12 สิงหาคม 2565

เรื่องการป้องกันและรักษาโรคลิ่มเลือดดำอุดตันจากมะเร็ง

 สรุปสิ่งที่ควรรู้ง่าย ๆ เรื่องการป้องกันและรักษาโรคลิ่มเลือดดำอุดตันจากมะเร็ง

การรักษาโรคลิ่มเลือดดำอุดตัน จะแยกว่าเกี่ยวข้องกับมะเร็งหรือไม่เสมอ เพราะหากเกิดจากมะเร็งจะมีกลไกการเกิดที่ซับซ้อนกว่าและแนวทางการรักษาที่แตกต่างออกไป รวมทั้งโอกาสการเกิดเลือดออกที่มากกว่าโรคลิ่มเลือดดำอุดตันแบบที่ไม่ได้เกิดจากมะเร็งอีกด้วย เดิมทีการรักษาและป้องกันจะใช้ยาฉีด low molecular weight heparin ที่แพร่หลายในบ้านเราคือ enoxaparin, dalteparin และ tinzaparin และระยะเวลาในการรักษาไม่ชัดเจน แต่แนวทางอันนี้สรุปได้ดีและตอบโจทย์เรื่องของการใช้ยากินที่สะดวกกว่ายาฉีดอีกด้วย

➡️สำหรับการรักษา⬅️

1.ใช้เวลาในการรักษาอย่างน้อย 6 เดือน หากจะรักษายาวนานกว่านี้ให้ประเมินผลได้ผลเสียและคุยกับคนไข้เป็นกรณีไป

2.ยาที่แนะนำคือยาฉีด LMWH ที่ใช้ได้ตลอดหกเดือนเลย ส่วนยาฉีด heparin และ fondaparinux ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ LMWH ได้

3.ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (DOACs) สามารถใช้ได้เช่นกันหากการทำงานของไตยังดี (CrCl มากกว่า 30) ไม่มีปฏิกิริยาระหว่างยา และต้องระวังการใช้ยากลุ่มนี้ในโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารเพราะมีโอกาสเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้มากกว่า LMWH โดยใช้ rivaroxaban หรือ apixaban ได้เลยตั้งแต่ต้น ส่วน edoxaban ต้องให้ยา LMWH ไปก่อนอย่างน้อย 5 วัน โดยขนาดยาในช่วงสิบวันแรกกับที่เหลือจนครบหกเดือนจะต่างกันเล็กน้อย อย่าลืมไปเปิดดูขนาดยา

4.ข้อมูลของยา warfarin นั้นเลือดออกมากกว่ายากลุ่มอื่น และประสิทธิภาพในการรักษาก็น้อยกว่าด้วย ดังนั้นถ้าไม่มีข้อจำกัดอย่างถึงที่สุดก็ยังไม่ควรเริ่มยากลุ่มนี้

5.ตัวกรองหลอดเลือดดำ (IVC filter) ใช้เมื่อให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ได้เท่านั้น

➡️สำหรับการป้องกัน⬅️ (ใช้ขนาดยาต่ำกว่าขนาดรักษา) ไม่มีข้อแนะนำการใช้ IVC filter

1.ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด แนะนำใช้ LMWH เริ่มตั้งแต่ก่อนผ่าตัดไปจนถึง 10 วันหลังผ่าตัด ส่วนจะให้ต่อไปถึง 4 สัปดาห์นั้นขึ้นกับผู้ป่วยเป็นรายไป เน้นที่เลี่ยงการเกิดโรคสูงและโอกาสเลือดออกต่ำ โดยเฉพาะการผ่าตัดช่องท้องและเชิงกราน

2.ในผู้ป่วยที่ไม่ได้ผ่าตัดและอยู่โรงพยาบาลรักษาตัว แนะนำให้ LMWH หรือ fondaparinux ในช่วงนอนโรงพยาบาล

3.การป้องกันลิ่มเลือดให้ใช้ยาเป็นหลัก สามารถใช้อุปกรณ์เชิงกลเสริมได้ แต่ไม่ใช่การป้องกันหลัก

4.ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนที่อาการไม่รุนแรงและรักษาแบบไปกลับ พิจารณาให้ยาต้านการแข็งตัวเลือดได้ทั้งยากินและยาฉีด (ให้หรือไม่ขึ้นกับการปรึกษาร่วมกัน)

5.ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาต้านมะเร็ง อาการคงที่ รักษาแบบไปกลับ มีความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โอกาสเลือดออกต่ำ ครบเกณฑ์เหล่านี้ถึงพิจารณาให้ยา DOACs เพื่อป้องกันลิ่มเลือดได้ (ให้หรือไม่ขึ้นกับการปรึกษาร่วมกัน)

6.ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลมา ที่ได้รับยารักษามะเร็ง พิจารณาให้ยาป้องกันลิ่มเลือดอุดตันได้ทั้งยากินและยาฉีด

➡️ในกรณีรักษาแล้วและเกิดลิ่มเลือดซ้ำ⬅️

1.ใช้ยากินเปลี่ยนเป็นยาฉีด

2.ใช้ยาฉีด “อาจจะลอง” เปลี่ยนเป็นยากิน

3.ใช้ยาฉีด LMWH เพิ่มขนาดขึ้น 20-25%

🚩🚩ใครสนใจไปอ่านเพิ่มเติมได้ สั้น ๆ และฟรี🚩🚩

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม