05 สิงหาคม 2564

วัณโรคดื้อยา

 วัณโรคดื้อยา ปัญหาที่ต้องช่วยกัน

สาเหตุสำคัญของการเกิดวัณโรคดื้อยามี 2 อย่างคือ กินยารักษาไม่ครบ กินบ้างหยุดบ้าง ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา อันนี้เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น สาเหตุอีกอย่างคือทีมผู้รักษาไม่สามารถตรวจจับและจัดการเชื้อดื้อยาได้ไวพอ ทำให้เชื้อแพร่กระจายและเกิดเชื้อดื้อยาในชุมชน จะเป็นการติดเชื้อวัณโรคดื้อยาตั้งแต่ต้น

ถามว่าเหตุหลักคืออะไร คำตอบคือ การรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดยาผิดสูตร การกินยาไม่ครบ กินยาไม่สม่ำเสมอ ไม่ได้ติดตามการรักษา ส่วนการติดเชื้อดื้อยาตั้งแต่ต้นนั้นมีประมาณ 10% ของการติดเชื้อในชุมชนตั้งแต่เริ่ม

การรักษามาตรฐานแบบผู้ป่วยรายใหม่ เราจะใช้ยาที่ราคาไม่แพง มีใช้ทุกที่ในโลก ประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงไม่มาก คือ ระยะเข้มข้นใช้ยา 4 ตัวคือ isoniazid/rifampicin/pyrazinamide/ethambutol เป็นเวลา 2 เดือน หากตอบสนองดี จะปรับเป็นระยะต่อเนื่องอีก 4 เดือนด้วยยา isoniazid/rifampicin

แต่หากพบว่าเป็นเชื้อดื้อยา การรักษาจะเปลี่ยนไปมาก ทั้งกินยาปริมาณมาก ต้องฉีดยาหลายเดือน ระยะเวลาในการรักษาอย่างน้อยก็ 9 เดือน (รวมของเดิมที่รักษามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ก็รักษาปีกว่าแล้ว) หากเป็นสูตรที่รักษายาวคือ 18-20 เดือน จะมีความยากลำบากในการรักษาพอสมควร

ปัจจุบันหากพบเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนาน คือดื้อยา isoniazid และ rifampicin แต่หากยังไม่ดื้อยากลุ่ม quinolones จากการตรวจทางพันธุกรรมหรือจากการทดสอบความไวของยาหลังจากเพาะเชื้อก็ตาม เราจะใช้ยาอย่างน้อย 9 เดือน

4 เดือนแรกให้ยาสูตรเข้มข้น moxifloxacin (หรือ levofloxacin)+prothionamide (หรือ ethionamide)+clofazimine+pyrazinamide+isoniazid ขนาดสูง+ethambutol + ยาที่สำคัญที่สุดคือ Bedaquiline อันนี้กินนานกว่าตัวอื่นนิดนึงคือ กินหกเดือน

5 เดือนหลังให้ยาสูตรต่อเนื่อง moxifloxacin (หรือ levofloxacin)+clofazimine+pyrazinamide+ethambutol

แค่นี้ก็เหนื่อยแล้วนะครับ แถมยาแต่ละตัวก็กินหลายเม็ด ต่อวันนี่ไม่ต่ำกว่า 12 เม็ด แต่ละเม็ดก็ใหญ่ ขม กลืนยาก และยังต้องตรวจเสมหะและเพาะเชื้อไปอีกทุกเดือนหลังจาก 4 เดือน

และหากใช้ยาสูตรสั้น 9 เดือนไม่ได้ จะต้องมาปรับเป็นใช้ยาสูตรยาวที่มียาฉีดเข้ากล้ามทุกวัน (หรือสัปดาห์ละ3-4วัน) และระยะเวลาในการรักษาอย่างน้อย 18 เดือน (ให้ยาจนเพาะเชื้อไม่ขึ้น และให้ยาหลังเพาะเชื้อไม่ขึ้นไปอีกประมาณ 15 เดือน) ฟังแล้วเหนื่อยมากที่สุด

ดังนั้นการกินยาให้สม่ำเสมอ มาติดตามนัดอย่างเคร่งครัด ระวังการติดเชื้อในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกของการรักษา ระวังยาอื่น ๆ ที่กินจะเกิดปฏิกิริยากับยาวัณโรคจึงสำคัญมากครับ จะได้ไม่ดื้อยาครับ

ภาพ : Bob Beamon นักกรีฑากระโดดไกลทีมชาติสหรัฐอเมริกา เข้าแข่งขันโอลิมปิกที่เม็กซิโก ปี 1968 การแข่งขันครั้งนั้นเขากระโดดได้ 29 ฟุต 2.5 นิ้ว เป็นสถิติโลกและสถิติโอลิมปิกที่ยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นสถิติในการแข่งขันโอลิมปิกที่ยืนยาวที่สุดจนปัจจุบัน

อาจเป็นรูปภาพของ หนึ่งคนขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม