09 พฤษภาคม 2564

วัคซีนมาเลเรีย

คุณทราบไหมว่าโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาอันดับหนึ่งขององค์การอนามัยโลกคืออะไร ไม่ใช่เอดส์ ไม่ใช่ไข้เลือดออก ไม่ใช่วัณโรค แต่คือ ... มาเลเรีย

มาเลเรีย โรคติดต่อจากยุงก้นปล่อง ยุงอะมินอล์ฟฟิลิส ทำให้เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตมากมายโดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โรคนี้ดื้อยาเร็วมากและเป็นปัญหาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับเชื้อมาเลเรียตัวร้ายที่สุด Plasmodium falciparum ที่ทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตกพร้อม ๆ กันเกือบทั้งตัว ไตวาย ระบบหัวใจล้มเหลวและมาเลเรียขึ้นสมอง หากรักษาไม่ทันจะถึงแก่ชีวิต

แต่โรคมาเลเรียไม่ได้ควบคุมง่ายเหมือนไข้เลือดออก ยุงอะมินอล์ฟฟิลิสควบคุมได้ยากกว่า ความพยายามเพื่อป้องกันโรคไม่มีเพียงแต่การป้องกันยุงกัดเท่านั้น ยังมีการให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดโรค (chemoprophylaxis) แต่ปัจจุบันเราใช้น้อยลงมาก เน้นไปที่การวินิจฉัยให้เร็วและรีบรักษา ความหวังของเราคือ วัคซีน

วัคซีน คือ การฉีดเชื้อเข้าไปให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ต่างจากการให้ยาเพื่อป้องกัน ในอดีตเรามีวัคซีนโรคมาเลเรียชื่อ Mosquitorix จากบริษัทแกล็กโซสมิธไคล์น ที่ให้ผลป้องกันการเกิดมาเลเรียได้ 55% ในปีแรกและ 36% ในระยะเวลาสี่ปี จากการศึกษาในแอฟริกา แต่ประสิทธิภาพที่ได้ยังน้อยไป วันนี้เรามีการศึกษาจากสถาบันออกซเฟิร์ด-เจนเนอร์ ที่เน้นการวิจัยเรื่องวัคซีนเป็นหลักที่ปรับปรุงประสิทธิภาพของวัคซีน หวังผลป้องกันมากกว่า 75%

แนวคิดคือ เปลี่ยนองค์ประกอบอันหนึ่งของวัคซีนที่เรียกว่า adjuvant (ไม่ได้เปลี่ยนชิ้นส่วนตัวเชื้อพลาสโมเดียม ที่เป็นเชื้อมาเลเรีย) เทียบกับวัคซีนหลอกคือวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า (ใช้เทคนิคการผลิตคล้ายกัน) และเป็นการรักษาสิทธิของผู้ที่ได้รับยาหลอกว่า อย่างน้อยก็มีประโยชน์คือรับวัคซีนอย่างใดอย่างหนึ่ง  ... ส่วนตัวคิดว่าไม่แฟร์เลย เพราะวัคซีนมาเลเรียตัวนี้มาจากโครงสร้างไวรัสที่จะนำเข้าเซลล์คือ ไวรัสตับอักเสบบี น่าจะใช้วัคซีนไวรัสตับอักเสบเป็นยาหลอกมากกว่า ...

การศึกษานี้ทำในประเทศบูร์กินา ฟาโซ โดยกลุ่มศึกษาคือเด็กทารก 5-17 เดือน จำนวน 450 คน มารับวัคซีนก่อนฤดูระบาด โดยรับสามเข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อผ่านไปหนึ่งปี แล้วติดตามดูว่าเด็กเหล่านี้ติดเชื้อมาเลเรียมาน้อยเพียงใด ในระยะเวลาหนึ่งปี ก่อนรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

ผลการศึกษาออกมาดังนี้
  • ในกลุ่มยาหลอกคือวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เป็นมาเลเรีย 106/147 ราย
  • ในกลุ่มที่รับวัคซีน เป็นมาเลเรีย 39/146 ราย
    • วัคซีนขนาดต่ำ มีประสิทธิภาพ 71%
    • วัคซีนขนาดสูง มีประสิทธิภาพ 77%      
  • ผลข้างเคียงของสองกลุ่มไม่ต่างกัน ไม่มีผลแทรกซ้อนรุนแรงใด ๆ ในระยะหนึ่งปีที่ติดตามผล

นับว่าเป็นความหวังสำคัญมากเลยทีเดียว ที่จะหยุดยั้งโรคที่เป็นผู้ร้ายอันดับหนึ่งและควบคุมยากที่สุดมาตลอด ในการควบคุมโรคติดเชื้อการพัฒนาวัคซีนในโรคที่ผลิตวัคซีนได้ถือว่าสำคัญมากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม