15 เมษายน 2565

คุณหวังอะไรจากการตรวจสุขภาพ (1) : สิ่งที่เกิดขึ้น

 คุณหวังอะไรจากการตรวจสุขภาพ (1) : สิ่งที่เกิดขึ้น

เทศกาลสงกรานต์ หลายคนหยุดยาว กลับไปดูแลเยี่ยมเยียนพ่อแม่ผู้อาวุโสที่บ้าน หลายคนมีโอกาสแค่ปีละครั้ง เมื่อกลับไปถึงบ้าน สิ่งที่เรามักจะถามผู้อาสุโสที่บ้านเสมอคือเรื่องสุขภาพพลานามัย ทั้งโรคเดิมที่เป็นและอาการผิดปกติอย่างอื่นที่ผู้อาวุโสมีอาการ และหลายครั้งเราจะกังวลว่าท่านเป็นอะไร ร้ายแรงไหม ปล่อยทิ้งไว้ขณะที่เราไม่อยู่ด้วย จะสบายใจหรือไม่ เราก็จะพาท่านไปหาหมอ
หากพาไปหาหมอในช่วงเวลาปกติ กระบวนการต่าง ๆ ก็ดำเนินการได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นวันหยุดยาว เกือบทุกโรงพยาบาลจะเหลือแต่เจ้าหน้าที่เพื่อเหตุฉุกเฉิน การตรวจทั่วไปจะถูกจำกัด หลายคนก็พาไปโรงพยาบาลเอกชน หลายโรงพยาบาลเอกชนจะมีชุดขายสำหรับการตรวจสุขภาพจัดบริการอยู่แล้ว เจาะเลือด เอ็กซเรย์ อัลตร้าซาวนด์ พบแพทย์
หลายครั้งสิ่งที่ตรวจ ไม่สามารถอธิบายอาการที่มี หลายครั้งการตรวจพิเศษที่ใช้มาเพื่อ 'ตรวจสุขภาพ' ไม่มีความไวมากพอที่จะตรวจจับโรคที่ต้องการคัดกรอง (หรือบางทีใช้การตรวจไม่ถูกวิธี) และหลายครั้งผลการตรวจพิเศษเหล่านี้ แปลผลทันทีไม่ได้ นำพาไปสู่การตรวจที่รุกล้ำและราคาสูงมากขึ้นโดยที่บางทีไม่จำเป็น
และหลายครั้งจะมีสมุดผลการตรวจสุขภาพประจำปีสะสมกันสี่ห้าเล่ม โดยที่ไม่ได้เกิด 'การเปลี่ยนแปลงหลังรับผลตรวจ' ไม่ว่าจะคำแนะนำการตรวจเพื่อยืนยัน ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำการปรับตัว หรือ การติดตามผลที่ต่อเนื่อง
ปัจจุบันนี้ ความนิยมเรื่องการดูแลรักษาร่างกายก่อนป่วย การตรวจคัดกรองโรคที่พึงคัดกรองได้ เกิดมากขึ้น มีแหล่ข้อมูลและมีการตลาดรองรับเรื่องนี้มากขึ้น การตรวจสุขภาพจึงไม่ใช่แค่ screening แต่ควรจะเป็น wellness และ prevention มากขึ้น
ในต่างประเทศจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขานี้คือ เวชศาสตร์ครอบครัว (family medicine) แต่ในประเทศไทยเรามีแพทย์สาขานี้ไม่มาก และระบบการแพทย์ครอบครัวไม่ชัดเจน รวมทั้งการเข้าถึงระบบการแพทย์ทำได้ไม่ยาก ในต่างประเทศจะต้องทำตามขั้นตอน ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลามากและค่าใช้จ่ายสูง ในประเทศไทยเราอาจไปพบแพทย์ถึง 7 ท่านเพราะการผลการตรวจสุขภาพเพียงหนึ่งเล่ม โดยแต่ละท่านอาจไม่เชื่อมโยงถึงกันและไม่ต่อเนื่อง
ดังนั้นการไปตรวจสุขภาพจึงควรปรับแนวความคิดใหม่ว่า
1.ไม่ใช่เป็นการตรวจติดตามโรคเรื้อรังเดิม เพราะหากเป็นโรคเรื้อรังอยู่แล้วจะมีการตรวจติดตามที่แตกต่างกัน และอาจไม่มีการตรวจใด ๆ ในชุดการตรวจสุขภาพมาเกี่ยวข้องเลย เช่น การตรวจวัดโปรตีนรั่วในปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การตรวจวัดความอิ่มตัวของโลหะเหล็กในการตรวจโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก การตรวจวัดสายตาในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่ใช้ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน
การไปตรวจสุขภาพ เพื่อประเมินโรคเรื้อรัง นอกจากไม่ตรงจุดแล้วยังสิ้นเปลืองครับ
2.ไม่ใช่การตรวจอาการใหม่ หรืออาการที่ยังไม่ดีขึ้น หากมีอาการใด ๆ หรืออาการเดิมที่รักษาไม่ดี แนะนำให้เข้ารับการ 'ตรวจวินิจฉัย' ตามขั้นตอนปรกติ ซึ่งจะเน้นที่ประวัติ ตรวจร่างกาย การดำเนินโรค ส่วนการตรวจพิเศษเพิ่มเติม จะออกแบบตามการวินิจฉัยแยกโรคจากประวัติและตรวจร่างกาย
การตรวจสุขภาพเพื่อตรวจอาการใหม่ จะได้ผลบวกปลอมลบปลอมมากมาย ที่แปลผลได้ยากเพราะหว่านตรวจมาก และจะผิดปกติหลายชนิดอันไม่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัย นำพาไปสู่การตรวจเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็นและความกังวลใจ
3.ชุดการตรวจสุขภาพที่นำเสนอขายโดยทั่วไปไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานความเสี่ยงโรคที่ต่างกัน การดำเนินชีวิตที่ต่างกัน และยิ่งปัจจุบันมีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ต่างกันด้วย (ปัจจุบันมีการตรวจหายีนที่บ่งบอกโรคด้วย) การที่จะเดินเข้าไปสิบคนแล้วใช้ชุดการตรวจเหมือนกันทั้งสิบคน ไม่น่าจะเกิดประสิทธิผลนัก
เช่น ผู้ชายอายุ 25 ปี แทบจะไม่ได้ประเมินโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่และพี่ชายเสียชีวิตด้วยหัวใจวายเฉียบพลันก่อนอายุ 40 ปี
เช่น สุภาพสตรีอายุ 65 ปี แทบจะไม่ได้รับการคัดกรองโอกาสการเกิดสมองเสื่อม การรับวัคซีน หรือการพลัดตกหกล้มเลย
เช่น คู่แต่งงานหนุ่มสาวอายุ 32 ปี ไม่ได้รับคำแนะนำการคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคสำคัญที่ถ่ายทอดผ่านพันธุกรรม
4.สิ่งนี้สำคัญกว่า 'ตรวจอะไร' คือหลังจากตรวจสุขภาพ (ซึ่งจริง ๆ คือการเจาะเลือดและการตรวจพิเศษต่าง ๆ) แล้วจะนำผลที่ได้มาใช้เพื่อออกแบบการใช้ชีวิต นำมาปรับพฤติกรรม และนำมาวางแผนสุขภาพอย่างไร หลายคนตรวจเพราะบริษัทนายจ้างบังคับ บางคนตรวจเพราะลูกหลานบังคับ บางคนตรวจเพื่อสบายใจ แต่ไม่ได้นำผลที่ได้มาคิดต่อยอดแต่อย่างใด
หลายคนตรวจเอ็กซเรย์ปอด แต่อย่างไรก็ไม่เข้ากระบวนการเลิกบุหรี่
หลายคนชั่งน้ำหนักทุกปี และน้ำหนักขึ้นทุกปี โดยไม่มีคำแนะนำการควบคุม
หลายคนตรวจพบโลหิตจาง เม็ดเลือดตัวเล็กลง แต่ไม่ได้หาสาเหตุเพื่อค้นโรคที่แท้จริง
5.ไม่สามารถกล่าวได้ว่า เข้าไปซื้อชุดขายตรวจสุขภาพแล้ว จะรู้ทุกอย่างในร่างกาย หรือ จะตรวจจับความผิดปกติได้หมด และที่แย่ที่สุด เข้าใจผิดที่สุดคือ หากผลการตรวจออกมาปรกติ ฉันปลอดภัย ไม่เป็นโรค ใช้ชีวิตต่อตามเดิมได้สบาย
ตัวอย่างที่พบบ่อยมาก คือ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วปรกติ แล้วเข้าใจว่าปลอดโรค เมื่อไรก็ตามเจ็บแน่นหน้าอกจะไม่คิดว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือบางคนไปเดินสายพานตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกแรงว่าปรกติ ก็จะคิดว่าปลอดภัยแล้ว ไม่รักษาสุขภาพเท่าที่ควร
การทดสอบทางการแพทย์เพื่อคัดกรอง และการทดสอบทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัย หลายชนิดหลายโรคไม่ใช่วิธีเดียวกัน และทุกวิธีมีความไว ความจำเพาะต่างกัน ที่สำคัญโอกาสเป็นโรคจริง หรือโอกาสไม่เป็นโรคจริง ขึ้นกับความน่าจะเป็นของแต่ละบุคคล
อย่าซื้อความสบายใจ ด้วยการซื้อชุดตรวจสุขภาพ
ตอนต่อไปเรามาอ่านกันว่า แล้วสิ่งที่ควรจะเป็นตามคำแนะนำของยุโรป อเมริกา ที่ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ลงตีพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ เขาแนะนำอย่างไร อ้อ…ผมสรุปและขยายความมาจาก JAMA กับ annals of medicine นะครับ
อาจเป็นรูปภาพของ แว่นกันแดด

2 ความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม