18 เมษายน 2565

คุณหวังอะไรจากการตรวจสุขภาพ (3) : สิ่งที่ควรจะทำ

 คุณหวังอะไรจากการตรวจสุขภาพ (3) : สิ่งที่ควรจะทำ ตอนจบในซีรี่ส์นี้ สิ่งที่คำแนะนำและวารสารเขียนไว้มีนิดเดียวครับ แต่ผมหยิบมาขยายความให้คุณเข้าใจว่า หากคุณคิดจะตรวจ คุณต้องพร้อมจะรับมือ

1.ปรับทัศนคติ ว่าการตรวจสุขภาพและวางแผนสุขภาพ คือ จุดเริ่มของการปรับตัวและจุดตรวจสอบแผนการของเราว่ายังเป็นไปตามแผน พร้อมจะปรับตัวเปลี่ยนแปลงกับผลการตรวจนั้นหรือไม่ ไม่ใช่ตรวจเพื่อสบายใจ ไม่ใช่ตรวจเพื่อกังวลใจ ไม่ใช่ตรวจเพราะใครบังคับ (ความจริงคุณอาจถูกบังคับตรวจ แต่ไม่มีใครมาบังคับทัศนคติคุณได้) หรือตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคที่ไปหาหมอหลายคน แล้วไม่มีการตรวจแบบที่เราต้องการ
2.ตรวจแล้วต้องเปลี่ยนแปลง หรือย้ำความสำคัญของสิ่งที่ทำดีแล้วให้ทำต่อไป ถ้าตรวจแล้วจะไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่เตรียมตัวพร้อมใจ ก็อย่าตรวจเลย ตัวอย่างสำคัญคือ ตรวจน้ำหนักตัว ตรวจไขมัน แต่ไม่มีการปฏิบัติตัวที่เปลี่ยนไปเลย ตรวจอีกสิบครั้งสิบปี ก็ไม่เกิดผลใด
3.มีคุณหมอที่เข้าใจและมีเวลาให้คุณเป็นคนออกแบบและปรึกษา ตรงนี้สำคัญมากนะครับ หลายคำแนะนำกล่าวตรงกัน มันหมดยุค this set for all แต่เป็น tailor-made ถ้าเรามีระบบเวชศาสตร์ครอบครัวที่แข็งแกร่ง เราจะมีคุณหมอคนนั้น แต่ของเราไม่เป็นแบบนั้น จะแค่ซักประวัติเพื่อวินิจฉัยยังไม่มีเวลาเลย จะหาที่มานั่งคุยปรึกษาออกแบบยากมากครับ บางคำแนะนำบอกเลยว่าถ้าคุณยังไม่มีคุณหมอคู่ใจคนนี้ ก็ยังไม่ควรตรวจสุขภาพ
ข้อดีคือ ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่ทำลายกำแพงหมอและผู้ต้องการปรึกษาหมอ เรามีบริการ wellness มากขึ้น (ที่ค่าตรวจและค่าบริการยังสูงมาก)
4.เลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสมเสมอ จริงอยู่ว่าวิธีในปัจจุบันก็ตรวจจับได้พอควร แต่พอควรนั้นเกิดจากปริมาณการตรวจเยอะมหาศาล มองในภาพรวมจะไม่คุ้มค่า ในทางตรงกันข้ามจะเกิดผลอันตรายอย่างยิ่งสองประการหากเลือกวิธีไม่เหมาะหรือแปลไม่เป็น
4.1ไม่รับการตรวจเพิ่มเติมอันไม่จำเป็นมากขึ้น เสียเงิน เสียเวลา บางครั้งเป็นการตรวจที่รุกล้ำและเสี่ยงผลข้างเคียงมากขึ้น ทั้งที่ไม่จำเป็น
4.2เข้าใจผิดว่าไม่เกิดโรคหรือตัวเองสมบูรณ์แข็งแรงมาก หากผลตรวจออกมาปรกติ (โปรดอย่าลืมว่ารูปแบบการตรวจไม่ได้ถูกดีไซน์มาตอบคำถามและออกแบบสุขภาพของคุณ) เกิดความประมาทในชีวิตขึ้นทันที
5.ต้องไม่เดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายมากเกินไป ในงานบริการภาครัฐก็มีบริการตรวจสุขภาพและส่งเสริมสุขภาพอยู่พอควร ซึ่งยังไม่ถึงขั้นเพียงพอ หากต้องการมากกว่า 'พอสมควร' ต้องจ่ายเอง การออกแบบที่ดีในข้อ 1-4 จะช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ แต่หากภาวะการเงินตึงตัวมาก ค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพและ wellness ควรจะนำไปใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพที่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์แน่ ๆ เช่น การจัดอาหารที่เหมาะสม หรือลงทุนซื้อรองเท้าเพื่อวิ่งสักคู่ หรือ ซื้อวัคซีนฉีด
การตรวจและออกแบบสุขภาพที่เหมาะสม มันคุ้มค่าจริง หากไม่กระทบกระเทือนภาวะการเงินมากไป (ภาวะการเงินก็เป็นหนึ่งในปัจจัยการออกแบบการตรวจให้คุ้มค่าด้วย)
หวังว่าอนาคตเราจะมีบริการเพื่อ health and wellness มากกว่า การรักษาและฟื้นฟู ที่เข้าถึงได้ง่าย ราราไม่แพง และได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากภาครัฐ (ผมเชียร์การร่วมจ่ายนะ มันดูมีคุณค่ามากกว่า แต่ควรมีกฏเกณฑ์ที่ไม่ลำบากเกินไป)
จบซีรี่ส์คุณหวังอะไรจากการตรวจสุขภาพ น่าจะทำให้พวกคุณ เข้าใจเรื่องการตรวจสุขภาพ วางแผนอนาคตทางสุขภาพ ว่ามันมีอะไรมากกว่าที่เราคุ้นชินและรู้จักกัน เพื่อตัดสินใจวางแผนตัวเองและคนที่คุณรัก
ปล. สำหรับข้อสาม รู้สึกยังมีหมอคนนึง พร้อมจะเป็นที่ปรึกษา…และเป็นคู่ใจตลอดไป..อยู่นะครับ เขามีฉายาว่า 'เรื่องโอนเร็วอย่างเซียน เรื่องปอกทุเรียนเร็วถึงใจ' เป็นแอดมินเพจสักเพจนี่แหละ ลองติดต่อเขาได้ครับ
อาจเป็นรูปภาพของ หนึ่งคนขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม