24 สิงหาคม 2565

JASTIS ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ Heated Tobacco Products (HTPs) ที่ญี่ปุ่น

 JASTIS ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ Heated Tobacco Products (HTPs) ที่ญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นประกาศรับรองการใช้ HTPs อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 2014 และปัจจุบันนับเป็นประเทศที่มีการใช้ HTPs สูงที่สุดในโลกทั้งจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสามราย เรามาดูข้อมูลการวิจัยหลังจากอนุมัติใช้มาห้าปี เป็นการศึกษาที่วางแผนและเจตนาศึกษาตั้งแต่แรกเลย
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากอนุมัติใช้ แน่นอนอัตราการใช้เพิ่มจาก 0.2% ไปเป็น 11.3% เมื่อเทียบประชากรญี่ปุ่นทั้งประเทศ และหากคิดประชากรที่สูบบุหรี่ พบว่าเมื่อสุดปี 2019 มีคนใช้ HTPs ถึง 30%
แน่นอนทำให้นโยบายการควบคุมยาสูบทำได้ยากขึ้น คนที่ใช้และผู้ผลิตจำหน่ายมองว่าควรใช้กฎระเบียบการควบคุมที่ต่างจากบุหรี่เผาไหม้แบบเดิม ในขณะที่ทางหน่วยงานควบคุมมองว่าควรควบคุมแบบเดียวกัน เอ๊ะทำไม..!!?
ตรงนี้มันมีข้อให้คิดนะครับ ถ้าใครเคยเห็น HTPs หรือแต่ก่อนเรียกว่า heat not burn จะเป็นใบยาสูบมาอัดด้วยกระบวนการที่ต่างออกไป เวลาใช้ต้องใส่อุปกรณ์เฉพาะเพื่ออุ่นร้อน และเมื่อหยิบแท่งยาสูบขึ้นมา มันจะใช้อุณหภูมิที่ไม่ถึงจุดเผาไหม้ ทำให้ไม่มีควัน และสารพิษต่าง ๆ ที่จะออกมาที่จุดเผาไหม้ลดลง
องค์การอาหารและยาสหรัฐ ได้รับรองว่า ปริมาณสารพิษที่เป็นอันตรายลดลง (reduced exposure) แต่ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงและผลต่อสุขภาพจะลดลง ที่บอกว่าความเสี่ยงอาจไม่ลด เพราะปริมาณสารพิษยังมี และมีสารอื่นที่ไม่เจอในบุหรี่เผาไหม้ปกติ ที่ยังต้องรอผลระยะยาวอีกด้วย
ส่วนผลต่อสุขภาพ เรามาดู JARTIS ในมิติเรื่องการติดนิโคตินกันต่อนะครับ
การศึกษาชุด JARTIS เป็นการเก็บข้อมูลสมบูรณ์เพื่อมาวิเคราะห์ผลของ HTPs ในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับเรื่องผลการติดนิโคติน ที่เป็นผลสำคัญที่ทำให้คนนั้นใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินหรือยาสูบต่อไปหรือไม่ เพราะหากใช้ต่อ โอกาสอันตรายต่อสุขภาพย่อมสูงกว่าเลิกแน่นอน แม้ HTPs จะมีสารพิษที่ปล่อยออกมาน้อยกว่าบุหรี่เผาไหม้ก็ตาม ในเรื่องการติดนิโคตินสำหรับการศึกษานี้ใช้ระบบคะแนน Fagerstrom Nicotine Dependent
○พบว่าคะแนนการติดนิโคตินจะสูงมากในสองกรณีคือ สูบบุหรี่อย่างเดียวเป็นประจำ หรือสูบประจำแต่ใช้คู่ทั้งบุหรี่และ HTPs
○ใช้ HTPs เพียงอย่างเดียว คะแนนการติดนิโคติน สูงกว่า สูบบุหรี่อย่างเดียวแต่ไม่ได้สูบทุกวัน
○ส่วนคะแนนการติดพบว่าต่ำที่สุด คือ ใช้ทั้งคู่และไม่ได้สูบทุกวัน
และถามว่าที่ต่างต่างกันเนี่ย มันต่างกันเยอะไหม ต้องตอบว่า ไม่ว่าจะชนิดไหน ใช้เดี่ยวหรือใช้คู่ ต้องตอบว่าถ้าระดับการติดเท่ากัน จะอุปกรณ์อะไรก็ติดพอกัน เอ๊ะ..คืออะไร
ถ้าตื่นเช้ามาแล้วต้องสูบบุหรี่ภายใน 5 นาที อันนี้ติดหนัก ภายในสิบห้านาทีก็รองลงมา ภายในสามสิบนาทีคือติดน้อยลง ถ้าแบ่งระดับแบบนี้ ในระดับเดียวกันอุปกรณ์อะไรหรือสูบแบบไหนก็ติดพอ ๆ กัน แต่ประเด็นคือ ถ้าเทียบต้องสูบบุหรี่ในห้านาทีหลังตื่น กับเกินสามสิบนาทีหลังตื่น แม้แต่ละอุปกรณ์จะติดพอ ๆ กัน แต่จะแตกต่างกันมาก คือคะแนนการติด น้อยกว่าแบบต้องสูบในห้านาทีแรกหลังตื่นเยอะเลย
หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า HTPs ไม่ได้ช่วยลดการติดนิโคตินไปได้มากสักเท่าไร ถ้าระดับการติดเท่า ๆ กัน เมื่อไม่ได้ลดการติด การสูบต่อเนื่องจึงเกิดขึ้นและบางครั้งติดมากกว่ากลุ่มที่ใช้บุหรี่แต่ไม่ได้ใช้ทุกวันด้วยซ้ำ เพราะ HTPs มันง่ายกว่า พร้อมสูบมากกว่า อาจสูบในบ้านได้ พื้นที่ห้ามสูบก็ห้ามสูบแต่บุหรี่นี่นา ดังนั้นโอกาสติดจึงมากกว่า
และถึงแม้จะมีสารพิษที่ออกมาน้อยกว่า แต่ถ้าสูบมาก ติดมาก สุดท้ายอันตรายต่อสุขภาพก็จะยังคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ใช้คู่ ทั้ง HTPs และบุหรี่เผาไหม้ (ตามโอกาสอำนวยจะใช้อะไร)
สาระสำคัญที่สุดของกระบวนการเลิกบุหรี่ คือ ต้องจัดการการติดนิโคตินให้ได้ หากยังติดนิโคตินสูง เลิกไม่ได้ การเลิกบุหรี่หรือการลดความเสี่ยงอันตรายจากควันบุหรี่ (tobacco harm reduction) ก็ไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม