12 กันยายน 2563

ใช้ผลการตรวจเพียงอย่างเดียว ไม่ดูบริบทแวดล้อม เราจะมีโอกาสผิดสูง

 หากเราได้มองเรื่องการพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศไทย หรือรายงานผู้ตรวจพบเชื้อที่เดินทางออกมาจากประเทศไทย คำถามที่เรามักจะมีในใจคือ ทำไม่ตรวจไม่พบในตอนแรก แล้วมาพบตอนหลัง แบบนี้แสดงว่าอะไร

คำตอบเรื่องนี้ต้องอาศัยความเข้าใจและการบูรณาการความรู้เรื่องจุลชีววิทยา โรคติดเชื้อ การตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ และที่สำคัญต้องกำจัดอคติไปให้หมด

ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ออกมาให้เราทราบว่าผลเป็น "บวก" หรือ "ลบ" ไม่เท่ากับ "เป็นโรค" หรือ "ไม่เป็นโรค" ยกตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ วิธีการตรวจเชื้อด้วยการตรวจ RT-PCR ที่จะตรวจจับสารพันธุกรรมของเชื้อได้

เมื่อมีการติดเชื้อ ปริมาณไวรัสจะมากและค่อย ๆ ลดลงเมื่อร่างกายเรากำจัดไป และแม้กำจัดเชื้อได้แล้ว ชิ้นส่วนของเชื้อที่ยังมีสารพันธุกรรมนั้น ยังอยู่ในเซลล์ของเรา ดังนั้น แม้เราจะ "ควบคุม" เชื้อไวรัสในตัวเราได้ และทำให้มันตายไป แต่การตรวจ RT-PCR จะยังตรวจพบ "สารพันธุกรรม" อันบ่งชี้ว่ามีเชื้อในตัว

RT-PCR จึงเป็นวิธีที่ไวมาก โดยเฉพาะเมื่อการติดเชื้อในระยะแรก ๆ ที่เชื้อยังปริมาณไม่มากนัก เราจะสามารถตรวจจับการติดเชื้อได้ไวตั้งแต่แรก เพื่อตัดการรักษาและควบคุมได้เหมาะสม แต่หากใช้วิธีเดียวกันนี้ (ในวิธีนี้มันก็มีวิธีย่อยอีกเยอะเลย) ไปตรวจในระยะหลังที่ติดเชื้อ หรือเชื้อถูกร่างกาย "ควบคุม" ได้แล้ว มันก็จะยังตรวจเจอเช่นกัน จนกว่าเซลล์ที่มีชิ้นส่วนเชื้อโรคเกาะอยู่จะสูญสลายไป

เราจึงต้องใช้วิธีอื่นมาช่วย เช่น ใช้เกณฑ์ Ct ของการทำ RT-PCR มาตัดสินผลการตรวจที่ตรวจในระยะเวลาที่ต่างกัน หรือใช้ผลการตรวจระดับภูมิคุ้มกัน antibody testing ในระยะเวลาที่ต่างกัน มาช่วยกันวิเคราะห์และให้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราทราบว่า การตรวจได้ผล "บวก" ตามนิยามของการตรวจแต่ละประเภท มันคือการ "เป็นโรค" ตามคำนิยามของเราหรือไม่

เพราะหลายครั้ง การพบผลบวกด้วยวิธีการตรวจวิธีใดวิธีหนึ่งไม่เท่ากับ "การเป็นโรค" เสมอไป จำเป็นต้องรู้จัก ข้อดี **ข้อจำกัด** และวิธีแปลผลของการตรวจแต่ละประเภท แล้วนำมาคิดร่วมกับ โอกาสที่จะเกิดโรค โอกาสที่จะออกผลบวกหรือลบ ที่เราคาดคะเนไว้ก่อนตรวจ นำสองอย่างนี้มาแปลผลร่วมกันว่า
- ติดโรคหรือไม่
- เป็นโรคหรือไม่
- ติดมาจากไหน
- โอกาสเป็นโรคหรือแพร่เชื้อมีมากน้อยเพียงใด

ถ้าเราใช้ผลการตรวจเพียงอย่างเดียว ไม่ดูบริบทแวดล้อม เราจะมีโอกาสผิดสูง
ถ้าเราใช้การตรวจที่ไม่เหมาะสมกับเวลา ถึงแม้เป็นการตรวจที่ไวและจำเพาะเพียงใด ก็โอกาสผิดสูง
ยิ่งถ้าเราไม่รู้ทั้งเรื่องการตรวจ ไม่รู้ทั้งเรื่องโรค แล้วจับผลการตรวจว่าบวกหรือลบ มาแปลผลว่า เป็นหรือไม่เป็น ก็เหมือนการจับแพะชนแกะนั่นเอง

ในภาพอาจจะมี สถานที่กลางแจ้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม