22 ธันวาคม 2559

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย

fibromyalgia หนึ่งในโรคที่ยากที่สุดโรคหนึ่ง อาการไม่ชัด ตรวจร่างกายไม่ง่าย มีอาการร่วมกับโรคอื่น คนไข้มักจะผ่นมาหลายมือหลายหมอ สรุปมาจากการบรรยายของ อ.กัมมันต์ พันธุมจินดา, อ.รัตนาวดี ณ นคร และ อ.สุรชัย เกื้อศิริกุล  ในงานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และ Davidson Internal medicine, Primer in Rheumatology รายละเอียดต้องอ่านเพิ่มนะครับ

1. โรคนี้ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความผิดปกติของสารสื่อประสาทในระบบของการรับความเจ็บปวด (pain pathway) ทั้ง dopamine และ serotonin ของระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย เช่น substance P แต่พยาธิกำเนิดจริงๆยังไม่ชัด  และเริ่มพบว่ามีส่วนสัมพันธ์กับพันธุกรรม

2. ลักษณะที่ใช้วินิจฉัยคือ อาการปวดทั่วตัวบนล่างซ้ายขวา (widespread pain) ไม่กระจายตามเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ ปวดเรื้อรัง เวลาอย่างน้อย 12 สัปดาห์ และบางทีก็มีอาการอื่นร่วมด้วยเช่นอาการจุกแน่น เหนื่อยเพลีย ซึมเศร้า นอนไม่หลับโรคนี้สามารถพบร่วมกันโรคอื่นได้

3.อาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ไม่สบาย เป็นอีกหนึ่งอาการหลัก อาการปวดนั้นจะแปลกออกไป เช่นปวดมากกว่าปกติแตะนิดเดียวปวดมากและเรื้อรัง (hyperalgia) และ อาการปวดที่ผิดออกไป เช่น มีการสัมผัสเบาๆแต่รู้สึกเจ็บ (allodynia)

4. การตรวจร่างกายที่สำคัญมาก คือ การตรวจหาจุดเจ็บ tender point อย่างน้อย 11 ใน18 จุดตามรูปสาวน้อยสามนางที่แนบมาให้ และต้องตรวจร่างกายหา tender point (tender point surveys)ก่อนการตรวจร่างกายอย่างอื่น ที่ต้องตรวจทุกระบบ เพราะโรคนี้สามารถเกิดร่วมกับโรคอื่น และอาการแสดงของโรคนี้ก็คล้ายกับโรคแพ้ภูมิตัวเองหลายโรค

5. การตรวจหาจุดกดเจ็บต้องทำเป็นอย่างแรกก่อนตรวจอย่างอื่น การตรวจตามมาตรฐานต้องใช้อุปกรณ์การตรวจ dolorimeter วัดแรงกดด้วยที่ 4 กิโลกรัม อัตราเร็วหนึ่งกิโลกรัมต่อวินาที หรือใช้นิ้วหัวแม่มือกดช้าๆค่อยๆเพิ่มจนหัวแม่มือซีดขาว ห้ามคลึง ห้ามรูด กดแล้วปล่อย โดยมีจุดอ้างอิงที่หน้าผาก ท้องแขน หัวแม่มือ แล้วให้คะแนนแต่ละจุดเป็นคะแนน 0-10 0 คือไม่เจ็บ 10 คือเจ็บมาก เอามาหาค่าเฉลี่ย  และอย่าลืมเทียบกับค่าเฉลี่ยของจุดอ้างอิงทั้งสามจุดด้วยนะครับ

6. โรคอื่นๆสามารถมีอาการร่วมกับ fibromyalgia ได้ เป็นโรคที่เป็นร่วมกันได้เพราะโรคอื่นๆโดยเฉพาะโรคทางข้อและรูมาติสซั่มเป็นไปนานๆก็จะมีความผิดปกติของระบบการรับความเจ็บปวดในร่างกาย แต่ที่สำคัญคือถ้าเป็น fibromyalgia อย่างเดียวจะไม่มีไข้และตรวจการอักเสบ ESR ก็จะไม่สูง  โรคที่พบร่วมกันบ่อยๆคือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์และ polymyalgia rheumatica

7. เนื่องจากพยาธิกำเนิดไม่ได้เกิดจากการอักเสบ การใช้ยาแก้ปวดชนิดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ NSAIDs เพราะมักจะไม่ได้ผลและมีผลข้างเคียง ยาที่ใช้ได้ดีในการรักษาโรคนี้คือ pregabalin และ duloxitine ตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยาของอเมริกา

8. ในประเทศไทย มียาทั้งคู่ ส่วนยาอีกชนิดที่ใช้พอได้ ราคาถูกและอยู่ในบัญชียาหลักคือ tricyclic antidepressant เช่น amitriptyline, nortriotyline ซึ่งสามารถรักษาได้ทั้งอาการปวด อาการนอนไม่หลับ และ อาการเศร้าซึม แต่ต้องใช้ในขนาดสูงกว่าปกติ ซึ่งมักจะเกิดผลข้างเคียง ปากแห้ง ท้องผูกหรือ วูบเวลาลุกยืนได้

9. คนไข้กลุ่มนี้ เนื่องจากมีอาการมานาน รักษาหลายที่ ตอบสนองบ้างไม่ตอบสนองบ้าง ขะมีอาการเครียดหรือซึมเศร้าหรือนอนไม่หลับร่วมด้วย อาจจะต้องให้นักจิตวิทยา หรือการรักษาแบบทีมเพื่อแก้ไขประเด็นโรคซึมเศร้าด้วย

10. ยาใหม่ๆได้แก่ venlafazine, desvenlafazine มีรายงานและการศึกษามากขึ้นว่าสามารถรักษาและช่วยแก้ไขคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ แต่ยังคงต้องรอการศึกษาที่มากขึ้นต่อไป

ในเว็บไซต์นี้ เขียนละเอียดมากเกี่ยวกับวิธีการตรวจ ตาม ACR criteria 1990
http://www.fmcpaware.org/diagnosis-articles/the-manual-tender-point-survey.html

พันธุกรรมใน fibromyalgia
Buskila, Dan, and Piercarlo Sarzi-Puttini. “Biology and Therapy of Fibromyalgia. Genetic Aspects of Fibromyalgia Syndrome.” Arthritis Research & Therapy 8.5 (2006): 218.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม