22 ธันวาคม 2559

วัคซีนไข้เลือดออก

โหมกระหน่ำกับข่าววัคซีนป้องกันไข้เลือดออก พอๆกับมือสังหารมือปืน หลายๆความเห็นในโลกสังคมออนไลน์ยังอุดมด้วยข้อสงสัย เอาตามสไตล์ของผม ไม่เข้าข้างใคร ไม่มีประโยชน์ทับซ้อนใคร ผมไปทบทวนบทความ วารสาร และ ประกาศองค์การอนามัยโลก เอามาเล่าให้ฟัง

   อย่างที่รู้ๆกันนะครับ โรคไข้เลือดออกเดงกี่ เป็นปัญหาระดับโลก แต่ละปีๆได้คร่าชีวิตผู้คนและทำให้เกิดความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจมากมายแม้ว่าจะไม่เสียชีวิตก็ตาม ที่เรียกไข้เลือดออกเดงกี่ก็เพราะยังมีไข้เลือดออกและเชื้อใกล้เคียงไข้เลือดออกอีกมาก เช่น อีโบลา ซิกา ไข้เหลือง ความพยายามที่จะควบคุมโรคได้ทำอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ จนแนวคิดเรื่องการใช้วัคซีนมีการพัฒนาขึ้น
  ก็ต้องบอกว่าการพัฒนาวัคซีนเดงกี่ มีมานานแล้วนะครับและประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศหลักที่มีการศึกษาพัฒนาวัคซีนเดงกี่ ที่จังหวัดราชบุรี โดยท่านอาจารย์อุษา ทิสยากร

   การพัฒนาวัคซีนเริ่มตั้งแต่ปี 1930 เกือบๆ 90ปีแล้ว มีการพัฒนาให้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ และรูปแบบของวัคซีน ในตอนนี้ที่ออกมาใช้ เรียกว่า chimeric vaccines คือมีสายพันธุ์ของไข้เหลืองมาเป็นองค์ประกอบด้วย ทำด้วยวิธีทางพันธุวิศวกรรม ยังมีวิธีที่จะเกิดและกำลังคิดค้นให้ดีขึ้น เช่น การใช้ดีเอ็นเอ ไวรัสตัวที่ตาย หรือชิ้นส่วนไวรัส จนเมื่อปี 2014 ได้มีการทดลองในอาสาสมัครในสองสูตรวัคซีนคือ CYD14 ในเอเชีย และ CYD15 ในอเมริกาใต้ จนได้ผลสรุปการศึกษาลงในวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อ กรกฎาคม 2558 ถือเป็นวารสารที่เป็นหลักที่ใช้ในการยืนยันผลของวัคซีนตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศ ผมขอสรุปคร่าวๆนะครับ ส่วนรายละเอียด ใครสนใจไปค้นเพิ่มได้จากอ้างอิงด้านล่าง

   1. ใช้กลุ่มประชากรเด็กอายุ 2-16 ปี มารับวัคซีนที่วันตรวจ เดือนที่  6 และเดือนที่ 12 ทั้งหมดสามเข็ม และเริ่มติดตามตั้งแต่ฉีดวัคซีนเข็มแรกนับวันแรก ติดตามทั้งหมด 3-4 ปี โดยแบ่งการวิเคราะห์เป็นช่วงสองปีแรกและหลังจากสองปี ***ที่ทำแบบนี้ ผมคาดเดาว่าคงต้องการแสดงประโยชน์ที่ชัดเจนในช่วงสองปีแรกที่ภูมิยังสูงอยู่***

  2. การวัดผลสำเร็จของวัคซีน วัดจากคนที่ได้วัคซีนครบสามเข็มเท่านั้น ผลนั้นคือ อัตราการป่วยเป็นไข้เลือดออก อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนผลอื่นๆวัดจากผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดไม่ว่าจะได้ฉีดครบหรือไม่ก็ตาม

  3. อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยไข้เลือดออก (เขาใช้การจับตัวไวรัสเพื่อยืนยันเลยครับ) พบว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีนเข้านอนโรงพยาบาลมากกว่ากลุ่มไม่ไดวัคซีนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี (ชัดๆคือ 2-5 ปี)  ถึงแม้อายุมากกว่า 9 ปีก็เข้านอนรพ.มากกว่านะ แต่สัดส่วนก็ไม่ได้มากเท่ากับอายุน้อยกว่า 9 ปี
  **ตรงนี้น่าจะมาเป็นข้อกำหนดให้ในอายุมากกว่า 9ปี**

  4. ประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อหลังจากได้รับวัคซีนสำหรับเด็กอายุมากกว่า 9 ปีอยู่ที่ 65.6% เทียบกับเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี ที่ 44.6% ซึ่งถ้าแยกย่อยลงไปก็จะพบว่าประสิทธิภาพการป้องกันจะไม่ถึง 50% สำหรับเดงกี่สายพันธุ์หนึ่งและสอง แต่จะประสิทธิภาพสูงในสายพันธุ์สามและสี่

  5. ประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงโดยรวมอยู่ที่ 92.9% ซึ่งร้อยละ 93.2 ป้องกันได้ในเด็กอายุมากกว่า 9 ปี ส่วนเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปีนั้นจะลดความรุนแรงได้แค่ 44.5%

  สิ่งหนึ่งที่อาจอธิบายเรื่องอายุเก้าปีคือ ส่วนมากคนที่ตอบสนองต่อวัคซีนคือคนที่มีภูมิคุ้มกันมาก่อนแล้ว ***ซึ่งผมคิดว่าก็น่าจะอายุประมาณเก้าปี*** ส่วนอายุน้อยกว่านั้นป้องกันได้น้อยแถมมีโอกาสติดเชื้อนอนโรงพยาบาลมากขึ้น ก็ด้วยเหตุผลที่ เด็กกลุ่มนี้ไม่เคยคิดเชื้อมาก่อน พอได้วัคซีนตัวเป็นก็เหมือนการติดเชื้อครั้งแรก ซึ่งธรรมชาติของไข้เลือดออกก็ขะติดเชื้อรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อครั้งที่สอง (คือการติดเชื้อตามธรรมชาติหลังได้รับวัคฅีนนั่นเอง) *** ก็น่าจะอธิบายว่าอัตราการติดเชื้อจนนอนโรงพยาบาลสูงขึ้นในกลุ่มที่ได้วัคซีน***

  และที่สำคัญการติดตามประสิทธิภาพในช่วงสองสามปีที่มีผลมากและได้ผลลดลงในปีต่อๆไป อาจจะบอกว่าภูมิคุ้มกันอาจตกลงได้

ดังนั้นการใช้งานในประเทศที่มีการระบาดสูงน่าจะได้ผลดี เพราะมีโอกาสที่เด็กที่ได้รับวัคซีนจะเป็นกบุ่มเด็กที่เคยได้รับเชื้อมาแล้วประสิทธิภาพของวัคซีนน่าจะสูงครับ ก็ไม่ต้องไปตรวจคัดกรองดูก่อนว่าเคยติดเชื้อหรือมีภูมิหรือยัง แต่ถ้าประเทศที่การระบาดไม่มากอันนั้นจะต้องตรวจหรือไม่ต้องรอการศึกษาต่อไป เรื่องความคุ้มค่า  **ในส่วนตัว สำหรับประเทศไทย ถ้าไม่ได้ฉีดนอกจากข้อแนะนำ ผมว่าน่าจะยังมีประโยชน์ครับ เพราะความสูญเสียเชิงเศรษฐศาสตร์เวลาเป็นไข้เลือดออกในแต่ละปี มันมากมายเหลือเกิน***

  ส่วนการใช้งานในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 16 ปี ผมยังไม่สามารถแปลผลได้ถึงขนาดนั้นจากข้อมูลที่มีในมือนะครับ   ผลการศึกษาและประสิทธิภาพยังคงต้องทำต่อไปและศึกษาต่อไปครับ

Thisyakorn U, Thisyakorn C. Latest developments and future directions in dengue vaccines. Therapeutic Advances in Vaccines. 2014;2(1):3-9. doi:10.1177/2051013613507862.

http://www.who.int/immunization/research/development/dengue_q_and_a/en/

N Engl J Med 2015; 373:1195-1206September 24, 2015DOI: 10.1056/NEJMoa1506223

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม