27 มิถุนายน 2568

ฝีฝักบัว (carbuncle)

 ฝีฝักบัว (carbuncle)

ถ้าเรามองเม็ดบัวหนึ่งเม็ดคือรูขุมขนหนึ่งรู ฝีฝักบัวคือ รูขุมขนทั้งฝักที่เป็นฝี “ต่อเนื่องกัน” ไม่ใช่พร้อมกัน ไม่เคลียร์ล่ะสิ ไปอ่านกันต่อ
เราเริ่มต้นที่รูขุมขน (hair follicle) แต่ละรูขุมขนจะมีเส้นขน ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ ซึ่งจะมีการอุดตันด้วยไขมัน เหงื่อ และมีการอักเสบเกิดเป็นสิว (acnes) ที่จะอุดตรงต่อมไขมันหรือรูเปิดท่อทั้งหลาย จึงมักจะเกิดตรงพื้นที่ไขมันมากเช่นใบหน้า อก
และถ้าการอักเสบมันลุกลามไปทั่วทั้งรูขุมขน จนเกิดเป็นตุ่มหนองตามรูขุมขน (folliculitis) และหากการอักเสบนั้นลุกลามรอบพื้นที่ไขมันของรูขุมขนจนเกิดเป็นฝี ขอบเขตหุ้มรอบรูขุมขนเรียกว่า furuncle ความเป็นฝีหรือ abscess จะมีโพรง มีผนัง มีขอบเขตค่อนข้างชัด
ขอบเขตชัดเกิดจากอีกหนึ่งกายวิภาค คือระหว่างรูขุมขน มันไม่ได้ต่อกันครับ มันมีสายใยบาง ๆ ผูกปลายข้างนึงไว้ที่ฉัน ... ไม่ใช่ล่ะ มันมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่แยกแต่ละรูที่เรียกว่า interfollicular septum
furancle จะไปเกิดกับพื้นที่ที่มีเส้นผมเยอะ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ที่ "มันเยิ้ม" เช่น ตีนผม รักแร้ หรือพื้นที่จุดที่อุดตันง่าย เช่น ก้น
และหากการอักเสบติดเชื้อมันไม่จบแค่รูขุมขนเพียงรูเดียวล่ะ อันนี้แหละที่เราเรียกว่าฝีฝักบัวหรือ carbuncle
ตอนแรกผมเข้าใจว่า เป็นการอักเสบพร้อม ๆ กันในหลาย ๆ รูขุมขน แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ มันเริ่มจากฝี furuncle นี่แหละ พอฝีสุกเต่งเต็มที่ มีการบวมโดยรอบ แรงดันในฝีของที่ว่างรูขุมขนมันเริ่มมากขึ้น และเริ่มลุกล้ำช่องอื่น แต่ก็ไปไม่ได้ไงติดเยื่อ interfollicular septum
ยกเว้นแบคทีเรียบางอย่าง ที่ไม่ยอมอยู่เฉย มันสามารถสร้างเอนไซม์เพื่อย่อยสลายโปรตีน septum และขยายอาณาเขตให้กินหรู อยู่สบายขึ้น ไอ้เจ้าเอนไซม์นี้มีหลายตัว แต่ตัวหลักที่ทำให้เกิดโพรงหนองลุกลามมาต่อกันเป็นฝักบัวคือเอนไซม์ hyaluronidase สลายเนื้อเยื่อไฮยาลิน
และแบคทีเรียตัวดีที่มีอาวุธหนักนี้คือ Staphylococcus aureus (ส่วนใหญ่นะ) แบคทีเรียรูปกลมที่อยู่ตามผิวหนังเรานั่นเอง
เป็นคำอธิบายว่าเชื้อโรคที่พบบ่อยในฝีฝักบัวจะเป็น S.aureus และการใช้ยาต้านจุลชีพจะต้องต้าน S.aureus ได้ด้วย นั่นคือ cloxacillin หรือ cephalosporins ต่างจากการติดเชื้อผิวหนังจุดอื่นเช่น cellulitis ที่มักเป็น streptococcus หรือ ฝีใต้ผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไม่ต้องอาศัยออกซิเจน
เอาล่ะ เรามาต่อที่เชื้อ staphylococcus มันสร้างเอนไซม์ย่อยสลาย septum และขยายอาณาเขตไปรูขุมขนรอบข้าง กินไปเรื่อย ๆ ทีละรู ทีละรู จาก furuncle ก็ขยับเป็น carbuncle แม้จะมีหัวหนองแต่ละรู แต่ความเป็นจริงด้านใต้นั้น พรุนถึงกันหมดแล้ว
แล้วมันจะลุกลามไปถึงไหน มันจะฝักบัวลามไปทั้งตัวไหม ... ไม่แน่นอน เพราะพื้นที่รูขุมขนจะมีทั้งหนาแน่นและกระจาย มันไม่ได้ต่อกันหมด จึงจำกัดพื้นที่การทำลาย
และในแง่ระบบภูมิคุ้มกัน เซลล์ภูมิคุ้มกันที่อยู่ตำแหน่งนั้นจะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบ การบวมรอบฝี เอนไซม์ต่าง ๆ จะทำให้เชื้อมันแผ่ขยายออกไปรอบด้านได้ยากขึ้น เซลล์อักเสบและกระบวนการอักเสบจะล้อมเชื้อโรคเป็นโพรงฝี ขังไม่ให้ลุกลามและระดมพลมาจัดการเชื้อโรคในพื้นที่สังหาร
ข้อดีคือจำกัดความเสียหาย ข้อที่ไม่ดีคือ ยาฆ่าเชื้อจะเข้าไม่ถึงจุดที่เชื้ออยู่ ขนาดแค่ furancle ยังเข้ายาก ไม่ค้องพูดถึงค่ายกล carbuncle ยาฆ่าเชื้อเข้าแทบไม่ถึง ใช้ยาอะไรก็พอกัน คือ ไม่ได้ผลเหมือนกัน
มีการศึกษาแบบ meta-analyis เทียบการรักษาด้วยยาแบบต่าง ๆ ด้วยนะครับ ปรากฏไม่มีตัวไหนดีกว่ากัน
เป็นเหตุผลว่าการรักษา carbuncle จะเป็นการผ่าตัดเพื่อระบายหนอง ทำลายโพรงหนอง โพรงรูขุมขนที่ต่อกันทั้งหลายนี่แหละ ส่วนการใช้ยาฆ่าเชื้อเป็นเพียงการรักษาเสริมครับ
ไหนใครชอบกินเม็ดบัวจากฝักบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม