21 พฤษภาคม 2564

คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ประกาศใหม่จาก USPSTF 2021

 คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ประกาศใหม่จาก USPSTF 2021 มีอะไรต่างจากเดิมบ้าง

ของเดิม : คัดกรองในคนอายุ 50-75 ปี ที่ไม่มีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากโรคลำไส้ทางพันธุกรรม ด้วยวิธีการตรวจอุจจาระ การถ่ายภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ หรือการส่องกล้องลำไส้

ของใหม่ : ขยายเวลา ลงมาถึง 45 ปีก็เริ่มได้ แต่น้ำหนักหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง ไม่หนักแน่นเท่าอายุ 50-75 ปี ส่วนอายุมากกว่า 75 ปี ให้พิจารณาเป็นราย ๆ ไป

สิ่งที่เราควรรู้

1. อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นในกลุ่มอายุ 40-49 ปี และมีการศึกษาว่าหากเราไปคัดกรองกลุ่มนี้จะลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ (สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดในเอเชีย)
--. ส่วนตัว คิดว่าด้วยเทคโนโลยีการตรวจที่ง่ายและเข้าถึงมากทำให้โอกาสเจอโรคเยอะขึ้น คนที่เป็นโรคอยู่ได้ยืนยาวสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมไปสู่ลูกหลานได้มาก พฤติกรรมและอาหารที่เปลี่ยนก็ทำให้โรคมากขึ้น

2. อายุ 76-85 มีอุบัติการณ์สูง แต่การรักษาและคัดกรองไม่ค่อยลดอัตราตาย จึงพิจารณาเป็นราย ๆ
--. ด้วยอายุและโรคร่วมที่มาก การไปวัดอัตราตาย อาจตายจากอย่างอื่น อีกอย่างการจะลดอัตราตายได้คือต้องรักษาหลังคัดกรองด้วย คนอายุมากจะมีอุปสรรคในการผ่าตัด

3. ถ้าเรามีความเสี่ยงเพิ่ม ให้คัดกรองตามความเสี่ยงนั้น ใช้เกณฑ์นี้ไม่ได้ เช่น พ่อแม่เป็นมะเร็งลำไส้ เคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ มีโรคพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ในเครือญาติ คุณหมอที่รักษามะเร็งจะแนะนำการตรวจคัดกรองในเครือญาติด้วยเสมอ
--. ประสบการณ์ส่วนตัว ความสำเร็จในการแนะนำญาติให้คัดกรอง ต่ำกว่า 10%

4. ตรวจง่ายและสะดวก คือ การตรวจอุจจาระ แต่หากพบความผิดปกติต้องไปส่องกล้องลำไส้ และต้องตรวจบ่อย ทุกหนึ่งถึงสามปี ทำให้บางคน เบื่อ ที่จะตรวจ ทั้งสามวิธีนี้ปลอดภัย ความเสี่ยงอันตรายอยู่ที่หากตรวจพบแล้วจะต้องไปส่องกล้อง เสี่ยงตรงส่องกล้องนี่แหละครับ

1. High-sensitivity gFOBT อันนี้ใช้บ่อย ตรวจง่าย ส่งง่าย ราคาถูก แต่ต้องส่งสามวัน ทำปีละครั้ง หลักฐานทางการแพทย์ดีมากว่าลดการเสียชีวิต

2. Fecal Immunochemistry Test ตรวจโดยใช้แอนติบอดีหาเลือดในอุจจาระ ส่งปีละครั้ง ครั้งละหนึ่งวัน ง่ายดี แต่แพงกว่า หลักฐานทางการแพทย์ไม่ดีเท่าวิธีแรก

3. Stool DNA หาชิ้นส่วนมะเร็งในอุจจาระ มีความจำเพาะมากแต่อาจจะไม่ไว สามารถทำได้ทุก 1-3 ปี สะดวกแต่แพง ตอนนี้ในไทยมีตรวจแล้ว และแล็บที่ตรวจต้องได้รับการรับรองวิธีตรวจ อย่างของอเมริกาเขารับรองเฉพาะ multi-target คือต้องตรวจสารพันธุกรรมได้หลากหลายและครบถ้วน จึงเชื่อถือได้

5. การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) ถือเป็นการตรวจระดับ GOLD standard เพราะเห็นลำไส้และสามารถตัดชิ้นเนื้อไปตรวจได้ในเวลาเดียวกัน กำหนดทำทุกสิบปี จะเห็นว่าทำไม่กี่ครั้งเองนะ ในช่วงชีวิตที่ต้องคัดกรอง ทำเพียงสามครั้งเอง แต่ว่าราคาแพง แต่ว่าต้องเตรียมตัวก่อนตรวจและอาจเกิดอันตรายจากการส่องกล้องได้ และที่สำคัญคือ ปริมาณกล้องและปริมาณทีมส่องกล้องในประเทศเราไม่พอจะคัดกรองคนไทยหมดอย่างแน่นอน (ส่วนตัวคิดว่าเก็บไว้กลุ่มเสี่ยงสูงหรือตรวจด้วยวิธีที่ไวและง่ายแล้วได้ผลบวก ก็พอ)

6. การถ่ายภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonography) ทำง่ายดี เตรียมลำไส้ไม่ยุ่งยากนัก ลดความเสี่ยงจากการส่องกล้องได้ แต่ถ้าผลไม่ชัดเจน ก้ำกึ่งหรือต้องการชิ้นเนื้อ ก็ต้องไปส่องกล้องอยู่ดี การตรวจนี้ทำทุก 5 ปี ง่ายแต่ต้องทำบ่อยขึ้น (ค่าใช้จ่ายพอ ๆ กับส่องกล้องนะครับ)
ข้อได้เปรียบอีกอย่างคือเห็นความผิดปกตินอกลำไส้ได้ด้วย แต่จะนับเป็นข้อดีก็ยาก เพราะเจ้าความผิดปกตินอกลำไส้ทั้งหลายนี้ มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ หรือช่วยในการคัดกรองน้อยมากเลย **ไม่มีการศึกษาโดยตรงที่มาสนับสนุนว่าวิธีนี้ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่)**

7. การส่องกล้องลำไส้ส่วน sigmoid (flexible sigmoidoscopy) คำแนะนำทำทุก 5 ปี หรือหากใช้วิธีตรวจอุจจาระ FIT ร่วมด้วยทุกปี ก็อาจจะขยายเป็นทุก 10 ปี มีความเสี่ยงอันตรายเหมือนกับการทำส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ลำไส้ส่วนซิกมอยด์คือบางส่วนของลำไส้ใหญ่อยู่ใกล้ทวารหนัก เนื่องจากความแม่นยำของวิธีนี้ต่ำและไม่สามารถคัดกรองลำไส้ทั้งหมดได้ บางสมาคม บางคำแนะนำไม่มีวิธีนี้อยู่

-- แต่ที่วิธีนี้ยังอยู่เพราะ การคัดกรองเจอแล้วรักษา ยังดีกว่าไม่ทำอะไร และการใช้วิธีนี้ยังปรากฏอยู่จึงเป็นคำแนะนำที่เลือกใช้ได้

8. มะเร็งลำไส้ในระยะต้นที่ไม่ลุกลาม หากไม่ใช่พันธุกรรมดุร้ายอะไร เรารักษาแค่ตัดลำไส้เท่านั้นเองนะครับ ไม่ต้องให้เคมีบำบัด ไม่ต้องฉายแสง ไม่ต้องให้ยาชีวภาพ แต่ถ้าไปตรวจพบระยะลุกลาม การรักษาจะยุ่งยากและแทรกซ้อนเยอะมาก นี่น่าจะเป็นประโยชน์หลักของการคัดกรอง
--. ประเทศเราเพิ่งอนุมัติการใช้ยาเคมีบำบัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีสามตัว ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทุกสิทธิการรักษาใช้ได้คือ ยา iritotecan, oxaliplatin และ capecitabine (ยากิน)

9. *** คนปกติ ชาวบ้านร้านตลาด ไม่ค่อยทราบข้อมูลนี้ *** บุคลากรทางการแพทย์ต้องเพิ่มความตระหนักรู้และแนะนำ และที่สำคัญคือ การคัดกรองส่วนมากต้องจ่ายเงินเองครับ แต่เป็นการจ่ายที่คุ้มค่าทีเดียว ผมยกตัวเลขกลม ๆ ของไปส่องกล้องในรพ.เอกชนระดับกลาง ประมาณ 25000 บาททุกสิบปี คือสะสมเงินปีละ 2500 บาทครับ หรือจะตรวจอุจจาระก่อนก็ได้ครับ ราคาถูก ง่ายกว่า ไม่ต้องคิดเยอะ ผิดปกติค่อยว่ากัน

10. กรองไม่กรอง จะทำไม่ทำ เราต้องตัดสินใจเอาเองครับ แต่การตัดสินใจต้องมาจากข้อมูลที่มากพอด้วย

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม