05 เมษายน 2565

สิ่งที่หลายคนได้ยิน และสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวัคซีนโควิด

 สิ่งที่หลายคนได้ยิน และสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวัคซีนโควิด

1.ไปฉีดวัคซีนมา นี่บวมทั้งตัวไม่หายเลยนะ 6 เดือนแล้ว
ตอบ : ต้องประเมินว่าเป็นผลข้างเคียงวัคซีนจริงหรือไม่ ซึ่งพบน้อยมาก ผู้ป่วยรายนี้ดื่มเหล้ามากมาตลอด ไม่เคยสังเกตอาการตัวเอง เมื่อรับวัคซีนจึงได้คำแนะนำสังเกตอาการหลังรับวัคซีน จึงรู้ว่าตัวเองมีอาการบวม ๆ ยุบ ๆ คิดว่าเป็นจากวัคซีน เมื่อตรวจแล้วจึงพบโรคตับแข็งเรื้อรัง
2.ฉีดวัคซีนแล้วความดันโลหิตขึ้นสูง ก่อนหน้านี้ปกติดี
ตอบ : การรณรงค์เข้ารับวัคซีน ทำให้คนที่ไม่เคยทราบว่าตัวเองเป็นโรคได้เข้าสู่การคัดกรองพื้นฐานมากขึ้น ทำให้พบโรคซ่อนเร้นมากขึ้น โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่มีอาการใด ๆ และผู้ป่วยรายนี้ตรวจพบอาการและอาการแสดงของโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรังมานาน สรุปว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงมานานแต่เพิ่งมาพบจากการตรวจก่อนเข้ารับวัคซีน
3.มีโรคประจำตัวมาก อย่าไปรับวัคซีนนะ หลายคนที่มีโรคมาก ๆ รับวัคซีนแล้วแย่ลง
ตอบ : กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวมาก มีโอกาสแย่ลงหรือเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะรับวัคซีนหรือไม่ก็ตาม ผลการศึกษาออกมาว่ากลุ่มคนเป็นโรคประจำตัว ได้รับวัคซีนโควิดแล้วตายลดลง เมื่อเทียบกับคนมีโรคประจำตัวที่ไม่ฉีดก็จริง แต่ถ้าไปเทียบกับกลุ่มประชากรทั้งหมดที่รวมคนสุขภาพดีด้วย อย่างไรคนที่มีโรคประจำตัวหลายโรคก็เสียชีวิตและอาการแย่ลงมากกว่าคนที่ปรกติอยู่ดีครับ
4.ไม่ไปฉีดแล้วเข็มสาม ข้างบ้านไปฉีดก็ยังติด อยู่ดี ๆ ก็พอแล้ว ไปฉีดก็มีไข้อีก ไม่เอาหรอก
ตอบ : การรับวัคซีนเข็มสาม เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ตกลงตามเวลา เพื่อให้ระดับภูมิสูงพอที่จะไม่ป่วยรุนแรง ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อของแต่ละคนได้ (ถึงฉีดสี่เข็มก็ป้องกันได้น้อยมาก) หน้าที่ของวัคซีนคือ ลดการป่วยแบบรุนแรงและลดการตายจากโรค ไม่ใช่ลดการติดเชื้อ และปัจจุบันแนะนำรับวัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้นครับ
5.ยังไม่ฉีดเข็มแรกเลย ไม่ได้พบปะใคร ทำงานในไร่นา ไม่ต้องฉีดก็ได้
ตอบ : ในสถานการณ์การระบาดระดับ pandemic คือระบาดทั่วโลกและนับได้ว่าทุกคนรอบตัวสามารถนำโรคมาสู่เราได้หมด และยังควบคุมโรคได้ไม่สมบูรณ์ การรับวัคซีนยังสำคัญมาก การติดต่อสื่อสารและสังคม สามารถเกิดการติดต่อได้รวดเร็ว โอกาสที่เราจะรอดพ้นการติดเชื้อมีน้อย การป้องกันโรครุนแรงด้วยการรับวัคซีนจึงสำคัญมาก
6.ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว ไม่ต้องรับวัคซีนอื่นก็ได้
ตอบ : ไม่ได้ !! วัคซีนโรคใดก็ป้องกันแค่โรคนั้นครับ สองปีนี้อุบัติการณ์โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจลดลง เพราะเราใช้มาตรการสวมหน้ากาก-ล้างมือ-เว้นระยะห่าง ไม่ได้หมายถึงวัคซีนโควิดจะไปกันโรคอื่นได้ หากครบกำหนดหรือถึงเกณฑ์ที่ควรรับวัคซีนใด ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อกำหนดเวลาที่เหมาะสมเช่น เว้นห่างกัน 2-4 สัปดาห์ แต่อย่างไรตารางวัคซีนที่แต่ละคนต้องฉีด ก็ไม่ควรเลื่อนครับ
7.ยังไม่อยากพาคนที่รักไปรับวัคซีน มีข่าวผลข้างเคียงออกมาเยอะ
ตอบ : วัคซีนทุกชนิดมีผลข้างเคียงจริง ไม่เพียงวัคซีนโรคโควิดแต่รวมไปถึงทุกวัคซีน แต่เกือบทั้งหมดไม่รุนแรงและจัดการได้ดี ส่วนที่รุนแรงจะไม่เกิดสัดส่วนที่ทางการแพทย์นานาชาติยอมรับได้ และหากเราคิดสัดส่วนผลข้างเคียงต่อปริมาณการฉีดในสถานการณ์จริง จะพบว่าน้อยกว่ากลุ่มศึกษาวัคซีนในตอนวิจัยเสียอีก เพียงแต่กลุ่มที่ปรกติดีไม่ได้รับการนำเสนอในพื้นที่ข่าว
8.ป่วยเป็นโควิดแล้ว มีภูมิแล้ว ไม่ต้องรับวัคซีนก็ได้
ตอบ : หลังการป่วยโควิดจะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงอยู่ แต่ไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าจะสูงนานเพียงใดและระดับภูมิคุ้มกันนั้นเป็นภูมิคุ้มกันที่ให้ปกป้องร่างกายในอนาคตด้วยสัดส่วนแค่ไหน การคาดเดาลำบากนี้เป็นความไม่แน่นอนที่ใช้ยากในทางป้องกันโรค แต่การรับวัคซีนได้รับการศึกษาถึงการป้องกันโรคที่ชัดเจนกว่า ดังนั้นหลังป่วยจึงยังต้องรับวัคซีนครับ
9.ระยะหลังไม่ค่อยมีรายงานผลข้างเคียงจากวัคซีนแล้ว
ตอบ : ยังมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นและได้รับการรายงาน บันทึกอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานเฝ้าระวัง ด้วยอัตราการเกิดที่พอ ๆ กับช่วงแรกและไม่ต่างจากงานวิจัย (ซึ่งน้อยมาก) อย่างไรการเข้ารับวัคซีนยังคงต้องเฝ้าสังเกตอาการข้างเคียงแทรกซ้อนเสมอและหากมีผลข้างเคียงที่สงสัยให้ไปพบแพทย์พร้อมแจ้งวันเวลาและชนิดวัคซีนที่ฉีดให้คุณหมอทราบด้วยครับ
10.สรุปว่าต้องฉีดไปอีกกี่เข็ม
ตอบ : ยังบอกไม่ได้ แต่ ณ ปัจจุบันคำแนะนำคือ วัคซีนมาตรฐานสองเข็ม (ของบางยี่ห้อหนึ่งเข็ม) และเข็มกระตุ้นอย่างน้อยหนึ่งเข็ม ส่วนเข็มกระตุ้นที่สอง (เข็มสี่) ยังรับรองการใช้ในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคระบบภูมิคุ้มกัน เพราะการคิดประโยชน์-โทษ-ค่าใช้จ่าย แล้วคุ้มค่าคุ้มทุน ส่วนในอนาคตคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดและคำประกาศจากองค์การอนามัยโลกต่อไป
ปล. ลิเวอร์พูลคือทีมอันดับหนึ่งในตารางพรีเมียร์ลีก ณ เวลาปัจจุบัน
อาจเป็นการ์ตูนรูป ข้อความพูดว่า "FAKENEWS D ব SG ডर"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม