10 ธันวาคม 2566

สรุปเรื่อง E reader จากประสบการณ์ของลุงหมอ

 สรุปเรื่อง E reader จากประสบการณ์ของลุงหมอจ่าฝูงพรีเมียร์ลีก

วันนี้ขอมาแนะนำเครื่องอ่านหนังสือ e reader จากประสบการณ์ที่ใช้มาหลายเครื่องนะครับ
เครื่องอ่านของร้านหนังสือ kindle,kobo,nook เครื่องเหล่านี้ออกแบบมารองรับหนังสือที่ซื้อจากสโตร์ของร้านนั้น ๆ หากอยากลงหนังสือของสโตร์อื่นได้ เอาไฟล์อื่นมาลงได้ แต่ต้องมีการจัดการที่ยุ่งยากและอ่านไฟล์นั้นไม่สมบูรณ์ ตอนนี้เครื่องอ่านและสโตร์ที่ยังแอคทีฟมาก ๆ คือเครื่องอ่านคินเดิลและแอมาซอนสโตร์
ข้อดีมากคือ เครื่องคินเดิลเป็นระบบปิด ทำงานสมบูรณ์ผ่านไวไฟโดยไม่ต้องใช้คอม เสถียรมาก เครื่องเป็นหมึกอีเล็กทรอนิกส์ ไม่แสบตาอ่านกลางแจ้งได้ ตอนนี้ทุกรุ่นมีไฟอ่านกลางคืนได้หมด รุ่น scribe สามารถเขียนได้ด้วย ตอนนี้ผมใช้รุ่น kindle basic 2022 ขนาดหกนิ้ว บางเบาพกง่าย ความจุ 16gB เก็บหนังสือได้มากกว่า 2000 เล่ม
ร้านแอมาซอนบุ๊คสโตร์ มีหนังสือหลากหลายมาก ทั้งที่แปลไทยแล้ว ไม่มีแปลไทย ไม่เข้ามาไทย ราคาก็ถูกกว่าแบบเล่มอย่างน้อย 30% มีจัดโปรบ่อยมากหลายเล่มลด 90% ในวันนี้ (today's deal) กดซื้อได้ทันที กดปุ๊บรอไม่ถึงนาทีอ่านได้ เลย แต่…99.9% เป็นหนังสือภาษาอังกฤษนะครับ ข้อดีคือกดศัพท์หน้าจอ มีคำแปลป๊อบอัพมาให้ (ลงดิคชันนารีไทยได้) ใช้ฝึกภาษาอังกฤษได้ดีมาก ๆ สำหรับผม out of africa, into the wild, the witcher ก็มาจบที่นี่ครับ
ต่อมาเครื่องอ่านแอนดรอยด์ อันนี้มีหลายขนาดตั้งแต่แบบปาล์ม คือเท่าโทรศัพท์ ไปจนหกนิ้ว เจ็ดนิ้ว อันนี้ไว้อ่านหนังสือเล่ม อ่านการ์ตูนภาพ ส่วนขนาดสิบนิ้วถึงสิบสองนิ้ว แนะนำไว้อ่านไฟล์พีดีเอฟ จะเต็มตาไม่ต้องขยาย สามารถใส่ไฟล์เวิร์ด พีดีเอฟได้ ผ่านสายเชื่อมข้อมูลหรือบลูทูธ หรือคลาวด์
มีทั้งแบบจอขาวดำ จอสี แบบขีดเขียนได้ แม้เครื่องจะเป็นแอนดรอยด์ ลงโปรแกรมอื่นได้ แต่ไม่แนะนำเพราะหน้าจอเป็น e-ink มันตอบสนองช้า แนะนำไว้อ่าน โดยเฉพาะเว็บอ่านหนังสือต่าง ๆ เช่น meb,ookbee,pinto,ธัญวลัย,naiinpann ที่มีนิยาย หนังสือ นิตยสารไทย สามารถลงแอป อ่านผ่านแอป ดาวน์โหลดเก็บ เรียกว่าหลากหลายกว่ามาก แต่อย่างไร อีบุ๊กไทยก็ยังถือว่าน้อยมากอยู่ดี
ผมมี boox leaf 1 ขนาด 7 นิ้ว เอาไว้อ่าน meb,ookbee,TK park,ธัญวลัย,naiin และหนังสือฟรีแบบ epub ที่โหลดมาจาก gutenberg project, national archives โหลดมาอ่าน จบแล้วเก็บในคลาวด์ ติดเครื่องครั้งละ 20-30 เรื่อง
ส่วนเครื่อง 10 นิ้วเป็นเครื่องเก่า boox n96ml เอาไว้อ่าน pdf โดยเฉพาะเปเปอร์ที่โหลดมาอ่าน ผมโหลดจากคอมแล้วโยนเข้าเครื่อง เอาไว้อ่าน ไม่ต้องพิมพ์ไม่เปลืองกระดาษ จอสิบนิ้ว ขนาดพอกับเอสี่ ไม่ต้องขยาย อ่านสบาย เครื่องนี้มี external SD card จุได้ 16 gB มีวารสาร nejm.jama,lancet,bmj รวมทั้ง guidelines สารพัดอยู่ในนี้
เครื่องยุคปัจจุบัน สามารถรอบรับแอฟหนังสือเสียงเช่น meb audiobook,storytel,audible หรือตัวคินเดิลก็รองรับออดิเบิล สามารถฟังหนังสือเสียงผ่านเครื่องอ่านอีบุ๊ก ผ่านหูฟังบลูทูธได้ ผมเองก็สมัครสมาชิก storytel ฟังเรื่องของ ส.พลายน้อย ผ่านหนังสือเสียงเช่นกัน
และหากไม่ใช่ pdf หนังสือทั้งหมดสามารถปรับขนาดอักษรและรูปหน้าได้ ใครที่มีปัญหาสายตาไม่ต้องกังวลเลย หมดปัญหาโดยสิ้นเชิงครับ อ่านตัวเท่าหม้อก็ยังได้
เรียกว่าสามสหาย kindle basic 2022, boox leaf 1, boox n96ml สามอันนี้อ่านและเก็บหนังสือได้ตลอดชาตินี้ พกสามเครื่องบาง ๆ มีทรัพยากรการอ่านและเขียนครบถ้วน พกที่ชาร์จอันเดียว (เครื่องอ่านอีบุ๊กใช้แบตน้อยมาก ถ้าอ่านทุกวันวันละ 1-2 ชั่วโมง ก็ 15-20 วันค่อยชาร์จทีนึง)
แม้ตัวเองจะชอบลูบคลำ ชอบกลิ่นหนังสือ ชอบเดินเลือกหนังสือ แต่หากมีอีบุ๊กและราคาใกล้กันหรือถูกกว่า จะซื้ออีบุ๊กครับ ชั้นหนังสือเต็มแล้ว นี่กำลังจะรีโนเวทห้องทำเป็นห้องสมุดค่อยเก็บใหม่ ขาดแต่คนช่วยดูแลนี่แหละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม