06 สิงหาคม 2564

REGEN-COV ยาป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

 REGEN-COV ยาป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

เราได้รู้จักยารักษาโควิด ยาต้นการอักเสบโควิด วัคซีนโควิดกันมาหมดแล้ว วันนี้ผมมาเล่าสรุปการศึกษาเกี่ยวกับยาที่ใช้ป้องกันการติดโควิด-19 เมื่อมีคนในบ้านติดเชื้อ

ผู้วิจัยใช้ยาที่เป็นยาชีวภาพ monoclonal antibody สองชนิดคือ casirivimab และ imdevimab ผสมในเข็มเดียวกัน ยาทั้งคู่มีความสามารถยับยั้งไวรัสจับเซลล์ร่างกายเรา ทำให้ไม่เข้าไปทำลายเซลล์และถูกทหารของร่างกายกำจัดไปเอง ที่ก่อนหน้านี้มีการวิจัยในห้องทดลอง และมีการวิจัยในผู้ป่วยว่าลดอัตราการเสียชีวิตได้

ครั้งนี้นักวิจัยทำการทดลองว่า ถ้าเอามาฉีดให้ผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยโดยเร็วใน 96 ชั่วโมง โดยผู้สัมผัสนี้ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนและตอนที่รับยาก็ยังไม่ติดเชื้อ (จากการตรวจทั้งแอนติเจนและแอนติบอดี) อยู่ในบ้านเดียวกับผู้ติดเชื้อต่อเนื่องมาตลอดเป็นเดือน ผู้ที่สัมผัสจะมีการติดเชื้อไหม ทั้งแบบมีอาการและไม่มีอาการ เพียงแต่เป้าการศึกษามุ่งแบบมีอาการก่อน และยังวิจัยผลรองไปอีกว่า ถ้าติดและมีอาการ ใช้เวลาในการรักษาสั้นกว่าไหม ไวรัสในตัวน้อยกว่าไหม โดยวัดผลภายใน 28 วันหลังสัมผัสเชื้อ

การศึกษานี้มีสองเฟส ครั้งนี้เราพูดถึงเฟสแรกก่อนคือป้องกันการติดในคนที่ไม่เคยติดมาก่อนและก่อนฉีดยาก็ตรวจไม่พบเชื้อ พอเจอคนติดเชื้อในบ้านก็จัดการนำเข้ามาในการศึกษา ฉีดยานี้หนึ่งเข็มเข้าใต้ผิวหนังครั้งเดียว อีกกลุ่มฉีดยาหลอกแล้วติดตามอาการ ติดตามผลสวอปจมูก ได้คนที่มาเข้าร่วม 1505 ราย ส่วนมากอายุประมาณ 42 ปี แน่นอนทำในอเมริกาย่อมมีคนผิวขาวถึง 84% เป็นคนที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคร่วมที่จะแย่จากโควิดถึง 30% ส่วนใหญ่บ้านจะอยู่กัน 3 คนและมี คนเข้าร่วมส่วนใหญ่คือคนเดียว (ไม่นับคนที่เป็นโรค)

ผลออกมาแบบนี้ สำหรับการติดเชื้อแบบมีอาการ กลุ่มได้ยาพบ 11 จาก 753 รายคิดเป็น 1.5%ส่วนกลุ่มที่ได้ยาหลอกพบ 59 จาก 752 รายคิดเป็น 7.8% ถ้าเราคิดสัดส่วนที่ลดการติดเชื้อลงได้จะเท่ากับ 84% ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ

ยังไม่พอ ผลย่อยโดยสรุปเป็นดังนี้

การติดเชื้อรวมแบบมีและไม่มีอาการ คือ 4.8% และ 14.2% มีนัยสำคัญทางสถิติ ประมาณ 65%

ถ้าป่วย มาดูระยะเวลาที่จะดีขึ้นหลังป่วย กลุ่มได้ยาจะใช้เวลาสั่นกว่าประมาณ 1 สัปดาห์

ถ้าป่วย ปริมาณไวรัสในกลุ่มได้ยาก็น้อยกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มอายุ 12-18 ปี และกลุ่มอายุเกิน 50 ปี ก็สามารถลดการติดเชื้อได้เหมือนผลการศึกษาหลัก

เรามาดูผลแทรกซ้อนกันบ้าง พบปฏิกิริยาแทรกซ้อนในกลุ่มยาหลอกมากกว่ายาจริงเสียอีก ประมาณ 20% แต่เป็นผลไม่รุนแรงคือ ปวดหัว ผื่นแดง ไข้ และหายเอง มีผลรุนแรงประมาณ 1% แต่ทางผู้วิจัยวิเคราะห์ว่าไม่เกี่ยวกับยาและไม่เกี่ยวกับโควิด มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มยาหลอกเท่ากับยาจริงคือ 2 ราย ทุกรายอยู่เลยระยะเฝ้าระวังและไม่เกี่ยวกับยาหรือโรคโควิด

แต่การศึกษานี้ก็ขับเคลื่อนและสนับสนุนจากบริษัท Regeneron Pharmaceuticals ผู้ผลิตยา REGEN-COV อีกทั้งปริมาณผู้เข้าร่วมต่อครัวเรือนก็น้อยกว่าที่คาด จำนวนผู้ที่ติดเชื้อมีอาการในกลุ่มยาหลอกก็น้อยกว่าที่คาด ทำให้ power ของการศึกษาลดลงมาก กลุ่มตัวอย่างก็ยังไม่เยอะมากและติดตามเพียงระยะสั้นเท่านั้น

แต่ก็เป็นความหวังกับการฉีดยาหนึ่งเข็ม เพื่อลดโอกาสการติดการตาย หลังจากที่มีคนในบ้านใกล้ชิดเกิดติดโควิดขึ้นมา ได้ข่าวแว่ว ๆ มาว่าทางการไทยได้อนุมัติใช้เพื่อรักษา (ไม่ใช่ป้องกัน) ในผู้ป่วยเฉพาะรายเรียบร้อยแล้ว แต่ให้เดาว่าราคายาน่าจะแพงมากทีเดียวครับ

ใครสนใจไปหาอ่านได้จากวารสาร New England Journal of Medicine ฉบับ 4 สิงหาคม 2021 (ตอนนี้เหลือสมาชิกที่เดียวล่ะ ไม่ไหว แต่ละหัวราคาแพงเหลือเกิน)

ภาพ : Derek Redmond นักกีฬาวิ่ง 400 เมตรชายของทีมชาติสหราขอาณาจักร ในการแข่งขันโอลิมปิกที่บาร์เซโลนา 1992 ในวันนั้นเขาออกสตาร์ทได้ดีมาก แล้วจู่ ๆ กล้ามเนื้อแฮมสตริงก็ได้รับบาดเจ็บ จนต้องเขยกอย่างสุดความสามารถทั้งน้ำตา เพื่อจะเข้าเส้นชัยให้ได้ ตอนนั้นคุณพ่อของเขาที่เป็นโค้ชด้วย เข้ามาพยุงลูกชายเพื่อเข้าเส้นชัยไปพร้อม ๆ กัน แม้จะผิดกติกาแต่ก็ชนะใจคนทั้งโลก

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน, ผู้คนกำลังเล่นกีฬา และผู้คนกำลังยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม