28 พฤษภาคม 2564

แพ้ยาซัลฟา การตรวจในระดับยีน HLA-B*13:01

 แพ้ยาซัลฟา การตรวจในระดับยีน ที่ประเทศไทยทำได้ !!

ยากลุ่มซัลฟา เป็นยาอีกกลุ่มที่คนไทยเราแพ้เป็นจำนวนมาก ทั้งยาฆ่าเชื้อซัลฟาเช่น sulfamethoxazole ในตัวยา co-trimoxazole หรือ sulfadiazine, sulfasalazine

รวมไปถึงการแพ้ยาซัลฟาข้ามกลุ่มไปในกลุ่มที่ไม่ใช้ยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาขับปัสสาวะ furosemide หรือยาเบาหวาน gliplizide

การแพ้ยาซัลฟามีทั้งแบบปฏิกิริยาไม่รุนแรง ไปจนถึงปฏิกิริยารุนแรงมาก อักเสบในทุกอวัยวะ ผื่นผิวหนังรุนแรง ผิวหนังหลุดลอกเป็นพื้นที่กว้าง ในกลุ่มแพ้ยารุนแรงมีอันตรายและอัตราตายสูงมาก

ในอดีตเราแทบไม่มีอะไรมาคาดเดาว่าใครคนใดจะแพ้ยา การใช้ยาซัลฟาจึงไม่ค่อยปลอดภัยทั้ง ๆ ที่ตัวยาหลายชนิดก็ยังมีประสิทธิภาพสูง (ซัลฟาเป็นยาฆ่าเชื้อตัวแรกในโลกครับ)

ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเวชพันธุศาสตร์ นักวิจัยสามารถเข้าถึงการแพทย์แม่นยำ Precision medicine มากขึ้น ด้วยการลงลึกไปถึงปัจจัยการเกิดโรคในระดับยีน และพบว่ามียีนที่เดี่ยวข้อกับการแพ้ยาซัลฟานี้ด้วย

ผลงานร่วมของนักวิจัยไทยทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ ที่สร้างผลงานการตรวจยีน สร้างชุดตรวจราคาไม่แพงและผลักดันให้อยู่ในสิทธิประโยชน์ของการตรวจ ที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับยีนแพ้ยา carbamazepine (HLA-B*15:02) และยา allopurinol (HLA-B*58:01) วันนี้สามารถตรวจยีนแพ้ยาซัลฟาได้แล้ว

การศึกษาทั้งจากไทยและจากความร่วมมือหลายประเทศที่ไต้หวัน ทำให้เราทราบข้อมูลว่า

หากใครที่มียีนแพ้ยา HLA-B*13:01 หากได้รับยา co-trimoxazole จะมีโอกาสแพ้ยารุนแรงที่เรียกว่า DRESS มากกว่าคนที่ไม่มียีนนี้ถึง 40 เท่า และเพิ่มโอกาสการแพ้ยารุนแรงในทุกรูปแบบ (รวมผื่นรุนแรงและผิวหนังลอกด้วย) ถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่มียีนนี้

การศึกษาในคนไทยก็พบเหมือนกันว่า คนที่มียีน HLA-B*13:01 เพิ่มความเสี่ยงการแพ้ยา co-trimoxazole แบบ DRESS และพบว่าหากมียีน HLA-B*15:02 ก็เพิ่มความเสี่ยงการแพ้ยาแบบผื่นผิวหนังรุนแรงอีกด้วย

และในประเทศไทยตอนนี้สามารถตรวจยีนแพ้ยา HLA-B*13:01 ได้แล้วนะครับ ในราคาที่ไม่แพงประมาณ 1000-2000 บาท ที่แล็บของรพ.รามา จุฬา ศิริราช และศรีนครินทร์ (ยังไม่บรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ทางการรักษานะครับ) ทำให้เราสามารถคาดเดา เลือกใช้ และแนะนำการใช้ยาซัลฟาได้อย่างแม่นยำขึ้น เป็นผลดีต่อทั้งคนไข้และผู้ให้การรักษาครับ

ขอขอบคุณ อ.วิจิตรา ทัศนียกุล จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในคณะวิจัยหลักที่เอื้อเฟื้อข้อมูลครับ

ที่มา
1. (abstract) Sukasem, C., Pratoomwun, J., Satapornpong, P., Klaewsongkram, J., Rerkpattanapipat, T., Rerknimitr, P., Lertpichitkul, P., Puangpetch, A., Nakkam, N., Konyoung, P., Khunarkornsiri, U., Disphanurat, W., Srisuttiyakorn, C., Pattanacheewapull, O., Kanjanawart, S., Kongpan, T., Chumworathayi, P., Saksit, N., Bruminhent, J., Tassaneeyakul, W., Chantratita, W. and Pirmohamed, M. (2020), Genetic Association of Co-Trimoxazole-Induced Severe Cutaneous Adverse Reactions Is Phenotype-Specific: HLA Class I Genotypes and Haplotypes. Clin. Pharmacol. Ther., 108: 1078-1089. https://doi.org/10.1002/cpt.1915

2. ฉบับเต็ม อ่านฟรี Allergy Clin Immunol. 2021 Apr; 147(4): 1402-1412

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม