31 พฤษภาคม 2564

งานวิจัยเฟสสามของวัคซีนซิโนฟาร์ม

 วันนี้เรามารู้จักงานวิจัยเฟสสามของวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ลงตีพิมพ์ใน JAMA เมื่อ 26 พค. ที่ผ่านมา เป็นงานวิจัยหลักของวัคซีนตัวนี้ ในแบบประชาชนทั่วไปอ่านง่ายและเข้าใจ 

 วัคซีนซิโนฟาร์มนั้นผลิตโดย China National Biotec Group Co.Ltd. เป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนซิโนแวก วัคซีนเชื้อตายเป็นการผลิตเทคโนโลยีที่ปลอดภัยสูงมาก เรารู้จักและใช้กันมาอย่างยาวนาน วิธีการผลิต การเก็บรักษา และการขนส่งไม่ยุ่งยาก เหมาะกับประเทศที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก

 ในการศึกษาเฟสหนึ่งและสอง เพื่อหาขนาดยาและระดับภูมิคุ้มกันที่ดีในร่างกายคน พบว่า วัคซีนซิโนฟาร์มสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรค (neutralizing antibody)ได้ดีตามเกณฑ์มาตรฐาน  จึงมาทำการทดลองในเฟสสาม เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการป้องกัน "การติดเชื้อแบบมีอาการ" และศึกษาความปลอดภัยของวัคซีนในคนจริง 

 วัคซีนนี้ผลิตในจีน แต่การศึกษาทางคลินิกนี้ ทำในประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน จอร์แดนและอียิปต์ โดยผลการศึกษานี้มาจากประชากรจากเอมิเรตส์และบาห์เรน เพราะข้อมูลจากจอร์แดนและอียิปต์ เริ่มเก็บช้ากว่า จะต้องรอผลการศึกษาฉบับเต็มจึงออกมาให้ทราบกัน

 ตะวันออกกลาง มีสถานการณ์การระบาดที่ไม่สูงเท่าการศึกษาของวัคซีนอื่น (44 รายต่อประชากร 1000 ราย เทียบตัวเลขของการศึกษาอื่น ๆ ที่ประมาณ 79ราย) สถานการณ์การระบาดที่ตะวันออกกลางพบข้อมูลการกลายพันธุ์ไม่มากนัก ดังนั้นการแปลผลเรื่องสายพันธุ์ต่าง ๆ นอกเหนือจากสายพันธุ์ที่มาทำวัคซีนคงแปลผลไม่ได้ และไม่มีการคิดวิเคราะห์แยกย่อยเรื่องสายพันธุ์ต่าง ๆ จากการศึกษา

 กลุ่มประชากรที่สนใจ คือ ประชากรที่อายุมากกว่า 18 ปี โดยไม่มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในกลุ่ม โคโรนาไวรัส ทั้งหมดคือทั้ง ซารส์ 1, เมอรส์ และซารส์ 2 คือโควิด โดยใช้การสอบถาม ไม่ได้ยืนยันว่าไม่มีเชื้อ โดยใครเคยติดเชื้อ (ไม่ว่าจากประวัติหรือมีผลแล็บ)ก็จะไม่รับเข้าศึกษา

 เมื่อได้กลุ่มวิจัยจะแบ่งออกเป็นสามกลุ่มเท่า ๆ กัน รับวัคซีนหรือยาหลอก จำนวนสองเข็มห่างกัน 21 วัน

1.       กลุ่มควบคุม 13,471 คน กลุ่มนี้จะได้รับส่วนประกอบเหมือนวัคซีน แต่ไม่มีวัคซีน มีแต่สารประกอบอลูมิเนียมที่เป็นส่วนผสมของวัคซีน  สังเกตว่า ไม่ได้ใช้ยาหลอกเป็นน้ำเกลือนะครับ ในหลายการศึกษาที่ผ่านมากลุ่มควบคุมที่ใช้น้ำเกลือก็มีผลข้างเคียงเช่นกันการศึกษานี้ใช้ adjuvant เป็นตัวเปรียบเทียบเพื่อดูว่าผลข้างเคียงที่เกิดมันจะเกิดจากสารประกอบอลูมิเนียมที่เป็น adjuvant หรือเกิดจากวัคซีน ไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบไม่ฉีดหรือฉีดน้ำเกลือเลย 

2.       กลุ่มรับวัคซีนสายพันธุ์ WIVO4 จำนวน 13,470 คน ในวัคซีนมีสารประกอบอลูนิเนียมเป็น adjuvant ปริมาณเท่ากลุ่มควบคุม

3.       กลุ่มรับวัคซีนสายพันธุ์ HBO2 จำนวน 13,470 คน กลุ่มนี้จะมีโปรตีนของเชื้อและปริมาณ adjuvant น้อยกว่ากลุ่มที่เป็นสายพันธุ์ WIVO 4 เล็กน้อยเท่านั้น

 หลังจากฉีดยาไปแล้วจะมีการแนะนำให้สังเกตอาการต่าง ๆ ทั้งอาการของโรคโควิดและอาการข้างเคียงจากวัคซีน มีการโทรไปสอบถามและหากเกิดอาการติดเชื้อตามเกณฑ์ อาการ เอกซเรย์ ก็จะมีการสืบค้น ตรวจหาเชื้อ ประเมินสิ่งต่าง ๆ ตามที่แผนการศึกษากำหนดไว้ ทั้งหลังเข็มแรกตลอดไปหลังเข็มสอง

 จะเห็นว่าผลการศึกษาหลักต้องใช้ 'การติดเชื้อแบบมีอาการ หลังฉีดวัคซีนเข็มที่สองไปอย่างน้อย 14 วันเพราะมีความชัดเจน วัดผลได้ เหมือนกับทุกวัคซีนที่ทำมาเช่นกัน  แม้จะมีบางส่วนที่ไม่มีอาการและเข้ามาทำการตรวจหาเชื้อ เพื่อตรวจการติดเชื้อไม่มีอาการ แต่นั่นไม่ใช่ผลการศึกษาหลัก ไม่ได้ถูกออกแบบมาคิดคำนวณทางสถิติที่ถูกต้อง จึงถูกจัดไว้เป็นเพียง post hoc analysis หรือผลพลอยได้ที่นำมาวิเคราะห์ภายหลัง

 นอกจากนี้การศึกษายังสุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนมาเจาะตรวจแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด จำนวน 900 คน ว่าก่อนฉีดในแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร หลังฉีดเข็มแรกเข็มสอง ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นไหม ต่างกันมากน้อยเพียงใด เพื่อเก็บข้อมูลไว้ใช้ (ผมคิดว่าเพื่อมาเปรียบเทียบและหาความสัมพันธ์ของ ระดับภูมิที่ขึ้น กับ ความสามารถในการปกป้องที่เกิด)

 ย้ำอีกครั้ง ผลการศึกษาหลักคือ 'ลดการติดเชื้อแบบมีอาการ หลังฉีดวัคซีนเข็มที่สองไปอย่างน้อย 14 วัน' เท่านั้นนะครับ

 เช่นเดียวกับการศึกษาวัคซีนโควิดแบบเร่งด่วนทั้งหลาย ผลการศึกษาที่ได้คือ ผลที่ยอมรับได้ในระยะแรก ยังไม่ใช้ผลสุดท้ายที่จะได้รับการวิเคราะห์ อีกทั้งยังมีปริมาณผู้ทดลองจากอียิปต์และจอร์แดนที่ยังไม่นำมาคิดอีกด้วย การศึกษาตั้งเป้าว่าเมื่อมีผู้ติดเชื้อหลังรับเข็มสองในกลุ่มควบคุมครบ 50 ราย ก็เริ่มรายงานได้ โดยการศึกษานี้รายงานที่ 70 ราย

 เกณฑ์การยอมรับของวัคซีนตัวนี้คือ สามารถปกป้องได้ค่าเฉลี่ยอย่างน้อย 60% เกณฑ์เดิมของวัคซีนแรก ๆ เช่นของโมเดอนาหรือไฟเซอร์ คือ 50%  และตัวเลขค่าขอบเขตล่างสุด (น้อยสุดที่ปกป้องได้จากการวิจัย)เกิน 30%... อ้อ คิดเมื่อจบการศึกษานะ อย่าลืมว่ารายงานนี้เป็นเพียงส่วนแรกเท่านั้น

 ผลการศึกษา ตรงนี้ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะมีตัวเลขที่แปรปรวนกว่าที่เราคิดมากเลย อย่าเอาแต่เพียงตัวเลข ประสิทธิภาพวัคซีนค่าสุดท้ายไปใช้

 1.       กลุ่มอายุเฉลี่ยที่มารับวัคซีนคือ 36 ปี เกือบ 100% นะครับ มีคนอายุสูงกว่า 60ปี ไม่ถึง 2% หมายความว่าหากจะนำไปใช้ในผู้สูงวัย กรุณาคิดดี ๆ ผลอาจออกมาไม่เป็นดังที่คาดหวัง

2.       ไม่ได้คิดแยกหรือระบุ 'โรคร่วม' หรือ 'โรคประจำตัว'แต่อย่างใด ไม่มีระบุไว้เลย ไม่ใช่ว่าเพราะอายุเฉลี่ยน้อยถึงไม่มีนะครับ  แต่ไม่ได้แจกแจง ดังนั้น ผลของวัคซีนในคนที่มีโรคประจำตัว (ที่อาจป่วยมากขึ้นหากติดโควิด) อันนี้บอกไม่ได้ ไม่มีข้อมูลนะครับ

3.       ผู้ที่เข้าร่วมการทดลองนี้เป็นชาย 84%เลยนะครับ หากจะนำไปใช้ในสุภาพสตรีคงต้องระมัดระวังดี ๆ เหตุผลอาจจะมาจากข้อมูลของการศึกษานี้เกือบทั้งหมดมาจากเอมิเรตส์ (มีบาห์เรน 20%) ที่มีประชากรชายถึง 72% และเป็นคนที่มาอาศัย มาทำงานในอาบูดาบีมากกว่าคนท้องถิ่น แต่ก็ยังเป็นเชื้อชาติอาหรับ  อีกอย่างคือ ไม่รับหญิงที่มีแนวโน้มจะตั้งครรภ์มาทำการศึกษาอีกด้วย

4.       มีคน 74% ของคนที่เข้าทดลอง ได้รับการตรวจภูมิคุ้มกัน พบว่ามีภูมิคุ้มกันมาก่อนฉีด (เคยติดเชื้อมาก่อน)เพียง 6.4% ของสามหมื่นคนนั้น  พอกล้อมแกล้มได้ว่าส่วนมากไม่ติดเชื้อมาก่อน แต่ไม่รู้ว่าขณะทำการศึกษาติดเชื้อเท่าไร

 ผลการปกป้อง คือ ประสิทธิภาพของวัคซีนในการลดการติดเชื้อแบบมีอาการ หลังรับวัคซีนสองเข็ม คือ 72.8% ของวัคซีนWIVO4 และ 78.1%ของวัคซีนHBO2  ต่างจากกลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

 สำหรับการสุ่มตัวอย่างมาตรวจวัดระดับแอนติบอดีหลังฉีดครบสองเข็มไปสองสัปดาห์ ว่ามีปริมาณผู้เข้าร่วมที่ผ่านเกณฑ์ภูมิคุ้มกันมากพอปกป้องไหม

พบว่าค่าเฉลี่ยเรขาคณิต เพิ่มจาก 2.3 เป็น 94 และ 150 ในขณะที่ยาหลอกแทบไม่ขยับระดับภูมิคุ้มกันเลย เรียกว่าสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิและผ่านเกณฑ์ระดับ 99-100%

 มีผลข้างเคียงไหม 'อย่าลืมว่า ยาหลอกคือ adjuvant คือ สารประกอบอลูนิเนียม'ไม่ใช่น้ำเกลือนะครับ พบว่าเกิดผลข้างเคียงพอกันทั้งวัคซีนสองตัวและยาหลอก คือ 45% ของผู้ที่ฉีด และเป็นผลข้างเคียงเล็กน้อยคือ เจ็บคัน ปวดตรงจุดฉีด และหายเองได้  ผลข้างเคียงที่เป็นมาก พบประมาณ 0.5% พอ ๆ กันทั้งสามกลุ่ม แต่ก็หายได้เกือบทั้งหมด

 นี่คือผลเพียงสองเดือนครึ่งหลังฉีดเข็มสองนะครับ และเป็นเพียงรายงานเบื้องต้นที่ถึงเกณฑ์จะรายงานได้และแปลผลไปใช้ได้ ยังไม่ใช่ผลสุดท้าย ต้องรอติดตามต่อไป

 คำถามที่หลายคนสงสัย แต่ไม่ได้เป็นผลวิจัยหลักคือ ป้องกันการป่วยรุนแรงที่เข้าไอซียูได้ไหม และลดการติดเชื้อไหม  ต้องกล่าวว่าอ่านไว้เป็นแนวทาง เอาไว้ไปต่อยอดการศึกษา เพราะไม่ได้ออกแบบมาตอบคำถามเหล่านี้

1.       ปอดอักเสบรุนแรงวิกฤต เกิดเพียงสองรายในกลุ่มที่รับยาหลอก ข้อมูลไม่เพียงพอจะนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพวัคซีนสำหรับกันป่วยหนักได้ ... โปรดอย่าลืมว่า ประชากรที่มาศึกษายังอายุไม่มาก ไม่มีโรคร่วม และน่าจะ (ส่วนตัวนะ) มีเศรษฐานะดี การดูแลสุขภาพดีมาก่อน

2.       ป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการได้ไหม  จากข้อมูลที่พบ (ไม่ได้คนหาและไม่ใช่เป้าหมาย) คือ ในกลุ่มรับวัคซีนติดเชื้อ 16คน และ 10 คน ส่วนยาหลอกติดเชื้อ 21 คน  ถ้าเรานำคนที่ไม่มีอาการมาคิดประสิทธิภาพการปกป้องนำมารวมกับผู้ที่มีอาการ (อันนี้เขาหาทำเองนะครับ) พบว่าวัคซีน WIVO4 มีประสิทธิภาพ 64% ส่วนวัคซีน HBO2 มีประสิทธิภาพ 73.5% ไม่สามารถมาคำนวณความแตกต่างจากยาหลอกได้เพราะไม่ได้ออกแบบมาทำลักษณะนั้น

3.       ฉีดเข็มเดียว ปกป้องได้เท่าไร  ก็มีการวิเคราะห์เช่นกัน  สำหรับวัคซีน WIVO4 สามารถปกป้องการติดเชื้อแบบมีอาการ 50.3% ส่วนวัคซีน HBO3 สามารถปกป้องการติดเชื้อแบบมีอาการ 65.5%

4.       แล้วถ้าคิดวิเคราะห์ ผู้หญิงที่มีปริมาณน้อยในการศึกษา ผู้สูงวัยที่มีปริมาณน้อยมากในการศึกษา จะปกป้องเหมือนผลการศึกษาหลักไหม  มีการวิเคราะห์นะครับ ว่าผลออกมาไปทางเดียวกับผลการวิจัยหลัก แต่ความแม่นยำน้อย เพราะจำนวนคนที่มาวิเคราะห์น้อยเกินไป

 สรุปว่า จากข้อมูลเบื้องต้นของการศึกษาวัคซีนซิโนฟาร์มที่มาจากไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ สามารถลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก โดยประสิทธิภาพอยู่ที่ 72% และ 78% โดยที่ผลข้างเคียงไม่ต่างจากยาหลอกและไม่รุนแรง 

 ข้อสังเกตสำคัญของการศึกษาคือ เกือบทั้งหมดเป็นคนอายุน้อย สุขภาพดี ไม่มีโรคร่วม และสัดส่วนผู้ชายถึง 85%  ในสถานการณ์การระบาดที่ไม่มากนักและไม่มีข้อมูลการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมถึงผลจากการกลายพันธุ์

 **โปรดอ่าน conflict of interest ท้ายวารสารด้วย**




 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม