28 เมษายน 2565

ธาลัสซีเมีย กับธาตุเหล็กเกิน

 ธาลัสซีเมีย กับธาตุเหล็กเกิน : colossus

โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรม เกิดจากความบกพร่องในการสร้างฮีโมโกลบิน โปรตีนที่ใช้ขนส่งออกซิเจน เม็ดเลือดแดงที่สร้างออกมาจึงผิดปกติและถูกทำลายมากกว่าคนทั่วไป ส่งผลทำให้โลหิตจาง ปัจจุบันเราแบ่งธาลัสซีเมียออกเป็นสองอย่าง คือ เป็นโรคและเป็นพาหะ
คนเป็นพาหะจะไม่ซีดไม่มีอาการ แต่ส่งยีนไปยังลูกหลานได้ ส่วนคนที่เป็นโรคจะแบ่งเป็น ต้องได้รับเลือดเป็นประจำสม่ำเสมอ และไม่จำเป็นต้องได้รับเลือดเป็นประจำ วันนี้เราจะมาพูดถึงภาวะธาตุเหล็กเกินในผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียกันครับ
สำหรับผู้ที่ต้องรับเลือดเป็นประจำ สาเหตุหลักที่เขาจะมีธาตุเหล็กเกินขนาดทั้งในเลือดและในเนื้อเยื่อ คือ การให้เลือดบ่อย เลือดหนึ่งถุงมีธาตุเหล็กประมาณหนึ่งพันมิลลิกรัม ให้บ่อย ๆ ก็เกินได้ครับ และธาตุเหล็กที่เกินนี้จะไปทำอันตรายต่อร่างกายได้ เพราะไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ จนหน้าที่การทำงานเสื่อมลง
สำหรับผู้ที่เป็นโรคและไม่ต้องให้เลือดประจำ (non-transfusion dependent) ก็อาจจะมีปัญหาเหล็กเกินได้ แต่ไม่ใช่จากเม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลายมากจนธาตุเหล็กมากไป แต่เกิดจากความไม่สมดุลของการทำงาน Hepcidin
Hepcidin เป็นโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมสมดุลธาตุเหล็ก โดยควบคุมธาตุเหล็กที่จะเข้ากระแสเลือดผ่านทางเซลล์บางชนิดและจากการดูดซึมผ่านทางเดินอาหาร (ใครสนใจไปอ่าน hepcidin, ferroportin function) โดยทั่วไป ถ้าขาดธาตุเหล็ก เฮปซิดินจะลดลง ไปเปิดประตู ferroportin ให้ธาตุเหล็กออกมาสู่กระแสเลือดและดูดซึมจากอาหารเพิ่ม ทำให้เหล็กเพิ่ม
ในโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง (แต่ไม่ต้องให้เลือดประจำ) การสร้างเม็ดเลือดผิดปกติ เลือดแตก ร่างกายต้องการสร้างเม็ดเลือดเพิ่ม กลไกการสร้างเม็ดเลือดเพิ่มของร่างกายนี้จะไปสั่งการให้ลดการสร้าง hepcidin เพื่อหวังผลเพิ่มธาตุเหล็กเพื่อมาสร้างเม็ดเลือด ทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กเพิ่ม ปล่อยธาตุเหล็กจากเซลล์เก็บธาตุเหล็ก ออกมาสู่กระแสเลือดมากมาย จนเกิดเป็นภาวะเหล็กเกิน (hemochromatosis)
อย่าลืมว่า ไม่ได้ตั้งต้นที่ขาดธาตุเหล็ก แล้วเพิ่มเหล็กในเลือด แต่เริ่มจากเม็ดเลือดไม่พอ (จากถูกทำลายมาก) แล้วไปกระตุ้นการดูดซึมเหล็ก เม็ดเลือดในโรคธาลัสซีเมียรุนแรงมันไม่เคยพอ ดังนั้นกลไกการดูดซึมเหล็กและปล่อยเหล็กเข้ากระแสเลือด จึงเกิดตลอดเวลาแม้ว่าธาตุเหล็กในเลือดจะมากแล้วก็ตาม ทำให้เกิดเหล็ก 'เกิน' ไงครับ
** เพื่อให้เห็นภาพนะครับ
สุภาพบุรุษที่รองเท้าชำรุด การไม่มีรองเท้าเป็นตัวกระตุ้นให้ไปซื้อรองเท้า เมื่อซื้อแล้ว เกิดเป็นการมีรองเท้าใส่ จะไม่ซื้อรองเท้าอีก รองเท้าไม่เกิน
สุภาพสตรีที่รองเท้าไม่ชำรุด แต่ป้ายเซลเป็นตัวกระตุ้นให้ซื้อรองเท้า เกิดเป็นความมีรองเท้าเกินใส่ แต่ยังซื้อรองเท้าอีก เพราะไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยการไม่มีรองเท้าใส่ แต่ก็ยังซื้ออีกเพราะถูกกระตุ้นด้วยป้ายเซล รองเท้าจึงเกิน
**
เช่นเดียวกับเหล็กเกินจากการได้เลือด เหล็กเกินจากเฮปซิดินที่ลดลงนี้ ก็สามารถไปสะสมที่อวัยวะต่าง ๆ จนอวัยวะต่าง ๆ เสียหน้าที่ได้ โดยที่พบบ่อยคือ ฮอร์โมนเพศบกพร่อง ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ และไปสะสมที่ตับอ่อนจนขาดอินซูลินและเกิดเบาหวาน
เรามีการรักษาโดยให้ยาขับเหล็ก เช่น deferoxamine แบบฉีดหรือ Deferiprone แบบกิน (ไทยเราทำใช้เองในชื่อ GPO-L-1) จะให้ยาเมื่อธาตุเหล็กเกินโดยวัดจากค่าเฟอริตินในเลือด หรือเมื่อมีอวัยวะเสียหน้าที่จากเหล็กไปสะสม (ส่วนมากตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ)
ตอนนี้เรากำลังพัฒนายาที่ไปออกฤทธิ์เสมือนเป็น hepcidin เรียกว่า hepcidin agonists เมื่อการทำงานของเฮปซิดินเพิ่ม จะลดการปล่อยธาตุเหล็กจากเซลล์ และลดการดูดซึมธาตุเหล็กจากลำไส้ได้ เรียกว่าตรงจุดตรงโรคเลยทีเดียว
การประเมินภาวะเหล็กเกิน เป็นอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียครับ
สรุปรู้แล้วนะครับว่า colossus เป็นโรคอะไร
ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

1 ความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม