13 กรกฎาคม 2566

Cytisinicline ยาเลิกบุหรี่ตัวใหม่ : ORCA-2 trial

 Cytisinicline : ORCA-2 trial

ความเดิม : ตอนนี้เราขาดยาอดบุหรี่ประสิทธิภาพสูงมาช่วยผู้ป่วยมานาน ไม่ว่าจะเป็นยา varenicline ที่หยุดจำหน่ายจากข้อกังวลผลข้างเคียงและการปนเปื้อน ยา bupropion ที่ใช้รูปแบบใหม่เป็นออกฤทธิ์ยาว ที่ยังไม่มีผลการศึกษาเลิกบุหรี่ในรูปแบบนี้ แต่ทว่าก่อนหน้านี้มียา Cytisine ยาสกัดจากพืชที่ทำงานคล้าย varenicline ออกมาทำการศึกษาและใช้ในประเทศกลุ่มยุโรปตะวันออก แต่ยังไม่แพร่หลายนัก ด้วยปัญหาที่ยาออกฤทธิ์สั้น ต้องกินวันละ 5-6 ครั้งต่อวัน และยังมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อน การผลิตที่ไม่ตรงตามมาตรฐานของทางอเมริกา
ประเด็น : มีการพัฒนายา cytisine ให้ใช้งานง่ายขึ้น ออกฤทธิ์ยาวนานขึ้น ทำงานที่ alpha4beta2 ในสมองแบบ dual action กระตุ้นเพื่อลดความอยากบุหรี่แต่ไม่ติด ยับยั้งสารสื่อกระสาทให้ความสุขจากนิโคติน คือยา cytisinicline ผ่านการศึกษาในเฟสก่อนหน้านี้มาว่าน่าจะใช้ได้ วันนี้มีการศึกษาลงตีพิมพ์เฟสสามใน JAMA เมื่อ 12 กรกฎาคม 2566
1. ทำการศึกษาในคนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ยังสูบบุหรี่อยู่ตั้งแต่ 10 มวนต่อวันและยังไม่เลิก โดยมีการวัดคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจยืนยันว่าสูบบุหรี่ ค่าเกิน 10 ppm (ปกติถ้าเกิน 5 ก็นับว่าสูบจริง) และที่สำคัญพร้อมจะเลิกบุหรี่ // ก็เป็นมาตรฐานเดียวกันกับการศึกษายาเลิกบุหรี่ทั่วไป
2. ไม่นับผู้ที่ใช้ยาสูบอื่น ๅ และบุหรี่ไฟฟ้า หรือใช้ยาอดบุหรี่ใด ๆ อย่างน้อย 1 เดือนและสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ไม่มีโรคหัวใจและโรคทางจิตเวช // ตรงนี้มีประเด็น เพราะยา varenicline เคยมีปัญหาในผู้ป่วยโรคหัวใจ แม้ตอนหลังทำการศึกษามาแล้วว่าไม่เพิ่มและมีประโยชน์มากกว่าโทษ และเคยมีปัญหาในผู้ป่วยจิตเวชจริง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน จึงยังไม่สามารถไปปิด painpoint ของ varenicline ได้
3.จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสามกลุ่ม // ระยะเวลาในการรักษาเท่ากับในการศึกษษของยา varenicline คือสามเดือน ติดตามวัดผลและวัดค่า CO ทุกสัปดาห์จนครบกำหนด แล้วติดตามต่อเนื่องไปอีกถึง 3 เดือนหลังหยุดยา
กลุ่มแรก ใช้ยาหลอกวันละสามครั้ง ต่อเนื่อง 12 สัปดาห์
กลุ่มที่สอง ใช้ยา cytisinicline เป็นเวลาสามสัปดาห์แรก แล้วเปลี่ยนเป็นยาหลอกในสามสัปดาห์หลัง
กลุ่มที่สาม ใช้ยา cytisinicline วันละสามครั้งต่อเนื่องกันเลย 12 สัปดาห์
4.วัดผลว่าสามารถหยุดบุหรี่ได้ต่อเนื่อง โดยมีผลการวัด CO ในลมหายใจมายืนยัน ในช่วงสามสัปดาห์แรกการการให้ยา และในช่วงสามสัปดาห์หลังของการให้ยา
5. กลุ่มตัวอย่าง 810 คน แบ่งกลุ่มละประมาณ 270 คน สูบบุหรี่ประมาณ 20 มวนต่อวัน อายุประมาณ 53 ปี สูบมานาน 35 ปี คะแนนการติดบุหรี่ fagerstrom ประมาณ 5 ส่วนมากเคยเลิกบุหรี่มาแล้ว ค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 4 ครั้ง // ถ้าดูตัวเลขจะมีคนที่ออกจากการศึกษาประมาณ 20% นับว่าน้อยสำหรับการศึกษาเลิกบุหรี่ทั่วไปที่มักจะสูงกว่า 50% จำนวนบุหรี่ที่สูบก็เท่า ๆ กับการทดลองอื่น แต่ที่น่าสนใจคือคะแนนการติดบุหรี่ค่อนข้างต่ำ คือน้อยกว่า 6 คะแนน ทั้ง ๆ ที่เลิกมาหลายครั้ง น่าจะพอบอกได้ว่าประชากรในการศึกษานี้เป็นกลุ่มที่ อาจจะแรงจูงใจไม่มากนัก เพราะคะแนนการติดไม่สูงแต่เลิกยาก หรือมีเหตุปัจจัยอื่นที่ทำให้ติดบุหรี่นอกจากสารเสพติดเท่านั้น เช่น พฤติกรรม
6. ผลการศึกษาหลัก คนที่เลิกได้จริงในสามสัปดาห์แรกคือ 22% และ 25% สำหรับการใช้ยาในกลุ่มหนึ่งและกลุ่มสอง ส่วนยาหลอกเท่ากับ 4.4% มีนัยสำคัญทางสถิติ และสูงกว่ากลุ่มยาหลอกถึง 8 เท่า
7. ผลการศึกษาหลัก คนที่เลิกได้จริงในช่สงสามสัปดาห์หลัง คือ 32% และ 22% สำหรับการใช้ยาในกลุ่มที่หนึ่งและสอง ส่วนยาหลอกท่ากับ 7% มีนัยสำคัญทางสถิติ และสูงกว่ายาหลอก 6.7 เท่า // เราจะแอบเอาค่านี้ไปเทียบกับยา varenicline เพราะการศึกษา varenicline ก็เทียบที่ 12 สัปดาห์เช่นกัน แต่ว่าจำนวนผู้ศึกษาเยอะกว่านี้มาก พบว่าตัวเลขการหยุดบุหรี่ของ varenicline ประสิทธิภาพที่ 35-40% และสูงกว่ายาหลอกประมาณ 4.5 เท่า
8. ถึงแม้หยุดยาไปแล้วที่สามเดือน เมื่อติดตามต่อไป โอกาสจะเลิกบุหรี่ได้ก็ยังสูงกว่ากลุ่มยาหลอก แม้ประสิทธิภาพจะลดลง แต่ยังสูงกว่ายาหลอกประมาณ 5 เท่า ยาสามารถลดอาการอยากบุหรี่ได้ดีตั้งแต่สัปดาห์ที่สาม // นี่คือตัวชี้วัดรอง แต่ว่าเป็นข้อดีที่เพิ่มมา ทำให้คุณค่าของการใช้ยาสูงมากกว่าโทษขึ้นไปอีก และเพิ่มความคุ้มค่าคุ้มราคามากขึ้น
9.ผลข้างเคียงพบพอกันทั้งกลุ่มที่ได้ยาจริงและยาหลอกที่ประมาณ 65% และเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงเช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน แต่มีที่พบเด่นกว่ายาหลอกคือ ฝันร้าย // ตรงนี้ที่ต่างจาก varenicline พอสมควร คือยา varenicline จะมีผลข้างเคียงเรื่องการคลื่นไส้อาเจียนพอสมควร และต้องค่อย ๆ เพิ่มขนาดยาในสัปดาห์แรกด้วยซ้ำ
10. อันนี้ผมสรุปเองนะ สรุปว่าก็ใช้ได้เลยครับสำหรับตัวยาเลิกบุหรี่อันนี้ ประสิทธิภาพดีและผลข้างเคียงไม่มากไป เคยมีการศึกษาเทียบกับยา varenicline ว่าไม่ด้อยกว่าอีกด้วย แต่ข้อสำคัญเรื่องการต้องกินยาในขนาด 3 มิลลิกรัมวันละสามครั้งนี่แหละที่อาจเป็นอุปสรรค และอาจจะต้องทำการศึกษาพิสูจน์เรื่องความปลอดภัยในโรคหัวใจและโรคทางจิตเวช ที่เป็นปัญหาก่อนหน้านี้ของยา vareniclinne ด้วย
การศึกษาได้รับการสนับสนุนจาก Archieve Life Sciences และเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา มีนักวิจัยจากบริษัทอยู่ในทีมวิจัย
Rigotti NA, Benowitz NL, Prochaska J, et al. Cytisinicline for Smoking Cessation: A Randomized Clinical Trial. JAMA. 2023;330(2):152–160. doi:10.1001/jama.2023.10042

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม