04 สิงหาคม 2565

HAT เรื่องของอาโวคาโด

 HAT เรื่องของอาโวคาโด

ข่าวแพร่หลายมากเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับการกินอาโวคาโดว่าไม่ได้ช่วยลดน้ำหนักสักเท่าไร เป็นการศึกษาแบบ RCT ที่ลงใน journal of American heart associations เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา คือ Habitual diet and Avocado Trial (HAT)

เรามาสรุปคร่าว ๆ เกี่ยวกับการศึกษาอาโวคาโดอันนื้ ผู้วิจัยนำผู้ที่น้ำหนักมากดัชนีมวลกายเกิน 25 รอบเอวเกินมาตรฐาน และกินอาโวคาโดไม่เกิน 2 ลูกต่อเดือน ได้กลุ่มผู้เข้าศึกษามาทั้งสิ้น 1008 รายและเข้าร่วมจนจบ 929 ราย (สูงกว่าขั้นต่ำที่กำหนด) โดยแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มอาโวคาโด กินอาหารปกติ และแจกอาโวคาโดเอาไปกินวันละลูก มีการสอนการปรุงอาหารด้วยอาโวคาโดพร้อมสรรพ ส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่มควบคุมที่กินอาหารปกติ ระดับพลังงานเท่า ๆ กัน อนุญาตให้กินอาโวคาโดไม่เกินสองลูกต่อเดือน ทำการศึกษาแบบนี้ไป 26 สัปดาห์แล้วมาวัดผล โดยผลหลัก “ย้ำอีกรอบว่านี่คือผลการศึกษาหลัก” คือการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในอวัยวะภายใน (visceral adipose tissue)

ประเด็นนี้ขอย้ำก่อนว่า ผลการศึกษาอื่นจะใช้เพียงดูเอาไว้ และเผื่อไว้ใช้ในอนาคต จะเอามาอ้างเป็นผลหลักไม่ได้ เนื่องจากระเบียบวิธีวิจัยต่าง ๆ จะเริ่มมาจากเป้าหลัก ผลวิจัยจึงตอบคำถามแค่หนึ่งคำถามเท่านั้น

แล้วผลการศึกษาออกมาว่า ไขมันในอวัยวะภายในลดลงทั้งสองกลุ่ม ในฝั่งกินอาโวกาโดจะลดไขมันในอวัยวะภายในได้มากกว่าเล็กน้อยเท่านั้น และไม่มีนัยสำคัญทางสถิติครับ ไม่ว่าจะหญิงจะชาย จะอายุใด เชิ้อชาติใด ก็เป็นแบบนี้

ส่วนน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงไม่ต่างกันทั้งสองกลุ่ม กลุ่มกินอาโวคาโดจะลดไขมันในเลือดได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมเล็กน้อย

เอาล่ะ .. แต่ข่าวในเว็บไซต์ต่าง ๆ จะบอกว่า เฮ้ย..กินอาโวคาโดเนี่ยไม่ช่วยเรื่องน้ำหนักตัวหรอก หรือบางข่าวจะบอกว่า โอ้ .. กินอาโวคาโดเนี่ยช่วยลดไขมันได้ด้วยนะ มากินกันเถอะ

ถามว่าจริงไหม ก็จริงนะครับ แต่หากไปดูในรายละเอียดจะพบว่าความแตกต่างกันนั้นน้อยมาก และที่สำคัญไม่ใช่เป้าวัตถุประสงค์หลักของการศึกษาอีกด้วย ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงของไขมันอวัยวะภายใน พูดอยู่สองบรรทัด เพราะมันไม่ง่าย ไม่ชวนสนใจ แถมวิธีการตรวจวัดก็ยากเพราะในการศึกษาใช้การตรวจ MRI ก่อนและหลัง ซึ่งยากมากที่จะใช้ในชีวิตปรกติ

อีกอย่าง เราก็จะหยิบผลการศึกษามาใช้ล่ะ ว่ากินอาโวคาโดมันก็โอเค มีไฟเบอร์ และไม่ได้ส่งผลกับการเปลี่ยนแปลงนี่ เราต้องมาแวะดูกลุ่มการศึกษาสักหน่อย ประชากรส่วนมากในการศึกษานี้สามในสี่เป็นผู้หญิง และน้ำหนักมาก ดัชนีมวลกายประมาณ 30 รอบเอวประมาณ 110 เซนติเมตร และที่สำคัญเป็นชาวเอเชียแค่ 6%

ดังนั้นการหยิบผลการศึกษามาใช้ อาจต้องพิจารณาว่าเราเข้ากับกลุ่มการศึกษาด้วยไหม และทำแบบคล้ายการศึกษาได้ไหม ไม่ใช่กินอาโวคาโดเชื่อมราดคาราเมล หรืออาโวคาโดชุบฟองดูว์ช็อกโกแลต ต้องเป็นแนวทางการกินแบบการศึกษาแนะนำด้วย

ก็สรุปว่า กินไปเหอะครับ อย่าเยอะเกินก็พอ แต่อย่าไปหวังผลลดนั่นนี่อะไรมากมาย และดูความหนากระเป๋าสตางค์ด้วย เพราะอาโวคาโดราคาแพงพอควรนะครับ

อาจเป็นรูปภาพของ ผลไม้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม