ซ้อนทับกัน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้วิจัยได้จำแนกและคิดแยกอย่างละเอียด เพื่อตัดความซ้ำซ้อนและแปรปรวนด้วยกระบวนการทางสถิติ เพราะในชีวิตจริงคงจะจัดกลุ่ม รับวัคซีนเทียบกับไม่รับวัคซีนตลอดการศึกษานั้น ทำไม่ได้จากเงื่อนไขทางจริยธรรม **

3. การศึกษาวิเคราะห์จัดทำในเวลาใกล้กัน เพื่อตัดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อที่อาจแตกต่างกันตามเวลาที่เปลี่ยนไป (จากตัวเชื้อที่กลายพันธุ์ สถานการณ์ระบาด และปริมาณผู้รับวัคซีนที่เพิ่มขึ้น) โดยมีระบบการคิดเมื่อมีการย้ายกลุ่มจาก ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเป็นฉีดวัคซีน จากกลุ่มควบคุมฉีดวัคซีนมาเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อ รายละเอียดตรงนี้ไปหาอ่านได้จากฉบับเต็ม แม้มีข้อแปรปรวนเหล่านี้ ก็ต้องยอมรับว่าทางผู้วิจัยคิดรับมือและจัดการได้ดีพอควร

4. มีกลุ่มวัคซีนและกลุ่มควบคุมคือยังไม่ได้รับวัคซีน ประมาณกลุ่มละ 880,000 คน และกลุ่มที่มาวิเคราะห์ผลจากการเป็นโรคโควิด แบ่งเป็นติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อ กลุ่มละประมาณ 170,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 16-40 ปี และจากผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดกว่า 90% ไม่มีปัจจัยที่เสี่ยงเป็นโควิดรุนแรงเลย โรคประจำตัวก็น้อย

5. มาดูผลข้างเคียงที่พบเป็นสัดส่วนมากที่สุดก่อน คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis)

กลุ่มที่รับวัคซีน เกิดมากกว่า กลุ่มยังไม่ได้วัคซีน 3.24 เท่า ฟังดูเหมือนเยอะ แต่ถ้าไปดูตัวเลขจริงไม่ได้เทียบกัน จะพบว่าต่างกันเพียง 2.7 รายต่อ 100,000 รายเท่านั้น และอย่างที่เราทราบ อาการเกือบทั้งหมดไม่รุนแรงและหายเองได้

มาดูอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากการป่วยโควิดดูบ้าง กลุ่มป่วยโควิดพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่ากลุ่มที่ไม่ป่วยถึง 18.2 เท่า ถ้าดูตัวเลขจริงคือต่างกัน 11 รายต่อแสนประชากร

6. อาการอื่น ๆ

ต่อมน้ำเหลืองโต ในกลุ่มวัคซีนพบมากกว่ากลุ่มไม่ได้รับวัคซีน 2.43 เท่า

พบรายงานการติดเชื้อเริมและงูสวัดในกลุ่มรับวัคซีนโควิดมากกว่ากลุ่มไม่ได้รับ 1.1-1.4 เท่า

อาการวิงเวียนพบในกลุ่มวัคซีนมากกว่า 1.12 เท่า

อาการเป็นลมพบในกลุ่มวัคซีนมากกว่า 1.12 เท่า

อาการชา พบในกลุ่มวัคซีนมากกว่า 1.1 เท่า

อาการหน้าเบี้ยว พบในกลุ่มวัคซีนมากกว่า กลุ่มไม่ได้้รับ 1.32 เท่า แต่หากคิดตัวเลขจริง ต่างแค่ 3.3 รายต่อแสนคน อัตราการเกิดไม่ได้มากไปกว่าการเกิดหน้าเบี้ยว (Bell’s palsy) ในสถานการณ์ปรกติ

การเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันพบในกลุ่มไม่ได้รับวัคซีนมากกว่ากลุ่มรับวัคซีนเสียอีก พบน้อยกว่า 1.1 รายต่อแสนคน อันนี้ต่ำกว่ากลุ่มประชากรปรกติ

7. ในข้อ 5และ 6 หากถ้าเทียบเป็นจำนวนเท่า พบว่ากลุ่มรับวัคซีนจะมากกว่ากลุ่มไม่ได้ฉีด แต่เมื่อไปดูตัวเลขเกิดจริงจะเห็นว่าไม่ได้เกิดมากเลย และไม่ได้มากกว่าสถานการณ์ปรกติที่ยังไม่มีวัคซีน และมีผลหลายอันที่การรับวัคซีนเกิดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเสียอีก ถึงตรงนี้คงสบายใจกันพอสมควรว่า ประโยชน์จากวัคซีนมีเหนือกว่าผลข้างเคียงวัคซีนอย่างชัดเจน

8. ถ้ายังไม่ชัดเรามาดูข้อมูลนี้ คือ อาการข้างเคียงแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคโควิด เทียบกับไม่เกิดโรค (วัคซีนมันไปช่วยลดการป่วยตรงนี้แหละครับ)

ไตวายเฉียบพลัน โควิดพบมากกว่าไม่ป่วย 14.8 เท่า คิดตัวเลขจริงพบว่ามากกว่าถึง 125 รายต่อแสนประชากร

ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด โควิดพบมากกว่าไม่ป่วย 12.1 เท่า คิดเป็นตัวเลขจริงคือ มากกว่าถึง 61.7 รายต่อแสนประชากร

ลิ่มเลือดดำอุดตันที่ขา โควิดพบมากกว่าไม่ป่วย 3.78 เท่า คิดเป็นตัวเลขจริงคือมากกว่าถึง 43 รายต่อแสนประชากร

9. สรุปว่าวัคซีน BNT162b2 มีผลข้างเคียงหลังการฉีด แต่พบน้อยมากและส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายเองได้ ผลข้างเคียงที่พบมากกว่าประชากรปกติก็มีแต่ไม่รุนแรงและหายเอง เกือบทั้งหมดพบน้อยกว่าโอกาสเกิดตามธรรมชาติ และหากไปเทียบกับป่วยเป็นโควิดแล้วโอกาสจะเกิดผลแทรกซ้อนรุนแรงสูงกว่าการไม่ป่วยอย่างชัดเจน ซึ่งการรับวัคซีนก็จะช่วยลดการป่วยในจุดนี้นั่นเอง

10. ชุดความจริงนี้ เป็นจริงเฉพาะวัคซีน BNT162b2 ในสถานการณ์การระบาดประมาณครึ่งปีแรกของ 2021ในประเทศที่มีระบบการจัดการสาธารณสุขที่ดีมาก การนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้กับประเทศอื่นใดต้องดูบริบทในแต่ละประเทศ และไม่สามารถไปเทียบกับวัคซีนอื่นใดได้

ใครสนใจรายละเอียดก็ไปอ่านได้จาก NEJM.org ฉบับเช้านี้ ฟรีครับ

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม