17 สิงหาคม 2565

โควิด กับ การเกิดหลอดเลือดอุดตัน

 โควิด กับ การเกิดหลอดเลือดอุดตัน

การศึกษาลงใน JAMA เมื่อเช้านี้ นักวิจัยเขาสนใจศึกษาอุบัติการณ์การเกิดหลอดเลือดอุดตันทั้งหลอดเลือดดำและแดง ในช่วงการระบาดโควิดในระยะเวลาทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีน เทียบกับไข้หวัดใหญ่ว่าต่างกันไหม

ศึกษาไปทำไม รู้กันอยู่แล้ว … ก็ที่ผ่านมาเป็นกรณีรายงานเคส ปริมาณไม่มาก สรุปยาก อันนี้ปริมาณคนไข้เยอะ คาบเกี่ยวช่วงวัคซีนด้วย

แสดงว่าผลการศึกษาก็น่าจะเชื่อถือได้ … อืมมม ก็ไม่เชิง เพราะเป็นการเก็บข้อมูลย้อนหลัง มีปัจจัยแปรปรวนมากมาย อะไรที่สนใจอยากดูอยากรู้อาจจะไม่ได้บันทึก ถึงผู้วิจัยเขาพยายามใช้ระบบคะแนนมาเกลี่ยให้สองกลุ่มดูเหมือน ๆ กันเทียบกันได้ ก็ยังเชื่อถือได้ระดับหนึ่งเท่านั้น และที่สำคัญเขาไม่ได้มีข้อมูลว่า คนที่หลอดเลือดอุดตันน่ะ ตันก่อนมาเป็นโรคกี่คน กี่เปอร์เซนต์ ก็น่าคิด แต่เอาล่ะ มันก็เป็นการศึกษาขนาดใหญ่ที่พอให้ข้อมูลเราได้

ที่ว่าเยอะน่ะ แค่ไหน … โควิดจำนวน 85000 ราย เป็นก่อนวัคซีน 41000.ราย หลังวัคซีน 44000 ราย เป็นไข้หวัดใหญ่ 8200 ราย เอารายที่นอนโรงพยาบาล

ผลว่าไง … สำหรับหลอดเลือดแดงอุดตัน เช่นหลอดเลือดแขนขา หลอดเลือดหัวใจ สำหรับโควิดก่อนวัคซีน 15% โควิดหลังวัคซีน 16% และไข้หวัดใหญ่ 14% แตกต่างกันเล็กน้อย ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติใด ๆ แต่หลอดเลือดดำอันนี้ไม่ใช่

หลอดเลือดดำเป็นไง … หลอดเลือดดำอุดตันในไข้หวัดใหญ่ 5% ในโควิดก่อนวัคซีน 9% โควิดหลังวัคซีน 11% ก็บอกว่าในโรคโควิดจะเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันบ่อยกว่าไข้หวัดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ ตรงอย่างที่เรารู้มา เพราะโควิดมันจะทำให้หลอดเลือดอักเสบและการแข็งตัวเลือดง่ายขึ้น

**อ้อ..อีกอย่างคือ จากที่เราเคยมีข้อมูลหลอดเลือดดำอุดตันในโควิดมาก่อนการศึกษานี้ เลยทำให้เราตื่นตัวตรวจหาหลอดเลือดดำอุดตันมากขึ้นในโควิด เป็นอีกหนึ่งเหตุที่อาจจะเจอหลอดเลือดดำอุดตันในโควิดมากกว่า**

รู้แล้วไง … บอกว่าการป่วยเป็นโควิดกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องถามเวลาเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันในยุคสมัยนี้ (ในไทยอย่าลืมถามเรื่องได้วัคซีน ChAdOx1 ด้วย) และถ้าเกิดอาการที่สงสัยหลอดเลือดดำตัน หากมีประวัติเพิ่งติดเชื้อโควิด ก็เป็นข้อที่จะทำให้สืบค้นหาหลอดเลือดดำอุดตันด้วยวิธีต่าง ๆ ได้มั่นใจขึ้น

จบข่าว

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม