09 เมษายน 2565

ไม่กินเค็ม ไม่เท่ากับ กินจืด

 ไม่กินเค็ม ไม่เท่ากับ กินจืด

ความเค็มความไม่เค็ม เป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบสิ้นหากใช้ความรู้สึกที่ลิ้น ในทางปฏิบัติเราจึงวัดที่ปริมาณโซเดียมในอาหาร ส่วนความเค็มที่นำเข้าหรือโซเดียมในตัวก็วัดยาก มีหลายองค์กรใช้ปริมาณโซเดียมที่ขับออกมาจากปัสสาวะ แต่ก็มีปัจจัยแปรปรวนมากมาย
เราได้รับคำบอกเล่ามามากมายว่า โรคไต โรคหัวใจ โรคความดัน อย่ากินเค็มนะ (ปริมาณโซเดียมที่แนะนำคือไม่เกิน 2200-2300 มิลกรัมต่อวัน) ในอาหารเพื่อสุขภาพที่แนะนำก็จะแนะนำเกลือไม่เกิน 2300 มิลลิกรัมต่อวันอีกนั่นแหละ แต่นั่นคือ ไม่ควรกินเกินนี้นะ ไม่ได้บอกว่ายิ่งต่ำยิ่งดี
*** ส่วนประโยคที่ว่าอย่ากินเค็มมาก เดี๋ยวอนาคตไตจะวาย ยังไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงที่หนักแน่นพอที่จะบอกแบบนั้นครับ โรคไตวายส่วนใหญ่ในผู้ใหญ่มักเกิดจากเบาหวานครับ ***
เรามามองชีวิตแห่งความเป็นจริง ผมแทบไม่พบคนไข้คนไหนที่กิน "จืดสนิท" ได้แม้จะอยากกินและทนได้ ก็ต้องยอมรับว่าอาหารทุกวันนี้เค็มมาตั้งแต่เกิดแล้ว โดยส่วนตัวผมจะแนะนำไม่ใส่เครื่องปรุง หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารแปรรูป แค่นี้ก็ยากแล้ว นั่นคือการกินจืดสนิทในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นได้ยากมาก
แล้วเราแค่กิน 'ไม่เค็ม' ได้ไหมล่ะ ???
การศึกษานี้น่าจะพอบอกได้ (จริง ๆ ก่อนหน้านี้มีหลายการศึกษาในทางเดียวกันแบบนี้มามากแล้วนะครับ) นำเสนอในงานประชุม American Colleges of Cardiology ปีนี้และลงพิมพ์ใน the Lancet ในชื่อการศึกษา SODIUM-HF ผมขอเล่าให้ฟังง่าย ๆ นะครับ (การศึกษายุติก่อนกำหนดจากสถานการณ์โควิด-19)
การศึกษานี้เป็นการศึกษานานาชาติ 6 ประเทศ (ไม่มีเอเชีย) เก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคหัวใจวาย ที่อาการปานกลาง (EF 36%) จำนวน 806 คน ส่วนมากเป็นผู้ชายและอายุเฉลี่ยประมาณ 66 ปี ที่ทุกคนได้รับการรักษาโรคหัวใจตามแนวทางการรักษามาตรฐานเรียบร้อย มาแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มกินไม่เค็มโซเดียมปรกติ (ตามแนวทางการรักษาแต่ละประเทศ ส่วนมากก็ไม่เกิน 2.3 กรัมต่อวัน) 409 คน กลุ่มนี้กินโซเดียมเฉลี่ย 2073 มิลลิกรัม จากเดิมก่อนเข้าการศึกษากินเกลือโซเดียมที่ 2119 มิลลิกรัม
กลุ่มกินจืดโซเดียมต่ำ กำหนดที่ต่ำกว่า 1500 มิลลิกรัมต่อวัน จำนวน 397 คน กลุ่มนี้กินโซเดียมเฉลี่ย 1658 มิลลิกรัม จากเดิมก่อนเข้าการศึกษากินเกลือโซเดียมที่ 2286 มิลลิกรัม (ยังทำยากเล้ย ขนาดในงานวิจัย)
วัดผลรวมโรคหัวใจที่แย่ลง กำเริบ หรือเสียชีวิต ในเวลา 1 ปี ผลปรากฏว่า กลุ่มกินไม่เค็มเกิดโรค 17% ส่วนกลุ่มกินจืดเกิดโรค 16% ผลปลีกย่อยต่าง ๆ ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เรียกว่า กินจืด ไม่ได้ดีไปกว่า กินไม่เค็ม
ก็ตรงกับหลายงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่บอกว่า แค่ไม่เค็ม ไม่ต้องถึงขั้นจืดสนิทก็ได้ !!! แต่เดี๋ยวก่อนนะ ก่อนที่เราจะดีใจ ขอเติมเค็มอีกสักหน่อย ผมขอแสดงมุมมองส่วนตัวสักหน่อย
1.ชำเลืองมองที่โซเดียมพื้นฐานก่อนเข้าการศึกษา เขากินแค่ 2100-2200 มิลลิกรัมแล้วนะครับ เรียกว่าไม่เค็มและได้ยาเหมาะสมแล้ว ที่ระดับความเค็มต่ำแบบนี้ บ้านเราอาจจะทำยาก ค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปของอาหารบ้านเราประมาณ 4000-8000 มิลลิกรัมต่อวัน ยิ่งใครชอบของดอง ปลาร้า อันนี้อาจขึ้นถึงหมื่น ถ้าเทียบกับบ้านเขาลดลงมา 400 มิลลิกรัมเรียกจีดสนิท บ้านเราลดมา 4000 มิลลิกรัม (จืดแล้วนะหมอ โคตรจืดถ้าเทียบของเดิม) บางทียังเกินครับ
2.อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจของเขาต่ำ การจะทำให้ต่ำลงไปอีกอาจจะยากมาก ใช้การลดเกลือคงไม่แสดงผลนัก แต่บ้านเราอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจวายยังสูง การใช้ยาและมาตรการอื่น ๆ ยังไม่เต็มที่เหมือนการศึกษา ดังนั้นการควบคุมเกลือน่าจะส่งผลเยอะ
3.การศึกษานี้มีคนเอเชียน้อย ไม่ได้ทำในประเทศเอเชีย ดินแดนแห่งการกินเค็ม บางทีพันธุกรรม การทำงานด้านการขับเกลือของเรา อาจจะต่างจากชาวตะวันตกมากมายก็ได้
แล้วจะสรุปว่าอย่างไร ก็สรุปว่า คนไข้โรคหัวใจวาย ไม่ควรกินเค็ม (เกินกำหนด) และเข้ารับการรักษาให้ดี เมื่อกินไม่เค็มและรักษาดีแล้ว จะเคี่ยวเข็ญกินจืดลงไปอีก อาจจะไม่ได้ประโยชน์ (และทำให้ชีวิตยุ่งยากมากทีเดียว)
*** ที่สำคัญ กินไม่เค็มของคุณน่ะ มันไม่เค็มตามกำหนดไม่เกิน 2200-2300 มิลลิกรัมของโซเดียมแล้วหรือยัง ***
ลองอ่านได้ ไม่ฟรี
Reduction of dietary sodium to less than 100 mmol in heart failure (SODIUM-HF): an international, open-label, randomised, controlled trial. Ezekowitz, Justin AEzekowitz, Justin et al.The Lancet, Volume 399, Issue 10333, 1391 - 1400
ปล. ไม่ชนะเอฟเวอร์ตัน ไม่เท่ากับ แพ้เอฟเวอร์ตัน
อาจเป็นรูปภาพของ ของหวาน และ สถานที่ในร่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม