01 มกราคม 2567

Neilson Hays Library

 วันนี้ จะมาเล่าทุกอย่างผ่านตัวอักษร อยากให้ทุกคนหลับตานึกภาพตามไป คุณไปชงกาแฟอุ่น ๆ ครัวซองต์ชีสเยิ้ม ๆ มาจมที่โซฟา แล้วอิ่มเอมกับกาแฟและเรื่องราว และหากใครสนใจ ผมแนะนำให้ ..ตามไปดู

ห้องสมุดเนลสัน เฮย์ คราวนี้มาจากคำบรรยายแบบทัวร์จากคุณบรรณารักษ์คริสติน่า ทำให้เราได้รู้จักเรื่องราวของห้องสมุดแห่งความรักแห่งนี้อย่างมหัศจรรย์ แม้ผมเคยมาเยือนห้องสมุดแห่งนี้แล้ว แต่คราวนี้มันช่างสุดวิเศษ
ผมผลักบานประตูเข้าไปแต่เช้า 09.30 น. สิ่งที่เห็นอย่างแรกคือสุภาพสตรีชาวต่างชาติกำลังจัดวางหนังสืออยู่ ผมถามเธอว่าวันนี้เปิดบริการไหม ผมเดินทางมาไกล อ่านเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้และอยากเข้ามาเยี่ยมชม คุณสุภาพสตรีที่ทราบชื่อและตำแหน่งว่า เธอคือบรรณารักษ์ (มืออาชีพ) และอยากจะพาทัวร์ที่แห่งนี้
คุณก็จะงงว่าทำไมอยู่ดี ๆ ถึงมาพาทัวร์ จริง ๆ แล้วไม่ใช่บริการพื้นฐาน แต่ทุกคนสามารถให้เธอช่วยได้ และผมแนะนำตัวกับเธอว่า ผมเป็นมนุษย์สนใจประวัติศาสตร์ เป็นมนุษย์ห้องสมุด เคยช่วยงานบรรณารักษ์ตั้งแต่สมัยประถม ห้องสมุดจึงเป็นสถานที่แห่งมนต์เสน่ห์ของผมตลอดมา …โอเค มันคลิ้กทันที เราเป็นคนสายพันธุ์เดียวกัน
จุดแรกที่เราไปดูกันคือทางเข้าและประตูดั้งเดิม ถ้าคุณหันหน้าเข้าประตูห้องสมุด ทางขวาคือถนนสุรวงศ์ เราแทรกตัวเข้าไปตรงทางเดินเล็ก ๆ ระหว่างรั้วกับอาคาร เราจะพบประตูที่ปิดไปแล้ว ในตำแหน่งนั้น หากคุณเงยหน้าขึ้นคุณจะพบอักษร "Neilson Hays Library" ใต้ประตูบานสูง และมองเห็นได้ชัดเจนเมื่อมองเข้ามาจากถนนสุรวงศ์
ประตูนี้คือประตูดั้งเดิมของห้องสมุด แต่ตอนนี้ปิดไปเพราะต้องการให้ห้องโถงหลังประตูนั้น เป็นอนุสรณ์สถานความเป็นมาของห้องสมุด และรั้วตรงป้ายรถเมล์นั้นก็ยังมีร่องรอยของทางเข้าห้องสมุดเหลืออยู่ แต่ปัจจุบันเป็นรั้วต้นไม้สูงท่วมศีรษะแล้ว
เธอชี้ให้ดูว่า อาคารนี้สร้างเป็นแบบ Colo-Neo-Classic เป็นแบบผสม และแม้อาคารนี้จะผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อปี 2017 แต่การบูรณะครั้งนั้นใช้วิธีทางสถาปัตยกรรมที่จะคงสภาพเดิมของอาคารและรูปแบบของอาคารเดิมไว้มากที่สุด เพื่อต้องการให้เป็นจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย
คำอธิบายเรื่องรูปแบบของเสาและหัวเสาตามศิลปะนีโอคลาสสิกแบบต่าง ๆ และสังเกตว่าหัวเสาภายนอกและภายในอาคารก็จะต่างกัน ด้วยความตั้งใจออกแบบอาคารให้เป็นแบบผสมผสานเพื่อให้เป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของสถาปนิกผู้เรืองนามคนนี้
ก่อนจะเข้าไปด้านใน เธอให้ผมดูผนังอาคารด้านล่าง ที่เป็นอิฐมีลวดลายไม่ใช่ก้อนทึบ ลวดลายนั้นคล้ายเป็นช่องลมระบายอากาศ และเธอลองใหผมใช้นิ้วจิ้มไปในช่องนั้น มันมีลมพัดผ่าน ตำแหน่งของช่องจะอยู่ประมาณหัวเข่า ครั้งแรกผมคิดว่าเป็นเพียงลวดลายตกแต่งอาคาร แต่คุณบรรณารักษ์ยิ้ม และบอกว่าเราจะไปเจอความน่าสนใจของสิ่งนี้ภายใน
เมื่อเปิดประตูเข้าไป เป็นโถงใหญ่ ปูด้วยพื้นไม้ขัดเงา เรียงรายด้วยตู้หนังสือไม้และทุกตู้มีประตูไม้ประกอบกระจก ปิดสนิททุกตู้ ส่วนด้านขวาเมื่อเข้าประตูไป คือ จุดบริการเจ้าหน้าที่ ทั้งการยืมคืน ตอบคำถาม บริการข้อมูล และบริจาค
ห้องสมุดเนลสัน เฮย์ส เป็นห้องสมุดเอกชน มีค่าสมัครสมาชิก และหากไม่ได้สมาชิกจะขอบริจาคค่าเข้าชม คนละ 100 บาท ผมขอบอกว่าคุ้มค่ามากกับเรื่องราวและความลับของห้องสมุดแห่งนี้
คุณคริสติน่าชี้ให้ดูบานหน้าต่างรูปครึ่งวงกลม ที่เรียงรายกันตามตำแหน่งเสาอาคาร และถ้าสังเกตจะพบว่าหน้าต่างครึ่งวงกลมนั้นสามารถเปิดได้เช่นกัน ใต้บานกระจกโค้งนั้นเป็นหน้าต่างกระจกบานใหญ่สี่เหลี่ยมเปิดออกได้ ข้อสังเกตสำคัญคือ บรรดาหน้าต่างและหน้าต่างกระจกครึ่งวงกลมทั้งหลายนั้น อยู่ในตำแหน่งที่สูงเกินกว่าจะเอื้อมไปปิดได้ง่าย ๆ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความลับของอาคารแห่งนี้
วงกบหน้าต่างและขอบประตูในอาคารแห่งนี้ มีการตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปช่อมะกอกและลักษณะหัวเสาภายในที่แตกต่างจากภายนอกอาคาร อันเป็นลักษณะผสมผสานของ colo-neo-classic
คริสติน่าเฉลยความลับอันน่าทึ่งหรือยัง..ยังครับ เธอขอเล่าเรื่องความรักอันยิ่งใหญ่ของห้องสมุดแห่งนี้ก่อน
คุณคริสติน่าพาผมเข้าไปในห้องโถงรูปวงกลม เพดานสูง ตรงข้ามทางเข้าคือประตูที่ปิดสนิทบานหนึ่ง ถ้าคุณยังจำประตูทางเข้าที่ถูกปิดไปได้ หากคุณเดินเข้ามาก็คือห้องนี้ ห้องนี้ปรับเปลี่ยนเป็นห้องแสดงที่มาของห้องสมุดแห่งความรักแห่งนี้ ภาพถ่ายของ เจนนี่ เนลสัน เฮยส์ ภาพถ่ายคุณหมอเฮยส์ บันทึกข้อความและจดหมายระหว่างทั้งคู่ ตู้บัตรรายการเก่าแก่ ภาพถ่ายบัตรยืมคืนห้องสมุด เนียกว่าที่นี่ต้นกำเนิด ผมขอเล่าเรื่องคร่าว ๆ แล้วคุณจะได้เข้าใจว่า ที่แห่งนี้คือ อนุสรณ์สถานแห่งความรัก
เจนนี่ เนลสัน สุภาพสตรีชาวเดนมาร์ก เธอย้ายไปอยู่อเมริกาและต่อมาทำงานเป็นมิชชันนารีเผยแพร่ศาสนา เข้ามาประเทศไทยในปี 1884 ในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่ประเทศเรากำลังพัฒนา เดิมทีนั้นคุณเจนนี่ เธอไปสอนหนังสือและสอนศาสนาที่หัวหิน แต่เธอมีปัญหาป่วยเกี่ยวกับอาการของโรคปอด คุณคริสติน่าเล่าว่าน่าจะเกิดจากเรื่องสภาพอากาศและความชื้นที่แตกต่างจากอเมริกา เธอจึงต้องเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพและทำงานที่กรุงเทพ
ที่นี่ เธอได้เข้ามาเป็นสมาชิกและคณะทำงานของ Bangkok Library Association สมาคมห้องสมุดที่ก่อตั้งโดยสุภาพสตรีอเมริกันในกรุงเทพจำนวน 13 คน ทำเป็นสมาคมให้ยืมหนังสือ แต่ว่าการดำเนินการยังไม่เป็นลักษณะแบบห้องสมุดทุกวันนี้ ลักษณะเป็นห้องสมุดที่บ้าน ไปยืมกันตามบ้าน บุคคลทั่วไปก็ยืมได้ ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติในกรุงเทพ ยุคสมัยรัชกาลที่ห้า มีคนไทยที่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษอยู่น้อย กิจการจึงไม่ได้ใหญ่โตอะไร เจนนี่ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมถึงสามครั้งเลยทีเดียว
แม้ว่าเธอจะมีความสุขกับงานสอนและงานสมาคมห้องสมุด แต่สุขภาพโรคปอดของเธอไม่ได้ดีขึ้น เธอเปลี่ยนหมอมาสองคน และมาจบท้ายที่คุณหมอเฮยส์ ที่นอกจากดูแลเธอจนอาการดีขึ้น ยังขยับมาเป็นหุ้นส่วนหัวใจของเธออีกด้วย แต่เนื่องจากคุณหมอเฮยส์เป็นหมอกลุ่มแรก ๆ ของสยามก็อยู่ไม่เป็นที่ การติดต่อสื่อสารจึงผ่านทางจดหมายที่เราได้เห็นในห้องจัดแสดงนี่เอง
เจนนี่อยากทำห้องสมุดที่เป็นการถาวร เธอจึงได้ซื้อที่ดินตรงถนนสุรวงศ์จุดนี้เพื่อทำเป็นห้องสมุด แต่ว่าเธอทำไม่สำเร็จ สุขภาพร่างกายที่อ่อนแอของเธอทำให้เธอกลับสู่สรวงสวรรค์ก่อนที่จะสร้างเสร็จ
คุณหมอเฮยส์จึงทำห้องสมุดต่อไป ตั้งใจอุทิศให้เจนนี่ ผู้ซึ่งรักงานห้องสมุดและเป็นยอดหัวใจของคุณหมอ ณ ที่ดินผืนนี้ และเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่คุณหมอมีให้เจนนี่ ฟินจิกหมอนไหมล่ะ ราวกับเรื่องราวของราชินี มุมตัช และทัชมาฮาล สุสานแห่งความรักที่จักรพรรดิชาห์ เจฮาน สร้างอุทิศให้ราชินียอดรักของพระองค์
กลับมาถึงเรื่องราวของความลับของห้องสมุดแห่งนี้กัน
หลังจากที่เจนนี่เสียชีวิต คุณหมอเฮยส์ได้ทำการจ้างสุดยอดสถาปนิกแห่งกรุงสยามในเวลานั้น Mario Tamagno มาออกแบบก่อสร้างห้องสมุดแห่งนี้ เอ๊ะ..มาริโอ ตามานโย คือใคร
มาริโอ ตามานโย คือ สถาปนิกที่มาออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม ออกแบบวังพญาไท ออกแบบสถานีรถไฟกรุงเทพ ออกแบบตึกไทยคู่ฟ้า เรียกว่าสุดยอดฝีมือแห่งยุค แต่ว่าการสร้างห้องสมุดก็เป็นงานยากไม่น้อยของตามานโย ด้วยความที่ประเทศสยามเป็นเขตร้อน ฝนชุก น้ำท่วม ชื้น แมลง ตามานโยจึงได้ออกแบบอาคารที่ตอบโจทย์แห่งยุคสมัยมาก
คริสติน่าพาผมไปที่บานประตูระหว่างชั้นหนังสือ เธอเปิดมันออก และให้ผมเข้าไปดูข้างใน เมื่อผ่านเข้าไปในประตูแคบ ๆ นั้น พบว่าเป็นทางเดินแคบ ๆ ขนาเท่าคนเดินผ่าน วนรอบตลอดแนวกำแพง สร้างเป็นทางเดินแบ่งกำแพงออกเป็นสองชั้น ชั้นที่ติดกับตู้หนังสือด้านในและชั้นที่ติดกำแพงตึกข้างนอก นี่คือกำแพงสองชั้นเพื่อป้องกันความชื้นและระบายอากาศ สร้างท่อหายใจและระบายอากาศให้กับบรรดาหนังสือเป็นพันเล่มที่นี่
ถ้าคุณยังจำได้ อิฐก้อนที่เป็นโพรงและมีลมผ่าน ก็จะต่อมาถึงทางเดินระบายลมนี้ พัดเป็นทางวนรอบอาคาร ช่องทางระบายอากาศนั้น ยังมีบันไดวนตามตำแหน่งเสาอาคาร ขึ้นไปถึงระดับบริเวณขอบบนของตู้หนังสือ และมีประตูเปิดออกมายังห้องเก็บหนังสือโถงใหญ่ เพื่อส่งอากาศเข้ามาอีกด้วย และคุณสามารถเดินบนทางเดินแคบ ๆ จากประตูตรงขอบบนตู้นั้น เพื่อเดินไปเปิดหน้าต่างรอบตัวอาคารได้เลย เป็นการสร้างระบบ air ventilation เพื่อจัดการสภาพอากาศร้อนชื้น เพื่อดูแลสภาพหนังสือ ในยุคที่ยังไม่มี air conditioner
ยังไม่พอ ผนังด้านใน ที่ด้านหนึ่งคือช่องลมทางเดินแคบ ๆ อีกด้านหนึ่งเจาะช่องเพื่อนำตู้ไม้มาบรรจุในช่องปูนนี้อย่างพอดิบพอดี คุณคริสติน่าบอกว่า นี่คือความแม่นยำของมาริโอ ตามานโย ที่ประกอบตู้จากภายนอกแล้วมาใส่ช่องปูนนี้ได้พอดี (perfectly fit) เพื่อช่วยป้องกันแมลง และตรงกึ่งกลางช่องปูน มีการเจาะรูวงกลมขนาดสองเท่าของเหรียญสิบบาท ที่ตรงกับรูตู้ไม้เก็บหนังสืออีกฝั่งมเพื่อเป็นรูระบายอากาศในตู้ที่มีบานกระจกปิด เพื่อมีตาข่าย ซึ่งลักษณะคล้ายมุ้งลวดทองเหลือง ไว้เพื่อป้องกันแมลงจากภายนอกด้วย
ใครเก็บหนังสือจะรู้ว่า ปลวกและมด คือ ศัตรูสำคัญของห้องสมุด คุณคริสตินาบอกว่า ก็สมัยนั้นไม่มีสเปรย์กำจัดแมลง วิธีนี้ก็ช่วยให้หนังสือถูกเก็บรักษาได้มาเกือบร้อยปี
และยังไม่พอ คุณคริสตินาชี้ให้ผมดูว่า ความสูงของตู้ไม้ไม่ได้ลงไปถึงพื้น แต่จะวางบนขอบปูน (ที่เจาะไว้พอดี) เพื่อลดโอกาสที่ความชื้นจากพื้นจะลุกลามมาที่หนังสืออีกด้วย เสมือนการยกพื้นขึ้นเพื่อหนีน้ำ
นอกจากมีความรักแล้ว ยังมีเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรมแห่งยุคมาอยู่ที่ห้องสมุดนี้อีกด้วย
และหากมองขึ้นไปบนเพดาน คุณจะยังพบพัดลมเพดานโบราณ และโคมไฟระย้าที่สวยงาม ซึ่งคุณคริสตินาบอกว่า อาคารแห่งนี้เป็นอาคารยุคแรก ๆ ของสยามที่มี "ไฟฟ้า" ใช้ และมีการติดตั้งพัดลมกับโคมไฟไว้อำนวยความสะดวกการอ่านอีกด้วย และที่สำคัญก่อนการรีโนเวทครั้งใหญ่นี้ พัดลมและการเดินสายไฟนี้ยังใช้ได้อีกด้วย ปัจจุบันใช้แต่โคมไฟครับ เพราะมีการปรับอากาศและความชื้นในห้องสมุดเรียบร้อย
แต่ทว่า … เมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งของต่าง ๆ ย่อมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ห้องสมุดนี้ก็เช่นกัน ถึงแม้โครงสร้างภายในจะเสมือนเหนือกาลเวลา แข็งแรงและคงทน มีการบุบสลายซ่อมแซมในขนาดเล็กน้อย ยังคงสภาพโครงสร้างเดิมได้ทั้งหมด ยกเว้นแต่พื้นที่ชื้นมากและมีปัญหามาตลอด จนต้องทำการรีโนเวทห้องสมุดในปี 2017
การรีโนเวทนี้ใช้เทคนิค ถ่ายภาพและแกะซ่อมประกอบใหม่ ให้เหมือนเดิมมากสุด ..ปราสาทหินหลายแห่งเช่น ปราสาทหินพิมายก็ทำการรีโนเวทเช่นนี้ ทำให้เราพบความลับของห้องสมุดนี้อีกสองอย่าง
อย่างแรกคือ มีห้องเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ใต้อาคาร แต่ด้วยวันเวลาและผ่านน้ำท่วมหลายครั้ง ทำให้ห้องเก็บน้ำนี่เองเป็นแหล่งความชื้น จึงทำการปิดห้อง ยกพื้นห้องสมุดขึ้นสูงและทำช่องระบายอากาศใต้พื้น พร้อมติดตั้งพัดลมระบาย เพื่อการระบายอากาศและความชื้นที่สมบูรณ์ เหมือนกับที่มาริโอตั้งใจเมื่อร้อยสองปีก่อน
ใครเดินไปที่ห้องสมุดจะพบช่องตะแกรงที่พื้น บรรจุพัดลมระบายอากาศที่พื้น ก็คือพัดลมหลังซ่อมใหญ่นี่เอง และในส่วนลึกด้านในของห้องสมุด ตรงจุดที่มีตะแกรงระบายอากาศที่พื้นจุดหนึ่ง หากคุณมองขึ้นไป คุณจะพบว่าผนังกำแพงตรงช่องเสานี้หนึ่งช่วงเสา มีสีผนังที่ต่างไปจากสีตำแหน่งอื่น
และนี่คือความลับอย่างที่สองที่พบตอนรีโนเวทห้องสมุดนี้ คุณเดินเข้าประตูห้องสมุด เดินผ่านโซนเก้าอี้อ่านหนังสือ เข้าสู่โซนหลังห้องสมุด จุดที่มีหนังสือเด็กในบริการนั่นแหละครับ เข้าประตูผ่านโซนแล้ว สูดลมหายใจกลิ่นไม้ กลิ่นกระดาษ แล้วมองไปทางขวามือ จะพบเก้าอี้เก่าตั้งอยู่ พื้นตรงนั้นคือตะแกรงระบายอากาศ ให้คุณมองขึ้นไปบนผนังจรดเพดาน
ผนังเดิมที่เป็นสีฟ้าและเสาทาสีชมพู เฉดสีพาสเทลสวยมาก ที่เป็นสีเดิมของห้องสมุดนี้ แต่ถูกทาสีทับด้วยสีขาว เรามาเห็นสีดั้งเดิมตอนที่สีขาวเก่าหลุดลอกและจากการซ่อมแซม ทางห้องสมุดจึงทำการทาสีเหมือนสีเดิม ณ จุดที่พบเห็น เพื่อเป็นอนุสรณ์ของสีห้องสมุดดั้งเดิม ส่วนพื้นที่อื่นนั้นเป็นสีวานิลลา warm white เหมาะกับการอ่านหนังสือและไฟเพดาน warm white ทั้งหมด ถ่ายรูปออกมาเป็นโทนอุ่น ซีเปีย สวยมาก
แล้วคุณคริสตีน่า ก็พาผมไปชมบานหน้าต่าง ลวดลายหน้าต่าง ที่เป็นลวดลายเก่าดั้งเดิมตั้งแต่ยุค 100 ปีก่อน วนออกไปจนไปจบที่ทางเข้าอีกครั้ง และเมื่อมองจากภายในออกไป จะพบว่าที่พื้นภายนอกมีการยกสูงเพื่อกันน้ำท่วมเข้ามา ตอนที่รีโนเวทห้องสมุดนั้น
นอกจากยกพื้นหน้าห้องสมุดสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้ามาแล้ว ยังทำการวางระบบระบายน้ำเสียใหม่ (จำห้องเก็บน้ำใต้อาคารอันเป็นจุดบอดได้ไหม)
ทำให้ตอนนี้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นที่อยู่อันปลอดภัยกับบรรดาหนังสือ บรรดาสิ่งของแห่งความรักของเฮยส์และเจนนี่ และความทรงจำที่มีชีวิตของเหล่านักอ่าน
ที่ควรไปสัมผัสบรรยากาศของตำนานห้องสมุดที่ยังมีลมหายใจแห่งนี้ สักครั้ง…ในชีวิต
ขอบคุณห้องสมุด ขอบคุณบรรณารักษ์คริสติน่า ขอบคุณตัวเอง และขอบคุณทุกคนที่ตามอ่านมาจนจบครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม