การลดน้ำหนัก ตัวอย่างจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จั่วหัวมาแบบนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าผมจะเบนเข็มมาเขียนการเมืองนะครับ แต่ว่าเห็นตัวอย่างอันหนึ่งที่น่าจะเอามาเป็นตัวอย่างทางสุขภาพได้ เลยอยากมาเล่าให้ฟังครับ
ผมฟังบทสัมภาษณ์ สส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากรายการ the standard now คุณผู้ดำเนินรายการได้สอบถามถึง สส.วิโรจน์ ถึงการดูแลสุขภาพหลังจากหยุดพักงานเพราะสุขภาพทรุดโทรม เริ่มจาก สส.วิโรจน์ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง และปวดหลัง สส.วิโรจน์ได้รับคำแนะนะจากคุณหมอเรื่องการดูแลสุขภาพ ซึ่งจริง ๆ ได้รับคำแนะนำมานานแล้ว แต่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง สุขภาพจึงทรุดโทรมหนักมาก
หลังจากที่กลับไปฟื้นฟู สส.วิโรจน์ได้กลับมา และให้สัมภาษณ์ถึงการปฏิบัติตัวในช่วงที่ผ่านมาว่าทำอย่างไร ความดันจึงคุมได้ น้ำหนักตัวลดลงในช่วงเวลาประมาณหนึ่งเดือนถึงเกือบหกกิโลกรัม เรามาถอดแบบเรียนจาก สส.วิโรจน์กันครับ
1.คุณวิโรจน์ได้รับคำแนะนำให้ปรับเปลี่ยนสุขภาพและติดตามการรักษามาสักพักแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำตาม จนโรคเริ่มรุนแรง จึงกลับมาจริงจัง … ประเด็นนี้สำคัญ หลายคนคิดว่าไปหาหมอก็แค่จ่ายยากินยา แต่อย่าลืมว่าการรักษามันมีมิติของการไม่ใช้ยา การปรับชีวิต การติดตามว่าทำแล้วเกิดปัญหาอะไรและควรแก้ไขอะไร รวมทั้งป้องกันผลแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการดูแลสุขภาพต้องทำอย่าง สม่ำเสมอ ครับ
2.คุณวิโรจน์ลดน้ำหนักโดยการปรับลดพลังงานที่กินในแต่ละวัน … อันนี้สำคัญครับ หลักการลดน้ำหนักคือ พลังงานที่กิน = พลังงานที่ใช้ + พลังงานที่เก็บ เมื่อใช้เท่าเดิม มันจะเก็บสะสมเพิ่มคืออ้วนขึ้น คุณวิโรจน์เลือกลดอาหารที่กิน จากหมูปิ้งหนึ่งไม้ข้าวเหนียวสามห่อ ก็ลดแป้งลง จากกินอาหารเยอะ ก็ลดอาหารลง ผมอยากบอกว่าการลดปริมาณอาหารเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ไม่ใช่อดอาหารนะครับ
3.เลือกสิ่งที่กิน คุณวิโรจน์เลือกลดแป้งและน้ำตาล เพิ่มปริมาณโปรตีนมากขึ้น อันนี้สำคัญรองลงมาครับ เมื่อเรากำหนดปริมาณแล้ว เราก็มากำหนดชนิดและสัดส่วน ลดแป้งลง เพิ่มสัดส่วนโปรตีนมาชดเชย รวมทั้งเลือกลดไขมัน โดยไม่กินอาหารทอด หันมากินอาหารต้มแทน (อย่าลืมว่าปริมาณและสัดส่วนต้องถูกกำหนดเคร่งครัดนะครับ) คุณวิโรจน์เลือกกินเกาเหลา ก็เป็นอาหารยอดนิยมของการลดน้ำหนักครับ
4.อย่าอดอาหาร คุณวิโรจน์เลือกกินอาหารช่วงสายและบ่าย และไม่กินอาหารก่อนนอน …ตรวนี้สำคัญ การลดน้ำหนักจะต้องไม่ให้ร่างกายเกิดสภาวะหิวเกิน เพราะร่างกายจะบังคับคุณให้กินเยอะชดเชยในมื้อต่อไปโดยไม่รู้ตัวหรือไม่รู้สึกว่าเราพลาดไป บวกลบคูณหารแล้วได้พลังงานเยอะขึ้นอีก ดังนั้นกระจายมื้ออาหารให้สัมพันธ์กับชีวิตเรา (อย่าลืม ปริมาณและสัดส่วนต้องเคร่งครัด)
5.คุณวิโรจน์เพิ่มการเดินออกกำลังกายวันละ 6 กิโลเมตร ทุกวัน …การออกกำลังกายแม้จะไม่ได้เผาแคลอรี่ได้จนถึงระดับผอม แต่เป็นการเพิ่มการใช้งาน เรียกว่าดีกว่านอนเฉย ๆ และเมื่อออกกกลังกายได้ขนาดที่พอเหมาะ ร่างกายจะปรับการเผาผลาญให้สมดุลขึ้น อาการหิวโหยลดลง การใช้และการสำรองพลังงานทำได้ดีขึ้น น้ำหนักไม่เด้งคืน ที่สำคัญ ดีต่อหัวใจ กล้ามเนื้อและสภาพจิตใจด้วย
6.อาหารด่วน ในตัวอย่างคุณวิโรจน์คือ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ก็จะกินลดลง … ไม่ได้หมายถึงข้าวเหนียวหมูปิ้งจะไม่ดีนะครับ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นอาหารแคลอรี่สูง และไม่มีสารอาหารครบถ้วน ถ้าจะกินก็ต้องรู้ทัน คือ กินให้เหมาะสมกับการใช้งาน และหากจะควบคุมก็อย่ากินเยอะ หรือเลือกอาหารแบบอื่น หลายคนคิดว่าชีวิตรีบเร่ง ไม่มีเวลา แต่ก็อยากบอกว่าถ้าคุณจะควบคุม คุณจะหาเวลาและวิธี รวมถึงคิดรูปแบบอาหารที่จะกินให้เหมาะกับเราได้ไม่ยากครับ
7.ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ …อย่าทำแบบโปรโมชั่น อย่าทำเพราะคนอื่นชวน การลดน้ำหนักคือการลงทุนระยะยาว ที่ต้องอดทน ผลประโยชน์สะสมเรื่อย ๆ และถ้ามองเทียบต้นทางกับปลายทาง จะพบว่าประโยชน์มหาศาล ไม่ใช่แค่น้ำหนัก แต่สุขภาพโดยรวม สุขภาพจิตที่ดี การเงินที่ดีขึ้น (ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลากับการรักษาผลแทรกซ้อน) รวมถึงอายุที่ยืนยาวขึ้นอย่างมีคุณภาพด้วย
ถ้าคนที่งานยุ่ง เวลาน้อย อย่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังทำได้ พวกเราก็น่าจะปรับชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเราได้เช่นกันครับ
ปล. บทความนี้ไม่ได้ขออนุญาตคุณวิโรจน์และทาง the standard now อย่างเป็นทางการ เพียงแต่หยิบประเด็นมาขยายความทางสุขภาพครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น