11 ธันวาคม 2559

บทบาทของญาติ

หนึ่งในทีมการรักษาที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วย คือ ญาติ พ่อแม่พี่น้อง ลูกหลาน คนที่รัก หลายท่านไม่ทราบว่าบทบาทแห่งการรักษาของท่านไม่ได้น้อยไปกว่าทีมแพทย์ ทีมพยาบาลเลย  ผมใช้ประสบการณ์มาสรุปสิ่งที่ควรทราบ ควรปฏิบัติ และควรหลีกเลี่ยง โดยรวมๆ

1. ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความอบอุ่น มีคนอยู่เป็นเพื่อน ไม่โดดเดี่ยว คนไข้ก็จะไม่กังวลไม่เครียด

2. มีคนช่วยรับฟังข้อมูลของการรักษาพยาบาล และมีคนช่วยแจ้งข้อมูลของคนไข้ เพราะคนไข้เวลาเจ็บป่วยอาจได้รับหรือแจ้งข้อมูลได้ไม่เต็มที่

3. มีส่วนร่วมในการตัดสินใจการรักษา การรักษาหรือหัตถการบางอย่าง จะต้องมีการแจ้งให้ญาติทราบ เพื่อตัดสินใจร่วมกันครับ

4. หนึ่งในทีมการรักษาที่ช่วยเราได้ครับ เพราะญาติจะอยู่กับผู้ป่วยเกือบตลอดเวลา มากกว่าการพยาบาลหรือเวลาเยี่ยมของแพทย์อย่างแน่นอน จะสามารถช่วยติดตามอาการหรือดูแลในประเด็นต่างๆเช่น การพลิกตัว การป้อนอาหาร

5. เข้าร่วมกับทีมการรักษา เมื่อผู้ป่วยจะกลับบ้าน ญาติจะช่วยถ่ายทอดการดูแลต่อที่บ้านอย่างถูกต้องและถ่ายทอดไปสู่ผู้ดูแลใกล้ชิดได้ เช่น การให้ยา การให้อาหารทางสายยาง

6. สำหรับญาติที่เข้าเยี่ยมผู้ป่วยเป็นเวลา เช่น หอผู้ป่วยสามัญ หรือ หอผู้ป่วยวิกฤต  สิ่งที่ญาติคิดคือรอเวลาเข้าเยี่ยมผู้ป่วย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมบอกได้คือ ผู้ป่วยก็รอท่านเช่นกัน ไม่ว่าผู้ป่วยรายนั้น จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็แล้วแต่ เขารอท่านเช่นกันครับ

7. สำหรับผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัว หมอเองหรือท่านเองก็ไม่มีทางทราบว่าเขารับรู้มากน้อยเพียงใด หรือบางครั้งเขาใส่อุปกรณ์ในการช่วยเหลือต่างๆ ทำให้สื่อสารทำไม่ได้  แต่การพูดคุย การสัมผัส จับมือ ลูบแขน เช็ดหน้า จะสื่อสาร คลายความกังวล และมีค่ากับคนไข้มาก

8. การติดเชื้อต่างๆในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสครับ ดังนั้นควรล้างมือทั้งก่อนและหลังสัมผัสคนไข้ สัมผัสเตียง หรือถ้าไม่สามารถล้างมือได้ก็ให้ใช้ แอลกอฮอล์แบบถูมือ ก็จะลดอัตราการติดเชื้อได้ครับ

9. ก่อนที่จะนำอาหารจากภายนอกมาให้ผู้ป่วย แนะนำให้ถามทีมการรักษาก่อนนะครับ ผู้ป่วยบางรายจำกัดอาหารด้วยเหตุผลบางประการ ที่อาจส่งผลต่อการรักษาครับ

อย่าลืม..คุณคือ.."คนสำคัญ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม